สถานการณ์การเมืองทำเศรษฐกิจฟุบครึ่งปีแรก

ปี2014-01-30

หลังจากเจอเหตุวุ่นวายในวันเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 26 ม.ค. จนอยู่ในภาวะยักแย่ยักยันว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ดี ในที่สุดซีเนริโอการเมืองก็ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลยืนยันมุ่งหน้าเข้าคูหากาบัตร แต่สถานการณ์เช่นนี้ต่อให้เลือกตั้งได้ก็ยังอยู่ในเดดล็อกหาทางออกไม่เจอกันต่อไป

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการเลือกตั้งก็ยังไม่ได้สร้างความชัดเจนทางการเมือง เพราะคงมีการปิดหน่วยเลือกตั้ง หรือมีการปะทะกันระหว่างมวลชน

ขณะที่ในเชิงกฎหมายก็มีหลายเขตในจังหวัดภาคใต้ที่ไม่มีคนสมัคร เมื่อ ส.ส. มีไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนดก็ต้องเลือกแล้วเลือกอีก ซึ่งถ้าครบ 180 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แล้ว ส.ส. ยังไม่ครบ ก็ไม่มีการบอกแนวปฏิบัติว่าจะทำอย่างไรต่อไป

สมชัย มองว่า ต่อให้มีหรือไม่มีเหตุรุนแรง แต่สภาวะที่ไม่มีรัฐบาลมาบริหารประเทศก็จะเกิดขึ้นอยู่ดี บวกกับความเสี่ยงเรื่องเหตุรุนแรง จะเป็นตัวบั่นทอนเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุน

“ถ้าจะให้สวยคือถอยคนละก้าว เช่น กปปส.ไม่ไปปิดหน่วยเลือกตั้ง แต่ใช้วิธีรณรงค์ให้โหวตโนหรือไม่ออกไปเลือกตั้งแทน เพื่อให้ผ่านวันที่ 2 ก.พ.ไปได้” สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวอีกว่า ปัจจัยเหล่านี้ยังยากที่จะนำมาประเมินตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าครึ่งปีแรกคงต้องทำใจไว้เลยว่าภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบมากแน่นอน แล้วไปลุ้นครึ่งปีหลังว่าจะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน

“มันก็อาจเป็นไปได้ที่จะเป็นจุดถดถอยทางเศรษฐกิจระยะยาว เพราะโครงสร้างพื้นฐานเราก็ไม่ได้แข็งแรงมากมาย รวมทั้งเรื่องการไม่มีวินัยทางการคลังอีกก็ได้แต่หวังว่านักลงทุนจะมองเห็นประโยชน์จากการที่ไทยเป็นศูนย์กลางหลังเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมาประคับประคองสถานการณ์ไปได้” สมชัย กล่าว

ด้าน ตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า รัฐบาลก็ทราบดีว่า กปปส.จะไปคัดค้านไม่ให้มีการลงคะแนนได้ในบางเขต จนต้องเลือกตั้งใหม่เฉพาะเขต และได้ ส.ส. ไม่ครบ 375 คน รวมทั้งไม่สามารถคำนวณคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ส.ส. อีก 125 คนได้ แต่ที่เลือกทางนี้เพราะประเมินว่ายังมีเกมในมือให้เล่นต่อคือ การได้มาซึ่งความชอบธรรมเชิงอำนาจอย่างน้อยน่าจะได้ ส.ส. ประมาณ 200 คน จากภาคเหนือและอีสาน ทำให้เกิดความชอบธรรมในทางการเมืองระดับหนึ่ง และเมื่อนายกรัฐมนตรีรักษาการไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบาย ก็จะเกิดกระแสว่าเลือกตั้งแล้วบริหารไม่ได้มาตีกระหน่ำ กปปส.อีก

“เขาคงไม่ปล่อยให้ กปปส.เดินเกมตามสบาย กปปส.จะโดนกระหน่ำ 2 ทาง คือ ความชอบธรรมจากการเลือกตั้งและกระแสบริหารราชการไม่ได้มาตีกระหน่ำ ซึ่งในภาวะเช่นนี้ กปปส.คงไม่อาจดึงกระแสปฏิรูปให้มากขึ้นกว่าเดิมได้ จึงเกิดกลุ่มใหม่ๆ ที่มาช่วยในจุดนี้ ซึ่งก็ต้องดูว่ากระแสนี้จะถูกดึงมาขยายฐานมวลชน เพื่อต่อรองกับอำนาจมวลชนของรัฐบาลได้มากน้อยแค่ไหน เพราะมันต้องใช้พลังมากกว่าปี 2540 ถึงจะต่อรองกับพลังของรัฐบาลได้” ตระกูล กล่าว

ตระกูล เชื่อว่า ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่วันนี้-2ก.พ. กปปส.คงต้องเร่งเกมเต็มสูบ ไม่เช่นนั้นต้องเหนื่อยชุมนุมอีกยาวนานอย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะไม่มีเหตุวุ่นวายรุนแรงเพราะเรื่องที่เกิดขึ้นกับสุทิน ธราทิน แกนนำ กปท. คงทำให้ระมัดระวังไม่ไปในเขตที่สุ่มเสี่ยง เลือกไปเฉพาะจุดที่ควบคุมได้ เพื่อให้เลือกตั้งไม่ได้ในบางเขตก็เพียงพอแล้ว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 30 มกราคม 2557 ในชื่อ “ทีดีอาร์ไอทำใจ ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจฟุบ”