ส.อ.ท. ห่วงการเมือง-เศรษฐกิจดัน ‘ว่างงาน’ เพิ่มไตรมาสแรก

ปี2014-01-07

สอท. หวั่นการเมืองยืดเยื้อกระทบจ้างงานไตรมาสแรกปีนี้ ส่วนต่างชาติอาจจะไม่มั่นใจลงทุนไทย ทีดีอาร์ไอห่วงหลายปัจจัยฉุดเศรษฐกิจกระทบจ้างงาน หวั่นระดับปริญญาตรีว่างงานสะสม เตือนแรงงานใหม่ควรศึกษาต่อหรือเพิ่มทักษะให้กับตัวเอง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมระบุยังต้องการแรงงานเพิ่มอีก 5 แสนคน

แม้ว่าประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศในลำดับต้นๆ ของโลกที่มีอัตราการว่างงานต่ำสูง จนทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเกือบ 4 ล้านคน แต่จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นก็อาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราการว่างงานได้ในอนาคต

นายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ รองประธานกรรมการบริหารสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ให้ความเห็นเรื่องการจ้างงานในปี 2557 ว่าจากสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่ออัตราว่างงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีอัตราการว่างงานประมาณ 0.6% ก็จะเพิ่มเป็น 1% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด หรือว่างงานรวมประมาณ 4 แสนคน จากประชากรในวัยทำงานประมาณ 38-40 ล้านคน

ส.อ.ท. หวั่นไตรมาสแรกตกงานเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้สาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาส 1 ปี 2557 ที่มั่นใจว่าจะลดลงแน่นอน ส่งผลให้ภาวการณ์จ้างงานในปี 2557 จะมีอัตราการตกงานเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามภาวการณ์ว่างงานที่เพิ่มขึ้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก เพราะที่ผ่านมาอัตราการว่างงานของไทยต่ำมากอยู่ในระดับ 0.6% ซึ่งอัตราการว่างงานที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 1% จึงทำให้ภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานอยู่ในระดับที่ไม่สูงจนเกินไป ต่างจากหลายประเทศที่อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง หากความวุ่นวายทางการเมืองยังยืดเยื้อก็อาจจะส่งผลต่อการจ้างงานในระยะยาวได้ เนื่องจากต่างชาติขาดความเชื่อมั่นประเทศไทย จนทำให้ย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่น จากการประเมินเบื้องต้น มองว่าปัญหาทางการเมืองของไทยจะยืดเยื้อไปอีกนาน เพราะไม่ว่าฝ่ายใดชนะการเลือกตั้ง ฝ่ายที่แพ้การเลือกตั้ง ก็จะออกมาคัดค้านเป็นลูกโซ่ไม่จบสิ้น หากเป็นเช่นนี้จริงจะทำให้การลงทุนและการจ้างงานใหม่ๆ ลดลง จนกระทบต่อการกินดีอยู่ดีของประชาชน จนนำไปสู่ปัญหาทางสังคมที่เพิ่มขึ้น

โดยปัจจุบันไทยไม่ขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ เพราะถูกครอบครองจากแรงงานต่างด้าวมานานแล้ว แต่จะขาดแคลนในกลุ่มแรงงานมีฝีมือ โดยเฉพาะแรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. ในภาคอุตสาหกรรม แต่ในส่วนของภาคการพาณิชย์ยังไม่ขาดแคลนแรงงาน เพราะไทยยังเป็นประเทศที่เน้นการผลิตมากกว่าธุรกิจการค้า โดยแรงงานที่มีอัตราตกงานมากที่สุดเป็นแรงงานระดับปริญญาตรี ซึ่งยังขาดแคลนในบางส่วน เนื่องจากผู้ที่จบปริญญาตรียังขาดคุณภาพในบางกลุ่ม ขณะนี้มหาวิทยาลัยบางแห่ง คุณภาพการผลิตนักศึกษาลดลง โดยเฉพาะทักษะด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลก็เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และอยู่ระหว่างเร่งดำเนินงานแก้ไข

เผยว่างงานปี 56 ลดลงจากปี 55

สำหรับภาวการณ์จ้างงานในปี 2556 จากการสำรวจพบว่าอัตราค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 6.10% ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2555 ที่เพิ่มขึ้น 7.82% โดยเป็นผลจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ได้ส่งผลกระทบไปแล้วตั้งแต่เดือนเม.ย. 2555

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มอัตราการปรับค่าจ้างโดดเด่น 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มซอฟต์แวร์ คอมพิวเตอร์ และโทรคมนาคม และกลุ่มการค้าและบริการ โดยเมื่อแยกตามระดับการศึกษาพบว่าการเพิ่มค่าจ้างในกลุ่ม ปวช. ปวส.เริ่มชะลอลง ก็เป็นผลจากผลกระทบค่าจ้าง 300 บาท ที่ขึ้นไปแล้วโดยปวช. เพิ่มขึ้น 6.08 % ระดับปวส. 7.79 % ระดับปริญญาตรี 9.86 % เทียบกับการเพิ่มขึ้นในปี 2555 ที่ระดับปวช. เพิ่มขึ้น 28.94 % ระดับปวส. 21.41 % และระดับปริญญาตรี 4.55 % การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างดังกล่าวกลับมาเหมือนในอดีตที่ผ่านมาที่การปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นภาพรวม ปริญญาตรี สูงกว่า ปวส. ปวช.

ส่วนค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ จำแนกตามวุฒิโดยเฉลี่ยรวม ตามผลการสำรวจค่าจ้าง ปี 2556/2557 พบว่า วุฒิปวช. จ่ายเฉลี่ย 9,477บาทต่อเดือน วุฒิปวส. จ่ายเฉลี่ย 10,475 บาท วุฒิปริญญาตรี จ่ายเฉลี่ย 14,131 บาท วุฒิปริญญาโท จ่ายเฉลี่ย 19,171 บาท และวุฒิปริญญาเอก จ่ายเฉลี่ย 26,119 บาท

ทีดีอาร์ไอหวั่น ศก. ไม่ดีฉุดว่างงานเพิ่ม

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานปี 2557 ว่า เศรษฐกิจจะยังไม่ดีขึ้น จากหลายปัจจัยทั้งการส่งออก การบริโภคในประเทศ การลงทุน และการใช้จ่ายของรัฐบาลช่วงเปลี่ยนผ่าน จะชะลอตัวในช่วงไตรมาสแรก จะค่อยฟื้นตัวดีขึ้นช่วงไตรมาส 2,3 และ 4 โดยจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานแน่นอน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองด้วย หากยังมีการยืดเยื้ออาจจะส่งผลกระทบได้

ทั้งนี้หลักการของตลาดแรงงาน หากจีดีพีต่ำกว่า 4% อาจส่งผลให้มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 1% จากเดิมที่มีประมาณ 0.7-0.8% โดยเฉพาะในส่วนการจ้างงานอย่างเป็นทางการ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรม ยานยนต์ แปรรูปอาหาร ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ แรงงานจบใหม่ โดยเฉพาะระดับปริญญาตรี ที่มีประมาณปีละ 300,000-400,000 คน ที่มีปัญหาการว่างงานสะสมอยู่แล้ว ดังนั้นแรงงานใหม่ อาจศึกษาต่อไปก่อน หรือเพิ่มทักษะให้กับตัวเอง เพื่อให้ทำงานได้หลากหลายขึ้น

เอกชนคาดภาคอุตฯ ขาด 5 แสนคน

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ให้ความเห็นว่าในปี 2557 ภาคอุตสาหกรรมจะยังต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้ขาดแคลนแรงงานประมาณ 5 แสนคน แบ่งเป็นการขาดแคลนในแรงงานพื้นฐาน 4 แสนคน และแรงงานวิชาชีพ 1 แสนคน โดยประมาณการความต้องการแรงงานดังกล่าว อยู่ภายใต้การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลก มีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องและการส่งออกจะขยายตัว 5%

ทั้งนี้ นอกจากขาดแคลนแรงงานแล้วยังมีประเด็นน่ากังวลคือหากเกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองนโยบายค่าแรงจะถูกหยิบยกขึ้นมาหาเสียงซึ่งอาจขึ้นไปสูงถึง 400-500 บาท แม้รัฐบาลจะวางกรอบไว้ว่าจะใช้ 300 บาทไปจนถึงปี 2558 ก็ตาม โดยต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นทำให้ระยะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ต้องปรับตัวอย่างมาก เพื่อไม่ให้ต้องปิดกิจการ ทำให้นโยบายด้านแรงงานของ ส.อ.ท.ปี 2557 จะเน้นไปที่การให้ความรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลดใช้แรงงานให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะในกลุ่มต่างจังหวัด

โดยตั้งแต่ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มมาเป็นวันละ 300 บาท ทาง ส.อ.ท. ได้ให้ความรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเข้ามาช่วยเอสเอ็มอีปรับตัว ซึ่งก็ได้ผลจริง ส่วนปี 2557 ก็จะทำมากขึ้นโดยเน้นไปที่ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดที่ความรู้ด้านการจัดการอาจจะยังน้อยกว่าผู้ประกอบการในส่วนกลาง

ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลต่างๆ ทำให้มีความมั่นใจได้ว่าแม้จะมีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้น ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของไทยมากนัก ที่ผ่านมาอัตราการว่างงานของไทยอยู่ในระดับต่ำมาก แต่ทั้งนี้หากความวุ่นวายยืดเยื้อยาวนาน ก็จะส่งผลต่อการลงทุนตั้งโรงงานใหม่ๆ จนทำให้เกิดปัญหาการว่างงานมากขึ้นได้ในอนาคต


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 มกราคม 2557 ในชื่อ “สอท.ห่วงการเมือง-เศรษฐกิจดัน’ว่างงาน’เพิ่มไตรมาสแรก”