ท่ามกลางความขัดแย้งที่ร้อนระอุทั้งฝ่ายรับ-ฝ่ายรุก ที่ยังคงไม่มีทีท่ายอมแพ้ต่อกันและกันฝ่ายคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ ยังเดินหน้ากดดันให้รัฐบาลปฏิบัติตามเงื่อนไข โดยต้องลาออกจากตำแหน่งรักษาการทั้งคณะ
ขณะที่ฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยืนกรานกุมอำนาจรักษาการ ตามตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ต่างเปรยกันในที่ประชุมบ่อยครั้งว่า “ถอยจนไม่รู้จะถอยอย่างไรแล้ว” และเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว
เมื่อสถานการณ์ระหว่างคู่ขัดแย้ง ดูเหมือนว่าจะตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ จึงไม่แปลกที่ฝ่ายที่พยายามตั้งสถานะตนเองว่า “คนกลาง” กลับมองว่า ช่วงเวลานี้ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงจะเดินทางเข้าสู่สภาวะ “สงครามกลางเมือง” ในเวลาอันใกล้เช่นเดียวกันกับเครือข่ายนักวิชาการที่แม้จะมีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว จึงมีความเห็นร่วมกันว่า ถึงเวลาที่ต้องร่วมกันแสดงพลังในการประกาศเจตนารมณ์ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความสงบ ภายใต้ “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา”
ภายหลังการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ทั้งเครือข่ายเห็นตรงกันว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า “นักวิชาการ” จะต้องออกมาแสดงพลังให้ภาคสังคมมีความหวังว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมเกิดได้ โดยที่คนไทยไม่จำเป็นต้องออกมารบราฆ่าฟัน
เป็นที่มาของการแสดงจุดยืนร่วมกัน 4 ข้อ ประกอบด้วย ต่อต้านรัฐประหาร-การใช้ความรุนแรงทุกแบบ และสนับสนุนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยควบคู่ไปกับการปฏิรูปประเทศ
“เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” เป็นหนึ่งในเครือข่ายดังกล่าว ที่แม้จะปลีกวิเวกเก็บตัวจากการแสดงความเห็นทางการเมืองมาพักใหญ่ ก็ได้ออกมาร่วมขบวนกับเครือข่าย ฉายภาพเตือนด้วยความเป็นห่วงว่า ประเทศมีความเสี่ยงจะเกิด “สงครามกลางเมือง” อีกครั้งเขาบอกว่าในประวัติศาสตร์การเมือง ประเทศเผชิญสถานการณ์ของรัฐประหารในหลากหลายรูปแบบ และบางสถานการณ์จะนำไปสู่สงครามกลางเมือง เฉกเช่นเดียวกันกับช่วง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากลัว
“ผมและหลายท่านมีประสบการณ์ผ่านสถานการณ์ที่คนไทยต้องรบกันเองกว่า 50 จังหวัด แม้จะพยายามปิดบังไม่ให้คนรุ่นหลังได้รับทราบ แต่ก็ถือว่าเป็นบาดแผลจนถึงวันนี้ และไม่มีใครอยากเห็นประเทศกลับสู่ยุคสมัยแบบนั้นอีก”
“เรายังมีโอกาสมีสติที่จะหลีกเลี่ยงสภาพเช่นนั้น หลายคนวิเคราะห์ไว้แล้วพูดตรง ๆ ว่า ต้องเลี่ยงสงครามกลางเมือง ตรงนี้คือประเด็นสำคัญเฉพาะหน้า ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงนอกระบบขึ้นมาจริง ๆ ในสายตาของนักเรียนรัฐศาสตร์เชื่อว่า จะไม่มีใครคุมสถานการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารหรือคนในภาคประชาชนก็ตาม”
เขาบอกว่า การปฏิรูปประเทศหรือการยกระดับสังคมถือเป็นเรื่องของมนุษย์ที่มีความพยายามปฏิรูปสังคมตลอดนับพันปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ดีที่สังคมต้องให้การต้อนรับ เพราะเป็นสิ่งที่บอกว่าสังคมต้องการปรับสมดุลอีกครั้ง
“แต่เราต้องตระหนักว่าการปฏิรูปมีทั้งวิธีการและเนื้อหาสาระ จึงนำมาสู่ประเด็นที่คุยกันตรงนี้ว่า ทำไมต้องปฏิรูปตามระบอบประชาธิปไตย”
อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบที่ทำให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งหรือสิทธิเสรีภาพ ล้วนแต่เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิรูปในอดีต ฉะนั้นต้องยอมรับว่า นี่เป็นต้นทุนที่จะนำมายก ระดับสังคมให้ดีขึ้นกว่าในอดีต
“การปรับปรุงสังคมครั้งใหญ่จำเป็นต้องระมัดระวัง คงไม่สามารถที่จะใช้วิธีการนอกกรอบประชาธิปไตยได้ เพราะไม่สามารถสร้างฉันทามติได้ และจะนำไปสู่การกระทบกระทั่งระหว่างกัน แม้จะเกิดจากความหวังดี สุดท้ายก็จะได้ไม่คุ้มเสีย”
“การเลือกตั้งเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะการปฏิรูปจำเป็นต้องมีภาครัฐ ภาคสังคม ทำงานประสานกัน เพื่อให้ได้การเปลี่ยนแปลงที่มีความยั่งยืนและเกิดประโยชน์กับคนหมู่มาก กรณีเช่นนี้ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็น ผู้จัดการให้เกิดกระบวนการคือรัฐบาลที่สมควรได้รับฉันทามติจากคนส่วนใหญ่เสียก่อน ขณะเดียวกันต้องไม่ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งอำนาจปฏิรูป แต่ต้องเป็นผู้นำสังคมไปสู่การรับฟังจากล่างขึ้นบน มิใช่การใช้อำนาจจากบนสู่ล่างอีกต่อไป”
เหตุผลที่ต้องเริ่มต้นจากการเลือกตั้ง-ตั้งรัฐบาล เพราะการปฏิรูปจะนำมาสู่การยกเลิกและตรากฎหมายอีกหลายฉบับ หากไม่มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็ยากที่กระทำได้สำเร็จ
การปฏิรูปจำเป็นต้องอาศัยกรอบตามประชาธิปไตย จำเป็นต้องปราศจาก ความรุนแรง และกระบวนการนอกระบบที่อยู่นอกกฎเกณฑ์ของประชาธิปไตยเข้ามารบกวน ซึ่ง “เสกสรรค์” มองว่า สิ่งที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่เสมือนการเดินอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟ ที่ต้องเดินไปอย่างมีสติ มิให้พลัดตกลงไปในหลุมที่กลับขึ้นมาไม่ได้
“สภาพของบ้านเมืองเหมือนกับว่า กลไกของรัฐเดินไปคนละทิศคนละทาง ประชาชนรู้สึกว้าเหว่ไร้คนคุ้มครอง หากสถานการณ์เลยไปกว่านี้จนคิดว่าต้องป้องกันตัวเอง นี่ถือเป็นเรื่องน่ากลัว สิ่งที่ควรมีคือสติและปัญญาที่จะถอยห่างจากอันตรายเหล่านี้”
ขณะที่ “จอน อึ๊งภากรณ์” มองปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยรู้สึกว่าสังคม กำลังอยู่ในอันตรายเท่าวันนี้ และเป็น เรื่องที่วิตกกังวลมาก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นควรได้รับการแก้ไขโดยวิธีการที่ยุติธรรมต่อทุกฝ่าย
“เรามีความขัดแย้งระหว่างคนที่เสมือนอยากจะตั้งรัฐบาลของตนเอง เพราะไม่ไว้วางใจรัฐบาลรักษาการ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นว่าไม่ได้หลงรักในรัฐบาล แต่จำเป็นต้องรักษากติกาปัจจุบันไว้ แต่ละฝ่ายจึงตั้งกติกาตนเองขึ้นมาต่อสู้ ซึ่งจะไม่มีวันอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้”
“แม้จะมีความเห็นที่หลากหลาย แต่พวกเรามีจุดร่วมเดียวว่าต้องรักษากติกาที่มีอยู่ปัจจุบัน เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด และก็ยอมรับร่วมกันว่าผู้ที่ไปร่วมกิจกรรมทางการเมือง เป็นคนรักชาติ รักสังคม รักคนไทยด้วยกัน เพียงแต่เห็นไม่ตรงกันแค่บางเรื่องเท่านั้น”
ด้าน “น.พ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์” เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และอดีตเลขานุการคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) มองว่า ทุกคนในที่นี้เห็นตรงกันว่าประเทศต้องมีการปฏิรูป แต่จำเป็นต้องมีกลไกการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ
“การปฏิรูปต้องไม่ใช่เพียงแค่การแก้โจทย์คณิตศาสตร์ทางการเมือง แต่ต้องทำให้เกิดการปฏิรูปที่ชาวบ้านกินได้ พวกเขาต้องได้ประโยชน์ และวันนี้พวกเราต้องไม่นิ่งนอนใจว่า ถ้ามีรัฐบาลแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย ดังนั้นประชาชนต้องมีการรวมตัวและจับตาอย่างต่อเนื่อง”
ทุกคนเห็นตรงกันว่าการปฏิรูปต้องทำต่อเนื่องและเริ่มได้ทันที ไม่ต้องรอว่ากลไกรัฐ กลไกอำนาจ จะเห็นพ้องต้องกันหรือไม่ แม้การทำสัตยาบรรณทางการเมืองถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือประชาชนต้องริเริ่มกระบวนการของการปฏิรูปได้ทันที
ส่วน “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เชื่อว่า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตอนนี้คือ ทุกคน ต้องเคารพหลักการประชาธิปไตย ทั้งการเคารพเสียงข้างมาก และเคารพเสียง ข้างน้อย เช่นเดียวกันคนเสื้อแดงต้องเข้าใจความคับข้องใจของคน กทม. ถึงสาเหตุที่มาชุมนุม
“การเลือกตั้งเป็นหัวใจของการแก้ไขปัญหานั่นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ควรจะเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้หรือไม่ กลุ่มนักวิชาการยังเห็นต่างกันอยู่ 2 ประเด็น”
ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่าหากไม่เลือกตั้ง เกรงว่าจะมีผู้ฉวยโอกาสใช้อำนาจอื่นเข้ามาแทรกซ้อน ประเด็นที่สอง เห็นว่าแม้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือลดความขัดแย้งได้ในภาวะปกติ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบ และจะเป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงต่อเนื่อง
“ทางกลุ่มไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้ จึงมีข้อสรุปว่า เราเคารพสิทธิการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ แปลว่า ถ้ารัฐธรรมนูญอนุญาตให้มีการขยายเวลาการเลือกตั้งไปได้ ก็เป็นสิ่งที่พวกเรายอมรับกันได้”
“ดร.สมเกียรติ” ย้ำว่า หากจะมีการขยายเวลาการเลือกตั้งออกไป ถ้าจะแก้ปัญหาให้สำเร็จต้องใช้เวลา 4-5 เดือน โดยทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกันทั้งสองฝ่าย โดยพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กลับเข้าสู่ระบบเลือกตั้ง กปปส.เลิก ชุมนุมในลักษณะกดดันรัฐบาล โดย ระหว่างนั้นต้องทำให้เกิดกระบวนการปฏิรูปควบคู่กันไป
ด้านอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่าง “เกษียร เตชะพีระ” เห็นว่า ข้อเสนอของเครือข่ายคือต้องการให้มีเวทีปฏิรูป ที่เสมือนเป็น “ตลาดนัด” ที่เปิดกว้างที่สุด เปิดรับทุกฝ่าย ไม่เลือกสีที่ต้องการเห็นบ้านเมืองปฏิรูป มาออกความเห็นร่วมกันในที่แห่งนี้
“เวทีสนทนาที่เกิดขึ้นจากความเห็นที่แตกต่างนี้ พรรคการเมืองทั้งหลายต้องมาฟัง มาคุยกับชาวบ้านว่าเขาเห็นอย่างไร หากทำให้เวทีนี้มีผลกระทบต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ ก็จะส่งผลกระทบถึงบรรดานักการเมืองตามไปด้วย”
เขามั่นใจว่า หากดำเนินการปฏิรูปได้สำเร็จ ประเทศนี้ก็ไม่จำเป็นต้องแบ่งสี ตีกัน เพราะเวทีปฏิรูปที่คนทุกเหล่าสีมานั่งคุยกัน เป็นสถานที่นัดของฝ่ายต่าง ๆ ก็จะลดความจำเป็นของการต่อสู้ในท้องถนน และลดความจำเป็นที่จะมีผู้เสียชีวิตและ ผู้บาดเจ็บลงได้
“ตั้งแต่เริ่มความขัดแย้งมีคนตาย 4 คน บาดเจ็บ 461 คน ผมไม่รู้ว่าต้องตายกันอีกเท่าไร ผมไม่รู้ว่าใครจะชนะ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ แต่คนที่ตายไปแล้ว พวกเขาจะไม่ได้ไปเลือกตั้ง ไม่ได้ร่วมปฏิรูปอีกแล้ว ทางออกยังมีนะครับ มาร่วมกันเลือกตั้ง และร่วมกันปฏิรูปไปพร้อมกันได้”
เป็นข้อเสนอของนักวิชาการที่ไม่อยากเห็นการนองเลือดเกิดขึ้นอีกบนแผ่นดินไทย
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 16-19 มกราคม 2557 ในชื่อ “พลัง ‘นักวิชาการ’ ต่างขั้ว เปิดจุดร่วม สงวนจุดต่าง ชี้ทางออก นำชาติพ้นวิกฤต”