ประชาไทรายงาน: ‘2 เอา 2 ไม่เอา’ แถลงจุดยืนปฏิรูป ค้าน รปห.-ความรุนแรง เคารพสิทธิเลือกตั้ง

ปี2014-01-13

สื่อร่วมคับคั่ง ตัวแทนสปป.-เอ็นจีโอ-มสช.-ทีดีอาร์ไอ จับมือแถลงต้านความรุนแรง ไม่เอาสงครามกลางเมือง เอาเลือกตั้งด้วย ปฏิรูปด้วยทำอย่างไร ฟังถ้อยแถลง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, จอน อึ๊งภากรณ์, ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี, สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, สมัชชาคนจน, P-Move

 

10 ม.ค. 2557 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการแถลงข่าวของเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” นำเสนอจุดยืน คัดค้านการรัฐประหาร, คัดค้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ, เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ, สนับสนุนการปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย (อ่านแถลงการณ์เต็มด้านล่าง) ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างล้นหลาม

ทั้งนี้ เครือข่ายดังกล่าวประกอบด้วย 10 องค์กร ประกอบด้วย สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) สมัชชาคนจน ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มวลมหาประชาคุย เครือข่ายสลัมสี่ภาค ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) กลุ่มโลกสวย ปฏิรูปการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี และเครือข่ายภาคประชาสังคม และมีผู้ลงนามท้ายแถลงการณ์รวม 69 ราย

ในการแถลงข่าวมีตัวแทนเครือข่าย ทั้งนักวิชาการ หมอ เอ็นจีโอ ร่วมอภิปรายด้วย มีเนื้อหาน่าสนใจ ประชาไทสรุปความนำเสนอ ดังนี้

 

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ความต้องการที่จะยกระดับสังคมเป็นเส้นทางปกติของมนุษย์ที่ผ่านมาในอดีตเราพยายามปรับปรุงสังคมอยู่เป็นระยะๆ อาจใช้คำว่า ปฏิรูปสังคม เป็นระยะๆ ตลอดเวลานับร้อยนับพันปีที่ผ่านมา ฉะนั้น การมีกระแสปฏิรูปเกิดในเวลานี้จริงๆ แล้วไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นเรื่องดีที่เราควรต้อนรับเพราะมันเท่ากับบ่งบอกว่าสังคมของเราต้องการการปรับสมดุลอีกครั้งหนึ่ง การปรับสมดุลเป็นการที่จะดึงสังคมออกจากแนวโน้มเชิงลบสู่แนวโน้มเชิงบวกเพื่อเข้าใกล้จุดหมายของการอยู่เย็นเป็นสุขและความเจริญรุ่งเรือง

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปมีทั้งเรื่องวิธีการและเนื้อหาสาระ ตรงนี้จึงมาเกี่ยวข้องกับประเด็นว่าทำไมจึงต้องปฏิรูปในกรอบของระบอบประชาธิปไตย ความจริงระบอบประชาธิปไตยเองก็เป็นผลพวงของการปฏิรูปสังคมที่ผ่านมาในอดีต องค์ประกอบของประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง การมีสิทธิเสรีภาพ ก็เป็นผลพวงของการปฏิรูปในอดีตที่เสียเลือดเสียเนื้อสร้างกันมา ต้องยอมรับว่านี่เป็นต้นทุนที่เรามีอยู่แล้วที่ใช้ยกระดับสังคมของเรา ยิ่งในเวลานี้ ความจำเป็นที่ต้องใช้ประชาธิปไตยเป็นอุปกรณ์ยกระดับสังคมไปสู่ความเจริญรุดหน้ายิ่งมากกว่าแต่ก่อน เพราะสังคมไทยได้พัฒนามาถึงจุดที่มีความหลากหลายทั้งในทางผลประโยชน์และความคิดเห็น เป็นความลำบากที่จะพูดถึงความต้องการของคนทั้งประเทศในลักษณะกลุ่มก้อนเดียว หรือคิดเหมือนกันหมดทั้งประเทศ การจะต้องรับฟังประชาชนทุกหมู่เหล่าจึงเป็นเรื่องสำคัญในการสรรหาประเด็น สาระของการเปลี่ยนแปลง

การปฏิรูประเทศเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดำรงอยู่ มันจึงมีคนได้รับผลกระทบท้างด้านบวกและด้านลบ คนมีมากอาจต้องลดฐานะความได้เปรียบ คนเสียเปรียบอาจได้ยกระดับไปสู่การต่อรองได้มากขึ้น พูดง่ายๆ ว่ามีความขัดแย้งทุกขั้นตอนที่ต้องมาสะสางกันในการปฏิรูปสังคม ไม่ว่ามิติทางการเมือง การศึกษาหรือเรื่องอื่นๆ

การที่เราจะปรับปรุงสังคมครั้งใหญ่อีกครั้งจำเป็นต้องระมัดระวัง เราคงไม่สามารถใช้วิธีการนอกกรอบประชาธิปไตยได้เพราะมันไม่สามารถสร้างฉันทามติและนำไปสู่การกระทบกระทั่งที่ถึงแม้จะเกิดจากความหวังดีก็ได้ไม่คุ้มเสีย

เราจำเป็นต้องมีกระบวนการค้นหาฉันทามติในการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งในแง่นี้การเลือกตั้งเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะเราจำเป็นต้องอาศัยทั้งส่วนภาครัฐและสังคมมาทำงานประสานกันเพื่อให้ได้การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและเกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก

ในกรณีเช่นนี้ อันดับแรกผู้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการให้เกิดกระบวนการคือรัฐบาลซึ่งสมควรได้รับฉันทามติจากคนส่วนใหญ่เสียก่อน แต่ก็ไม่ใช่เป็นการมอบอำนาจให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปทำเรื่องปฏิรูป สังคมเดินทางมาถึงจุดที่ว่าไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงจากข้างบนลงมาเพียงข้างเดียว จำเป็นต้องรับฟังคนจากข้างล่างขึ้นไป โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ขานรับและนำไปปฏิรูปในปรากฏเป็นจริง ในทางรูปธรรมการปฏิรูปต้องมีการยกเลิกหรือตรากฎหมายหลายฉบับ สิ่งเหล่านี้จะทำได้อย่างไรถ้าเราไม่มีระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่จะสร้างความขัดแย้งเพิ่ม เรื่องนี้จึงโยงมาถึงประเด็นความรุนแรงและรัฐประหาร ในเมื่อการปฏิรูปต้องอาศัยกรอบประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องปราศจากความรุนแรงมารบกวน ปราศจากกระบวนการนอกระบบที่อยู่นอกกฎเกณฑ์ประชาธิปไตย ในเวลานี้สังคมไทยเรากำลังเดินอยู่ปากปล่องภูเขาไฟ เราควรต้องมีสติ ไม่อนุญาตให้ตัวเองพลัดตกลงไปในหล่มหลุมที่ไม่อาจกลับคืนมา สิ่งที่เราฝากความหวังไว้เพียงอย่างเดียวคือสติและปัญญา เวลานี้สภาพของบ้านเมืองเหมือนกลไกของรัฐไปคนละทิศทาง ประชาชนทั่วไปรู้สึกว้าเหว่เหมือนไม่มีคนคุ้มครอง ถ้าเลยไปถึงประชาชนต้องป้องกันตัวเองก็เป็นเรื่องน่ากลัว

มาถึงจุดที่เราโต้แย้งในสังคม อยากเรียนว่า เดี๋ยวนี้เราใช้เหตุผลร้อยแปดพันเก้ามาเถียงกันเพื่อบอกว่าความคิดเราถูกต้องกว่า ตราบใดที่ยังอยู่ในแวดวงของการใช้เหตุผลก็ไม่เป็นไร แต่อยากเรียนว่า แต่ละยุคสมัย มนุษยชาติมีจิตวิญญาณของตนว่าจะก้าวไปสู่ทิศทางใด ร้อยเหตุผลก็ไม่เท่าจิตวิญญาณของยุคสมัย โลกจะต้องหมุนไปสู่เสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม ถ้าเราจะขวางกฎเกณฑ์อันนี้ เกรงว่าจะก่อให้เกิดภาวะไม่พึงปรารถนาขึ้นมากมาย

 

จอน อึ๊งภากรณ์

ตั้งแต่เกิดมาถึงตอนนี้ ไม่เคยรู้สึกว่าสังคมไทยอยู่ในอันตรายเท่ากับทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลมาก เราต่างอยากให้ลูกหลานโตขึ้นในสังคมสงบสุข เราอยากให้ปัญหาต่างๆ ความขัดแย้งต่างๆ แก้ไขโดยวิธีการที่ถูกต้อง

เรามีความขัดแย้งระหว่างคนที่ไม่มีความเชื่อในเรื่องการเลือกตั้ง ต้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง กับกลุ่มคนที่เห็นว่าเรายังต้องทำตามกติกาที่มีอยู่ เพราะหากไม่มียึดกติกาที่มีอยู่ก็จะกลายเป็นกติกาของใครก็ได้ แล้วอันนั้นจะนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม

เรามีความขัดแย้งกับกลุ่มคนที่เสมือนอยากตั้งรัฐบาลของตนขึ้นมาเพราะไม่ไว้ใจรัฐบาลรักษาการณ์ กับอีกฝ่ายที่ไม่ได้หลงในรัฐบาลปัจจุบันแต่ยังไงก็ต้องรักษากติกาปัจจุบันไว้ก่อน

จุดร่วมของพวกเราในที่นี้ แม้มีความเห็นที่หลากหาย ก็คือ ต้องรักษากติกาที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด แล้วเรายอมรับร่วมกันว่า บุคคลที่ไปร่วมกิจกรรมกับฝ่ายขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่าย เป็นคนรักชาติ รักสังคม รักคนไทยด้วยกันทั้งนั้น มีแต่คิดไม่ตรงกันในบางเรื่อง และความจริง แทนที่จะทำกับกลุ่มตัวเองเป็นหลักหากได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน อันนั้นจะนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันและความสงบสุขในสังคมไทย ดังนั้น กิจกรรมร่วมกันที่น่าจะต้องทำร่วมกันต่อไปนี้คือ การปฏิรูปประเทศ และเราอาจจะพบว่า ความคิดเรื่องการปฏิรูปนั้นไม่ได้ต่างกันมากมายนัก มีหลายเรื่องทำได้ เหมือนกับที่ผ่านมามีความเห็นค่อนข้างไปทางเดียวกันคือไม่ยอมรับกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาแข่ง อันนี้เป็นจุดร่วมที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย น่าเสียดายที่มันเดินออกจากการรักษากฎเกณฑ์ที่มีอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่ากฎเกณฑ์ที่มีอยู่นั้นใช้ได้ทั้งหมด มันต้องถูกแก้ไขต่อไป

 

สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

ที่มารวมตัวกันวันนี้เพราะเห็นตรงกันว่า การปฏิรูปเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะต้องทำให้ได้ ไม่ได้อยู่ที่ใครมาเป็นรัฐบาล อำนาจก็สำคัญ แต่สำคัญกว่าคือต้องทำให้สังคมนำไปสู่ความปฏิรูปให้ได้ เรื่องนี้ต้องการหลายฝ่ายมาร่วม

ประเด็นที่สอง เมื่อพูดเรื่องปฏิรูปเป้าหมายสำคัญคือให้ประชาชนได้ประโยชน์ เราไม่ได้พูดถึงเรื่องปฏิรูประบอบประชาธิปไตยในแง่ของคณิตศาสตร์การเมือง แต่ต้องให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ ถ้าพูดภาษา อ.ประเวศ (วะสี) คือ ต้องปฏิรูปประชาธิปไตยในไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่ชาวบ้านกินได้

ประเด็นที่สาม พอเราเชื่อว่าปฏิรูปเป็นเรื่องสำคัญประชาธิปไตยก็ต้องมี เราก็ต้องไม่นิ่งนอนใจว่าเมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย เพราะชัดเจนว่าถ้าประชาชนไม่รวมตัวไม่เข้มแข็งหรือไม่มีโอกาสมีส่วนร่วม การปฏิรูปที่แท้จริงก็จะไม่เกิด

ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญมากคือ เราต้องมาทำให้เกิดกลไกที่จะสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และกลไกที่ว่าไม่ใช่แบบตัวแทน แต่เป็นกลไกที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม กลไกนี้ต้องเกิดขึ้นไม่ว่าจะก่อนเลือกตั้ง หลังเลือกตั้ง อะไรก็แล้วแต่

ประเด็นสุดท้าย เป็นเหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งที่เรามารวมตัว คือ เรื่องปฏิรูปต้องทำต่อเนื่อง เริ่มต้นได้เลยโดยไม่ต้องไปรอว่ากลไกรัฐ กลไกอำนาจจะมาเห็นพ้องต้องกันหรือไม่ การทำสัตยาบรรณที่เราประกาศไว้ว่าจะทำก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง เราเชื่อกันว่าเราน่าจะสามารถร่วมกันริเริ่มกระบวนการส่วนหนึ่งของการปฏิรูปได้

 

ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี

อยากจะพูดในนามของคนที่มีประสบการณ์กับความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงและความต่อเนื่องของความรุนแรงทำให้ผู้เสียชีวิตในรอบสิบปีที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่า 5,000 คนแล้ว และความตายยังดำเนินต่อไปทุกวัน

บทเรียนที่ได้จากการปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความหมายอยู่ 3 คำ คือ ประชาธิปไตย ความยุติธรรม และสันติภาพ สามอย่างนี้เกาะเกี่ยวกันทั้งความหมายและปฏิบัติการ มันทำให้ระดับความรุนแรงของภาคใต้นั้นลดลงและเคลื่อนไปสู่การพูดคุยกันในทางสันติ แต่ก็ยังไม่แก้ปัญหาทั้งหมด แม้ความรุนแรงยังเกิดขึ้นทุกวัน แต่เราได้เห็นว่าการต่อสู้ในทางความคิด การใช้เหตุผล มันช่วยได้ และมันช่วยผ่านกระบวนการประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชนหลายๆ ฝ่าย ระดมความคิดเห็นจนทำให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า “พื้นที่กลาง” “พื้นที่ปลอดภัย” เป็นเครื่องมือ กลไก หลักประกันที่จะนำไปสู่สันติ และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกยุคสมัยก็มีส่วนช่วยให้เกิดแนวทางนี้ เราถอดบทเรียนกันมาจนปัจจุบัน ดังนั้น ประชาธิปไตยมันเป็นหลักประกันความปลอดภัย สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน แม้แต่ฝ่ายที่ต่อสู้ เช่น ขบวน BRN ก็เสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่นำเสนอกันมา แม้แต่ข้อเสนอของ BRN เองก็บอกว่าต้องผ่านกระบวนการประชาธิปไตย มีรัฐสภา มีรัฐบาลที่ถูกต้องชอบธรรม ตามรธน. เพราะการสนองตอบต่อข้อเสนอต่างๆ ต้องเป็นข้อเรียกร้องที่เป็นไปตามสิทธิของประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จะเห็นว่ากระบวนการประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ยอมรับได้แม้แต่ในพื้นที่ที่มีความรุนแรง

การเลือกตั้งเป็นกระบวนการประชาธิปไตยตามกรอบรัฐธรรมนูญ เป็นหลักประกันที่ดีที่สุดในการสร้างความยุติธรรม ทำให้คนมาคุยกันแทนที่จะใช้ความรุนแรง เป็นการหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปัจจุบัน รวมทั้งทำให้เกิดแนวทางการปฏิรูประดับประเทศ

บทเรียนจากจังหวัดชายแดนใต้คือ เราต้องทำให้เกิดการยอมรับในแนวคิดประชาธิปไตยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและการไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งรวมไปถึงปฏิเสธการรัฐประหาร การเลือกตั้งหลักประกันที่ดีที่สุดว่าทุกคน ทุกชนชั้น การศึกษา ศาสนา จะได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมกัน สิ่งที่ชัดเจนคือ เราต้องสร้างประชาธิปไตยต่อเนื่อง เพื่อสร้างความยุติธรรม เพื่อทำให้เกิดสันติในสังคมไทย

 

บุญยืน สุขใหม่

วันนี้มาในนามของสมัชชาคนจน สมัชชาคนจนมีมติของ ‘พ่อครัวใหญ่’ เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.พร้อมๆ กับให้มีการปฏิรูปประเทศไทยควบคู่กันไปด้วย

ความหมายของการปฏิรูป ต้องปฏิรูปทั้งระบบเหมือนที่หลายท่านพูดแล้ว แต่อยากเสริมว่าในมุมของสมัชชาคนจนนั้น คือ การจัดการที่ดิน พูดง่ายๆ ว่า มีหลายสิ่งหลายอย่าง กฎหมายหลายฉบับที่จะต้องแก้ไขเพื่อให้ชุมชนสามารถถือครองและจัดการที่ดินในชุมนุมตนเองได้มากขึ้น เรื่องการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการด้วย การจัดการน้ำที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลไหนก็มีโครงการจัดการน้ำ การสร้างเขื่อนที่กระทบชาวบ้าน โดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายแต่อย่างใด อีกประเด็นคือ แรงงาน ปัจจุบันแรงงานในระบบมีประมาณ 17 ล้าน แม้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับสูงขึ้น แต่ค่าครองชีพก็สูงตามด้วยจึงไม่ช่วยให้เกิดความสมดุล ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา สิทธิในการรวมตัวของคนงานก็ยังถูกละเมิด การจัดตั้งสหภาพแรงงานก็ยังส่งผลให้มีการเลิกจ้างคนงานอยู่ตลอด สิ่งเหล่านี้หลายอย่างมีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้วแต่ไม่มีการบังคับใช้จริงจัง ที่สำคัญ เราเห็นว่าควรต้องกระจายอำนาจสู่พื้นที่ สู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อลดบทบาทของรัฐและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตนเองให้มากขึ้น

 

กฤษกร ศิลารักษ์

ในขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) มีความหลากหลายในความคิดทางการเมือง แต่เราคุยกันและอยู่ร่วมกันได้

ทุกครั้งเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมือง คนจนถูกอ้างเป็นกลุ่มแรก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กปปส. ต่างอ้างว่าต้องการช่วยคนจน จากประสบการณ์ที่เจ็บปวด ใครก็ตามที่อ้างเราเมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วเราเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกลืม เราถูกเบียดขับออกจากการพัฒนาตลอด ทุกครั้งของการเลือกตั้งมักบอกว่าจะทำเพื่อพวกเรา จะปฏิรูปเพื่อประชาชน จะเปลี่ยนแปลงเพื่อประชาชน แต่จากประสบการณ์ 20 กว่าปี เราไม่ได้รับอานิสงส์จากการกล่าวอ้างนั้นเลย เราเจ็บปวดกับการกล่าวอ้างที่หลอกลวง แต่เราอดทน เราเดินหน้าเรียกร้องทุกปี ทุกรัฐบาล ให้แก้ไขปัญหาให้พวกเรา เราอดทน เราอดกลั้น เราหลีกเลี่ยงความรุนแรง อะไรก็ตามที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ต้องแลกด้วยความรุนแรงและการสูญเสีย มันไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนา ยอมรับว่าประชาธิปไตยมีข้อบกพร่องต้องปรับปรุงแก้ไข แต่การแก้ไขมันก็ต้องเป็นไปตามครรลอง กฎหมายกติกาที่มีอยู่แม้มันไม่สมบูรณ์ก็จะใช้วิธีนอกกติกาไม่ได้ เราไม่เชื่อว่าการใช้วิธีนอกกติกาจะทำให้ได้มาซึ่งกติกาที่สมบูรณ์ วิธีการนอกกติกา นอกระบบมันไม่ได้มีหลักประกันว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ประชาชนยอมรับได้

สุดท้าย ผมเชื่อว่าประสบการณ์ความเจ็บปวด เราอยากให้ทุกพรรคช่วยกันประคับประคอง อดทนอดกลั้น และคู่ขัดแย้งอย่าอ้างประชาชน ที่คุณอ้างแค่ส่วนเดียว มีประชาชนอีกมากจับตาดูพวกคุณ เราในฐานะประชาชนขอให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายหาทางยุติความขัดแย้งเพื่อที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน

 

ช่วงตอบคำถาม

เรื่องรัฐประหาร ความรุนแรง หากเกิดขึ้นจะทำอย่างไร? ต้องการบอกอะไรกับผู้มีอำนาจทุกฝ่ายและประชาชน?

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : นี่เป็นการถามคำถามของคนฉลาดที่วางตัวเองเป็นคนนอกและให้เป็นความรับผิดชอบของคนตอบคำถาม เรื่องใหญ่ขนาดนั้นไม่มีใครตอบแทนประชาชนทั้งประเทศได้ แต่ว่าถ้าเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ จะพบว่าในแต่ละสถานการณ์ของรัฐประหารไม่เหมือนกัน บางสถานการณ์นำสู่สงครามกลางเมือง เช่น 6 ต.ค.2519 ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวมาก ในเวลานั้นผมเองและหลายๆ คนเคยมีประสบการณ์ผ่านสถานการณ์ที่ต้องรบกันเอง 50 กว่าจังหวัดในประเทศไทย คนรุ่นผมยังถือเป็นบาดแผลมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่อยากเห็นประเทศไทยกลับไปสู่ยุคสมัยนั้นอีก เรายังมีเวลา สติ โอกาสเสมอที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์เช่นนั้น

หลายคนก็วิเคราะห์ไว้ชัดเจนแล้วว่าต้องเลี่ยงสงครามกลางเมือง ผมคิดว่าตรงนี้ต่างหากที่เป็นประเด็นสำคัญเฉพาะหน้า เราต้องตั้งสติว่าไม่เอาสิ่งเหล่านั้น ถ้ากรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงนอกระบบขึ้นมาจริงๆ ถ้ามองจากสายตานักเรียนรัฐศาสตร์ ช่วงแรกเลยคงไม่มีใครคุมสถานการณ์ได้ ไม่ว่าคนทำรัฐประหาร หรือคนที่อยู่ในภาคประชาชน เพราะไม่มีใครรู้ว่าฝ่ายอื่น เพื่อนพ้อง กลุ่มต่างๆ ร้อยแปดพันเก้าจะมีปฏิกิริยาอย่างไร แต่เราคาดเดาได้ว่ามันคงเป็นสภาพที่อันตรายและกอบกู้ได้ยากลำบากมาก มันไม่ใช่เรื่องว่าใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะตอบโต้รัฐประหารอย่างไร แต่มันเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากพื้นเพเดิมของแต่ละคนแต่ละกลุ่มซึ่งเราคำนวณไม่ได้ คาดเดาลำบาก

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ความรุนแรงที่น่าเป็นห่วงคือ ความรุนแรงเชิงกายภาพ ฆ่ากัน ทำร้ายกัน ไม่ได้หมายความว่าความรุนแรงแบบอื่นไม่มี แต่ความสำคัญมันอยู่ตรงนั้น ถามว่ามีปัจจัยเสี่ยงไหม คำตอบคือ มี ผมคิดว่าบทบาทของภาคสังคม มี 3 เรื่อง คือ ก่อน ระหว่างและหลังความรุนแรงจะทำอย่างไร ก่อน ก็ต้องทำทุกอย่างที่จะกันไม่ให้เกิด ระหว่าง ก็ต้องหาช่องทางปกป้องคนบริสุทธิ์ ไม่เกี่ยว หลังจากนั้น ก็ต้องมีภารกิจไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก การรักษารอยแผลทั้งหลาย

ถ้าถามผมว่า อะไรคือ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในตอนนี้ ตอนนี้คนจำนวนหนึ่งไม่อยากให้คนรู้สึกหมดหวังกับสังคมไทย เพราะอาการของความรุนแรงเกิดเมื่อคนรู้สึกหมดหวัง ดังนั้น ใครที่คิดอะไรออก ทำอะไรได้ก็ต้องเสนอทางเลือกให้สังคมไทย ไม่ให้สังคมไทยวิ่งไปสู่กับดักของความรุนแรงที่มากับความหมดหวัง

หมดหวังกับอะไร หมดหวังกับการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี หมดหวังกับการทำงานโดยปกติในสังคมไทย แล้วก็ไปเรียกร้องหาความรุนแรงเป็นคำตอบ

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ : คำถามข้อสามคือ ถามไปยังผู้มีอำนาจและประชาชน ผมอยากบอกทุกท่านว่า ถึงอย่างไร ไม่ว่าความคิดทางการเมืองต่างกันอย่างไร คนไทยก็ต้องอยู่ด้วยกันต่อไป ไม่สามารถผลักอีกฝ่ายออกจากเวทีการเมืองได้ การทำรัฐประหารก็ไม่สามารถสกัดคนไม่เห็นด้วยออกไปได้ การเลือกตั้งอย่างเดียวก็ไม่สามารถลบความคับข้องใจคนอีกส่วนได้ ทางออกมีทางเดียว คือ ต้องเคารพหลักการประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้มีเสียงข้างมากอย่างเดียว ต้องเคารพเสียงข้างน้อยด้วย อย่าใช้เสียงข้างมากลากไป ต้องเคารพความคับข้องใจของกันและกัน มวลมหาประชาชนต้องทำความเข้าใจความคับข้องใจของคนเสื้อแดงที่ไม่ได้รับความยุติธรรมหลายๆ เรื่อง เช่นเดียวกัน คนเสื้อแดงให้เข้าใจความคับข้องใจของคนกรุงเทพฯ และคนที่มาชุมนุมว่าเขาไม่พอใจกับการใช้เสียงข้างมากลากไป

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ : เราต้องเคารพและเข้าใจเจตจำนงของประชาชนทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง อีกฝ่ายเรียกร้องสังคมที่ยุติธรรม ปราศจากการคอรัปชั่น พวกเราเห็นว่าข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายไม่ควรขัดแย้งกันเลย ไม่ควรจะเสียสละแม้สักชีวิต หรือเลือดแม้เพียงหยดเดียว เพราะหากนับการเลือกตั้งเป็นรากประชาธิปไตยคือลำต้น ดอกและผลคือสังคมที่เป็นธรรม เท่าเทียม และยุติธรรมนั่นเอง ไม่มีเหตุผลที่จะฆ่ากันโดยเหตุนี้ หากพวกเราในวงนี้ไม่สามารถร่วมงาน ร่วมความคิดกันได้ เราอย่าหวังว่าคู่ขัดแย้งจะเจรจากันได้ นี่เป็นสัญญาณเล็กๆ ที่จะบอกสังคมว่าเรารวมกันแล้ว เพื่อบอกว่าเรารวมกันได้ เราหาทางออกกันได้ เราจะฝ่าฟันช่วงเวลาแห่งความลำบากนี้ไปด้วยกัน นี่เป็นเวลาที่วิกฤตที่สุดแล้วในสังคมไทย เราต้องใช้สติอย่างถึงที่สุดที่จะหาทางออกภายใต้กฎเกณฑ์กติกาประชาธิปไตย ไม่ให้ข้อเรียกร้องการเลือกตั้งนำไปสู่ความรุนแรง เคารพสิทธิหนึ่งเสียง เริ่มต้นปฏิรูปทันที ปฏิเสธการรัฐประหาร การใช้ความรุนแรง นี่คือจุดเริ่มต้นของความหวังที่เราเห็นร่วมกัน


เผยแพร่ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาไท วันที่ 10 มกราคม 2557 ในชื่อ ” ‘2 เอา 2 ไม่เอา’ หลากฝ่ายจับมือแถลงจุดยืนปฏิรูป ค้าน รปห.-ความรุนแรง เคารพสิทธิเลือกตั้ง”