ธกส. ยันรัฐต้องหาเงิน ‘1.3 แสนล้าน’

ปี2014-01-13

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากการที่เกษตรกรออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2556/57 ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ โดยมติ ครม. ให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้เพิ่มให้ ธ.ก.ส. อีก 1.3 แสนล้านบาทเพื่อจ่ายจำนำข้าวที่เหลือ ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเรื่องหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่

ดังนั้นระหว่างนี้ ธ.ก.ส. จึงขอชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ คือ

1. ธ.ก.ส. มีเงินที่ได้รับชำระคืนจากกระทรวงพาณิชย์ และเงินงบประมาณที่ได้จัดสรรให้ปีงบประมาณ 2557 เพื่อนำไปใช้โครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2556/57 รวม 54,950 ล้านบาท

2.ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาไปแล้ว ณวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา 245,944 ราย คิดเป็นข้าวที่ส่งมอบ 2 ล้านตัน เป็นเงิน 31,543 ล้านบาท

3.ธ.ก.ส.กำลังเร่งรัดการจ่ายเงินจำนำข้าวที่เหลือ 23,407 ล้านบาท จะช่วยชาวนาได้อีกกว่า 200,000 ราย คิดเป็นปริมาณข้าวที่ส่งมอบ 1.5 ล้านตัน ส่วนกระทรวงพาณิชย์ทยอยจัดส่งเงินที่ได้จากการระบายข้าวให้ธ.ก.ส. เพิ่ม เพื่อนำไปจ่ายให้เกษตรกรได้อีกจำนวนหนึ่ง

4. ฝ่ายจัดการได้รายงานข้อมูลฐานะทางการเงินของ ธ.ก.ส. ให้หน่วยงานกำกับดูแล ประกอบด้วย ธปท. สตง. สศค. และ สคร. เป็นประจำ ซึ่งทุกหน่วยงานไม่กังวลกับฐานะทางการเงินของ ธ.ก.ส. แต่อย่างใด

“ธ.ก.ส. ใช้เงินคืนจากกระทรวงพาณิชย์ และเงินที่ได้รับการจัดสรร นำมาหมุนเวียนจ่ายจำนำ โดยจะไม่นำเงินฝากของลูกค้ามาจ่ายจำนำ”

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือทีดีอาร์ไอ ออกบทความ “ทำไมชาวนาจะยังไม่ได้เงินค่าจำนำข้าวครบตามที่รัฐบาลสัญญา: ใครต้องรับผิดชอบ?” ว่า ณ วันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ชาวนาได้นำข้าวมาขายให้โครงการรับจำนำในปีการผลิต 2556/57 มูลค่าตามใบประทวน 1.6 แสนล้านบาท ได้รับเงินไปแล้ว 0.35 แสนล้านบาท ยังไม่ได้รับเงิน 1.246 แสนล้านบาท ปัญหานี้ทำให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ เคยกล่าวว่าได้เร่งหาเงินเพิ่มเติมมาจ่ายให้ชาวนา ที่นำข้าวมาเข้าโครงการจำนำแล้ว และคาดชาวนาจะได้รับเงินครบภายในวันที่ 25 ม.ค.นี้

นายนิพนธ์ อ้างจากรายงานแหล่งข่าวกระทรวงการคลัง และหนังสือพิมพ์ ซึ่งระบุว่า รัฐบาลพยายามหาเงินมาจ่ายให้ชาวนาหลายวิธี อาทิ การใช้สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. โดยให้กองทุนของหน่วยงานรัฐ โยกเงินมาฝากกับธกส. และให้ ธ.ก.ส. กู้เงินเพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทำลายวินัยทางการคลัง และกระทบความมั่นคงทางการเงินของ ธ.ก.ส.
รัฐบาลจะหาเงินจาก 3 แหล่ง คือ เงินของคลัง เงินยืมจากธ.ก.ส. และเงินจากการขายข้าวของพาณิชย์ เงินของคลัง คือ เงินของบรรดากองทุนหน่วยราชการต่างๆ โดยคลังให้หน่วยราชการผู้บริหารกองทุน โอนเงินมาฝากที่ ธ.ก.ส. โดยไม่ให้ถอนก่อนที่คลังจะหาเงินจากแหล่งอื่นมาคืนให้ธ.ก.ส.

เงินก้อนที่สอง คือ รัฐบาลต้องขอกู้จาก ธ.ก.ส. หรือให้ ธ.ก.ส. กู้ แล้วรัฐบาลค้ำประกัน แต่จากข้อจำกัดของเพดานการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ตามกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556/57 คลังต้องไปบังคับให้รัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่มีแผนการกู้เงินตามโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านๆ บาท ระงับ หรือลดการกู้ลง แล้วโอนเงินกู้ไปให้ ธ.ก.ส. กู้แทน ส่วนเงินก้อนที่สาม จากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 มกราคม 2557 ในชื่อ “จี้พรรคฯ แจงต้นทุนหาเสียง สกัดประชานิยมทำลายชาติ”