สร้างชาติ สร้างกำไร ด้วย R&D

ปี2014-01-07

จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าบริษัทที่จะอยู่รอดได้ ต้องมีการวิจัยและพัฒนา ตัวอย่างจากบริษัทที่ทำการศึกษา บริษัทที่ประสบความสำเร็จและสร้างแบรนด์ของตัวเองมีสัดส่วนการทำ R&D สูงถึง 22% ส่วนบริษัทที่ทำการออกแบบดีไซด์มีสัดส่วนการทำ R&D 16% ในกรณีของบริษัท ที่รับจ้างผลิต มีสัดส่วนการทำ R&D เพียง 5% เท่านั้น

โดยลักษณะของอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังเน้นการรับจ้างผลิตซึ่งกำไรน้อย และเสียเปรียบด้านการต่อรองจากผู้ว่าจ้างที่มักต่อรองขอลดราคาให้ถูกลงเรื่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเลิกจ้างผลิต ทำให้ส่วนใหญ่หันมาเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเองด้วยการผลิตแบบ Lean เพื่อความสูญเสีย และประหยัดพลังงานในการเพิ่มกำไรจากการดำเนินงาน ที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ยังมีไม่มากนัก แม้จะเพิ่มประสิทธิภาพตัวเองให้เก่งขึ้น แต่หากยังรับจ้างผลิตอยู่ต่อไปอนาคตก็ยังไม่สดใสเท่าใดนัก

กรณีบริษัทหนึ่งในเครือ SCG สามารถผลิตกระเบื้องลายหินจนเหมือนกับหินอ่อนจริง ๆ ทำให้ขายได้ราคาดี ได้กำไรมากกว่าสินค้าทั่วไปถึง 20% บริษัทไซโจเดนกิ ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย ผลิตแอร์ที่ประหยัดไฟทำให้ได้กำไรสูงกว่าเดิมที่เคยเป็นผู้รับจ้างผลิตมากกว่า 20%

ส่วนบริษัทขนาดเล็กลงอย่างเช่น บริษัท ซิลิกอน คราฟ ผู้ผลิตชิปติดหูวัวส่งไปขายออสเตรเลีย บริษัทในต่างจังหวัดเช่น บริษัทพีซีเอส ผลิตท่อสำหรับฉีดน้ำมันเครื่องยนต์ดีเซล รายเดียวในประเทศไทย บริษัท ช.ทวี ผู้ผลิตรถยกขนอาหารขึ้นไปลำเลียงบนเครื่องบิน Airbus380 มีส่วนแบ่งตลาดสำหรับรุ่น 380 ใหญ่ที่สุดในโลก เหนือบริษัทอื่น ๆ ที่แข่งขันกันในตลาดโลก

บริษัททั้งหมดนี้ล้วนมีการทำวิจัยและพัฒนา ทำให้แบรนด์ไทยไม่น้อยหน้าใครในตลาดโลก อย่างไรก็ดี การที่ธุรกิจของไทย จะสร้างกำไร สร้างชาติได้นั้นจะต้องฝังชิปการวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้ทุกบริษัทมุ่งทำวิจัยและพัฒนาให้เป็นปกติในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการสร้างคนมาช่วยทำงานวิจัยและพัฒนา

เห็นได้ว่าในโลกของการผลิตยุคต่อไปไม่สามารถรับจ้างผลิตอย่างเดียวได้ต้องมีการวิจัยและพัฒนาเข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้นจึงจะเป็นทางรอดระยะยาว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 มกราคม 2557 ในชื่อ “สร้างชาติ สร้างกำไร ด้วย R&D”