tdri logo
tdri logo
9 มกราคม 2014
Read in Minutes

Views

จี้พรรคฯ แจงต้นทุนหาเสียง สกัดประชานิยมทำลายชาติ

ทีดีอาร์ไอ เรียกร้อง 2 ข้อ สกัด “ประชานิยมทำลายชาติ” หากมีเลือกตั้ง 2 ก.พ. ให้พรรคการเมืองต้องแถลงต้นทุนของนโยบายที่ใช้หาเสียง และแหล่งที่มาของรายได้ หวั่นซ้ำรอยนโยบายจำนำข้าว จี้นักวิชาการทุกฝ่าย ช่วยกันตรวจสอบต้นทุนของนโยบายพรรคการเมืองใหญ่ที่ใช้หาเสียง

วานนี้ (7 ม.ค.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เผยแพร่ บทความเรื่อง “เราจะอยู่กับประชานิยมกันอย่างไร ไม่ให้วิกฤต” ซึ่งนโยบายประชานิยมถือเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ อย่างไรก็ตาม มีหลายนโยบาย ที่ถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยมที่สร้างปัญหา ทั้งไม่มีความยั่งยืนทางการคลัง เป็นการทำลายตลาด รวมไปถึงไม่สร้างความสามารถในการแข่งขัน เราจะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิด “นโยบายที่ไร้ความรับผิดชอบ” ได้อย่างไร

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ประชานิยมกับเรื่องการกระจายรายได้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันมาก โดยส่วนหนึ่งของนโยบายประชานิยมก็เพื่อช่วยคนจน ช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นกับประเทศที่กำลังเป็นประชาธิปไตย ซึ่งประชาธิปไตยจะมาพร้อมกับแรงกดดันให้เกิดการกระจาย รายได้

นโยบายที่เราเรียกกันว่า ประชานิยม ไม่ว่าจะเป็น จำนำข้าว รถคันแรก 30 บาทรักษาทุกโรค เช็คช่วยชาติ การอุดหนุนราคาพลังงาน ความจริงแล้วไม่ได้เหมือนกันไปทั้งหมด แต่ละนโยบายมีความแตกต่างกัน อาทิ 30 บาทรักษาทุกโรค จะเห็นว่า เป็นนโยบายที่มีความยั่งยืนทางการคลัง รัฐบาลเตรียมเงินไว้ว่าจะต้องใช้ในแต่ละปีต่อหัวคนไข้เท่าไร ไม่ทำลายกลไกตลาด เพราะเป็นการไปสู่ตลาดที่ช่วยคนจน และสร้างความสามารถทำให้คนมีสุขภาพดี

แต่นโยบายอย่างเช่นการอุดหนุนราคาพลังงานนั้นไม่ยั่งยืน การตั้งกองทุนพลังงานเพื่อมาอุดหนุน แต่ถ้าเกิดราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น กองทุนพลังงานก็จะเจ๊ง เพราะฉะนั้น นโยบายแบบนี้อยู่ได้ไม่นาน ไม่ยั่งยืน ทำลายกลไกตลาด และไม่สร้างความสามารถให้ภาคอุตสาหกรรม ให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัด เพราะราคาพลังงานบางอย่างมันถูกเกินจริง

ส่วนนโยบายจำนำข้าว รถคันแรก เช็คช่วยชาติ ก็ล้วนเป็นนโยบายที่ไม่ยั่งยืนเช่นกัน นโยบายที่ถูกเรียกว่า ประชานิยม ส่วนใหญ่จึงไม่ได้ช่วยคนจนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม นโยบายดีๆ ก็ยังมีอยู่ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งทางวิชาการจะเรียกว่าเป็นนโยบายสวัสดิการสังคม มากกว่าจะเรียกว่าเป็น ประชานิยม เราจึงไม่ควรเหมาว่า นโยบายประชานิยมทุกอย่างแย่ไปหมด เราควรแบ่งว่า นโยบายประชานิยมที่ดีก็มี ส่วนนโยบายประชานิยมที่สร้างปัญหา เป็นประชานิยมที่แย่จริงๆ ขอเรียกว่า เป็นนโยบายไร้ความรับผิดชอบ ประชานิยมที่ดี ก็ควรคงไว้ อะไรไม่ดีก็ควรทบทวนให้เลิก และอย่าไปดูว่าเป็นนโยบายที่เริ่มจากรัฐบาลไหนแล้วจะต้องดี หรือแย่ทุกนโยบาย เพราะจะเห็นว่าทุกรัฐบาลมีทั้งนโยบายที่ดี และนโยบาย ที่ไม่ดี

“ประชานิยมไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย ยกตัวอย่างประสบการณ์ของประเทศในอเมริกาใต้ ซึ่งมีความแตกต่าง ทางรายได้สูงมาก พอเริ่มเป็นประชาธิปไตยก็เกิดปัญหา เกิดเป็นวัฏจักรประชานิยม ซึ่งประชานิยมพอเริ่มใช้แล้วจะมีลักษณะคล้ายยาสเตอรอยด์ เหมือนยาเสพติดที่เลิกได้ยาก คือ เมื่อมีนโยบายประชานิยมพอใช้ไปนานๆ เกิดการใช้เงินไม่ระมัดระวัง ก็จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในที่สุดก็ต้องรัดเข็มขัด เมื่อรัดเข็มขัดคนก็เดือดร้อน สุดท้ายผู้นำประชานิยม ก็กลับขึ้นมาอีกเมื่อเศรษฐกิจฟื้น มาหาเสียงว่าจะมีนโยบายลดแลกแจกแถมให้ประชาชนมีความสุข แล้วก็กลับไปสู่วัฏจักรประชานิยมอีก”

ดร.สมเกียรติ เสนอแนะทางออกนโยบายประชานิยมระยะกลาง-ระยะยาว โดยระบุว่า

1. ต้องลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการให้สวัสดิการสังคมที่ดี และการศึกษาที่มีคุณภาพ ที่จะทำให้คนไม่ต้องรอพึ่งรัฐบาลอยู่ร่ำไป

2. สร้างวินัยทางการคลัง จำกัดการขาดดุลของรัฐ โดยออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 167

3. ควรมีการตั้งสำนักงบประมาณของรัฐสภาขึ้นมาสนับสนุนรัฐสภา ในการพิจารณางบประมาณ และให้ข้อมูลแก่สาธารณะ

สำหรับข้อเสนอแนะเฉพาะหน้า หากมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.นี้ อยากเห็น

1. เรียกร้องให้พรรคการเมืองต้องแถลงต้นทุนของนโยบายที่ใช้หาเสียงและแหล่งที่มาของรายได้ด้วยว่านโยบายที่ใช้หาเสียงกันนั้นใช้เงินเท่าไหร่ จะเอารายได้จากที่ไหน ไปทำให้นโยบายนั้นเกิดขึ้นได้จริง อย่าให้เหมือนกับนโยบายจำนำข้าว ที่จนบัดนี้ยังไม่รู้ว่าขาดทุน หรือกำไรเท่าไหร่

2. นักวิชาการควรช่วยกันตรวจสอบต้นทุนของนโยบายพรรคการเมืองใหญ่ ที่ใช้หาเสียง


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน วันที่ 8 มกราคม 2557 ในชื่อ “จี้พรรคฯ แจงต้นทุนหาเสียง สกัดประชานิยมทำลายชาติ”

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด