นักวิชาการหนุน ‘ปฏิรูป’ ไม่เอา ‘ปฏิวัติ’

ปี2014-01-13

นับเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ที่สุดของนักวิชาการและเอ็นจีโอ เพื่อจัดตั้งเครือข่าย”2 เอา 2 ไม่เอา” โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่น่าสนใจคือครั้งนี้ ผู้อาวุโสอย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษายุค 14 ต.ค. 2516 ออกโรงนำเอง รวมถึงมีสายวิชาการอย่าง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เข้าร่วมด้วย

ส่วนกลุ่มอื่นๆที่เข้าร่วม อาทิ สมัชชาคนจนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มวลมหาประชาคุย เครือข่ายสลัม4 ภาค สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

ทั้งนี้ เนื้อหาในแถลงการณ์ ระบุว่า เครือข่ายคัดค้านรัฐประหาร คัดค้านความรุนแรงทุกรูปแบบ เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย

“พวกเราเห็นว่าพรรคการเมืองทุกพรรคต้องแสดงเจตจำนงและให้สัญญาประชาคมที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอย่างจริงจัง โดยไม่กีดกันคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเคารพในความแตกต่าง หลากหลาย สร้างกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีกลไกตรวจสอบติดตามเพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างฝ่ายการเมืองกับประชาชน และลดเงื่อนไขที่จะนำสังคมไปสู่ภาวะเผด็จการเสียงข้างมาก และเผด็จการเสียงข้างน้อย” แถลงการณ์ระบุ

นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังระบุว่า จะดำเนินการจัดเวทีพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ประชาชนมีส่วนร่วมต่อไป

เสกสรรค์ กล่าวว่า เป็นความต้องการปกติของมนุษย์ที่พยายามปฏิรูปสังคมที่เราสังกัดอยู่ กระแสปฏิรูปเกิดขึ้นเวลานี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นเรื่องดีที่เราต้องต้อนรับ เพราะกำลังบอกว่าสังคมของเราต้องปรับสมดุลอีกครั้งหนึ่ง

“การปฏิรูปจำเป็นต้องรับฟังประชาชนทุกหมู่เหล่าเพื่อหาประเด็นและสาระของการเปลี่ยนแปลงทั้งนี้การปฏิรูปประเทศมีผลลัพธ์ทั้งด้านบวก ลบ คนที่ได้เปรียบก็ต้องลดการได้เปรียบลง ขณะที่คนเสียเปรียบก็ต้องได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม คงต้องระมัดระวังไม่สามารถใช้วิธีการนอกกรอบประชาธิปไตยได้ เพราะไม่สามารถนำไปสู่ฉันทามติได้ และอาจนำไปสู่การกระทบกระทั่ง” อดีตผู้นำนักศึกษา 14 ตุลาฯ ระบุ

เสกสรรค์ กล่าวอีกว่า แม้การเลือกตั้งจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการหาฉันทามติ แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะหากต้องการให้ภาครัฐและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมกันทำให้เกิดประโยชน์กับคนหมู่มากรัฐบาลก็สมควรจะได้รับฉันทามติจากคนส่วนใหญ่ก่อนทั้งนี้ ไม่ใช่การมอบอำนาจให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในการปฏิรูป เพราะสังคมไม่อาจปฏิรูปจากบนลงมาเพียงข้างเดียว แต่ต้องมีคนข้างล่างส่งขึ้นไป โดยให้รัฐบาลเป็นผู้ขานรับ สิ่งนี้ทำไม่ได้ถ้าไม่มีระบอบประชาธิปไตยเพราะจะเกิดความขัดแย้งเพิ่ม

“กระบวนการปฏิรูปจำเป็นต้องปราศจากความรุนแรงมารบกวน และปราศจากกระบวนการนอกระบบ สังคมไทยกำลังเดินบนปากปล่องภูเขาไฟ เราต้องมีสติ ไม่อนุญาตให้ตนเองพลัดตกลงไปในหล่มที่ไม่อาจกลับคืนมาได้ และต้องหวังอย่างเดียวคือสติและปัญญาเพราะเวลานี้สภาพบ้านเมือง กลไกรัฐไปคนละทิศทางประชาชนรู้สึกว้าเหว่ เหมือนไม่มีคนคุ้มครอง เลยเวลานั้นไปถึงขั้นประชาชนป้องกันตัวเองเป็นเรื่องน่ากลัวต้องมีสติและปัญญาในการถอยจากสิ่งเหล่านี้” เสกสรรค์ กล่าว

นอกจากนี้ยังมีผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆอาทิศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอาวุโส ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักวิชาการกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสารี อ๋องสมหวัง ในฐานะตัวแทนกลุ่มโลกสวยเพื่อการปฏิรูป เป็นต้น

อีกด้านหนึ่งสภาทนายความได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2557 สนับสนุนการใช้อำนาจของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 เพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศโดยมีสาระสำคัญคือ สภาพรัฐบาลในขณะนี้ไม่มีอำนาจในการบริหารกิจการบ้านเมืองได้ หากปล่อยให้ยืดเยื้อเสียเวลาต่อไปก็คงไม่เป็นผลดีแก่ประเทศ

ดังนั้น หากประชาชนอาสาปฏิรูปเองขออำนาจอธิปไตยมาจัดการชั่วคราวด้วยเป้าประสงค์ที่จะถอนรากถอนโคนของระบบการบริหารและนิติบัญญัติที่ใช้อำนาจ โดยไม่สุจริตตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่แตกต่างอะไรทำให้ความจำเป็นในการใช้มาตรา 3 และมาตรา 7 ของประชาชนจึงเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญเหมือนเช่น การปฏิวัติโดยใช้กำลังทหารในอดีตที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้เป็นการปฏิรูปแบบมือเปล่า


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 11 มกราคม 2557 ในชื่อ “นักวิชาการหนุน’ปฏิรูปไม่เอาปฏิวัติ'”