ธีระชัย-นิพนธ์ ยลโครงการ ‘จำนำข้าว’ ถึงเวลา ‘ประกาศเลิก’

ปี2014-01-07

เสียงร้องจากชาวนาที่ยังไม่ได้เงิน จากการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดดังขึ้นๆ และขยายวงกว้างออกไปในหลายพื้นที่ คือภาพสะท้อนปัญหาอันเกิดจากนโยบายของรัฐบาล ตัวเลขล่าสุดระบุว่า มีเกษตรกรที่ได้รับใบประทวนจากการขายข้าวให้รัฐบาลแล้วแต่ไม่สามารถมาขึ้นเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กว่า 1.15 แสนล้านบาท

ความเดือดร้อนของชาวนาคือผลกระทบล่าสุดจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล นอกเหนือจากตัวเลขขาดทุนที่นักวิชาการประเมินว่า 2 ปีการผลิตระหว่างช่วงปี 2554 ต่อเนื่องปี 2556 สูงถึง 4 แสนล้านบาท และทุ่มงบประมาณไปแล้ว 6.8 แสนล้านบาทท และจะใช้ในปีการผลิตนี้ หรือปีที่ 3 อีก 2.7 แสนล้านบาท

กับสถานะล่าสุดของ “โครงการรับจำนำข้าว” และการเมืองอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 และ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ถึงมุมมองที่มีต่อโครงการและทางออกจากกับดักนโยบายประชานิยมนี้

2 ปีพิสูจน์ “จำนำข้าว” กู่ไม่กลับ

ธีระชัย :  ผมแนะนำรัฐบาลใหม่ให้ประกาศยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวไปเลย ประกาศไปเลยว่าจากนี้ไปการจำนำข้าวจะไม่มีแล้ว  แต่หากรัฐบาลชุดเดิม (พรรคเพื่อไทย) เข้ามาบริหารและยังขืนเดินหน้าต่อ ก็จะยิ่งสร้างความเสียหายต่อฐานะการคลังของประเทศในอนาคตมากทีเดียว

“2 ปีที่ทำก็เห็นผลชัดแล้วว่าโครงการนี้ไม่สามารถผลักดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างที่คาดหวังเพราะทั้งคู่แข่งไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม, อินเดีย  ต่างก็ลงมาเร่งส่งออกข้าวแทนที่   ยิ่งทำไปปัญหาก็จะเพิ่มในหลาย ๆด้าน ทั้งการขาดทุนเพิ่มเพราะข้าวในสต๊อกนับวันมีแต่จะเสื่อมลง และยังมีความเสี่ยงจากการทุจริตในทุกขั้นตอน  ทำให้เงินรัฐหรือของธ.ก.ส. มีแต่จะติดขัดจมไปกับสต๊อกข้าว  เนื่องจากขายไม่ได้และไม่ยอมขาย

ดร.นิพนธ์ : โครงการจำนำข้าวต้องยกเลิก   รัฐบาลต้องเปลี่ยนความคิดที่จะไปแทรกแซงราคาตลาด ต้องไม่คิดที่จะค้าขายข้าวเองโดยเด็ดขาด เพราะ 2 ปีของการแทรกแซงการขาย  พิสูจน์แล้วว่าเป็นช่องทางการทุจริต ทุจริตมากสุดคือทุจริตในการระบายข้าว และรัฐบาลยังเป็นตัวช่วย ด้วยการปิดบังข้อมูลซึ่งเสมือนการรู้เห็นเป็นใจ ทั้งที่ข้าวส่วนใหญ่ขายในประเทศ ไม่มีเหตุผลต้องปิดบังข้อมูล

ทั้งนี้จากการสำรวจของทีดีอาร์ไอ พบว่า 2 ฤดูการผลิตของรัฐบาลนี้ การทุจริตจากการแทรกแซง-ระบายขายข้าว มีสัดส่วนถึง 33% ขณะที่สัดส่วนผลประโยชน์ตกถึงมือเกษตรกรอยู่ที่ 65-67% แต่หากอัพเดตถึง 2 ปีการผลิต (ปี 2554/55-2555/56)  ผมเชื่อว่าสัดส่วนความเสียหายจากทุจริตจะมากกว่า 33- 35% แน่

แนะเปลี่ยนวิธีอุดหนุนเกษตร

ธีระชัย :  ผมแนะว่าเมื่อรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกจำนำข้าวชัดเจนแล้ว ส่วนของเกษตรกรที่นำข้าวไปจำนำและได้รับใบประทวนแล้ว เป็นความจำเป็นที่รัฐต้องรับผิดชอบหาเงินมาจ่ายให้ครบ   ขณะเดียวกันก็ต้องหากระบวนการเร่งขายข้าวในสต๊อกออกให้เร็วที่สุด  โดยรัฐควรตรวจรับสภาพสต๊อกข้าวที่เหลืออยู่เป็นประจำ ว่ามีอยู่จริงและมีสภาพจริงอย่างไร  พร้อมเร่งดำเนินการขายออกไปโดยผ่านสินค้าเกษตรล่วงหน้า หรือเปิดประมูลเป็นล็อตแต่ละครั้งไม่ใหญ่มากเพื่อเร่งเคลียร์

ส่วนวิธีการช่วยเหลือเกษตรกรหลังจากนี้ควรหันมาเน้นการให้ความรู้ในเรื่องการลดต้นทุนอุปกรณ์ ปุ๋ย และเรื่องของวิธีการเก็บสต๊อก รวมถึงการหาตลาดขาย ซึ่งจะเป็นวิธีการช่วยที่ตรงจุดมากสุด

“หลักการในจำนำข้าวที่ควรเป็น คือการช่วยเหลือเงินหมุนเวียนให้แก่เกษตรกรและเป็นการช่วยชั่วคราว ซึ่งหากเป็นไปตามหลักการนี้  ราคาที่ช่วยเหลือจริงควรต่ำกว่าตลาดด้วยซ้ำ คือประมาณ 80% ของราคาตลาด อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ถ้ารัฐบาลยังเห็นความจำเป็นต้องช่วยเหลือเงินอุดหนุนเกษตร ก็ควรช่วยเหลือด้านต้นทุน และใช้วิธีจ่ายตรงเข้าบัญชีเกษตรกรที่เปิดไว้กับ ธ.ก.ส. วิธีนี้โอกาสรั่วไหลจะน้อยกว่ามาก”

ดร.นิพนธ์ : รัฐต้องเปลี่ยนจากโครงการจำนำข้าว มาเน้นช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรที่ยากจนเป็นหลัก โดยดูว่าเกษตรกรกลุ่มนี้มีจำนวนผลผลิตเท่าไรและให้ความช่วยเหลือโดยตรง โดยไม่ไปยุ่งกับแทรกแซงการขายข้าว หากทำได้ผมเชื่อว่าจะลดส่วนสูญเสียจากการทุจริต 33 %  และผลประโยชน์ส่วนนี้จะตกสู่เกษตรกรแทน  และหลักการ การช่วยเหลือโดยจำนำทุกเมล็ด ความจริงก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้   ถ้าช่วยทุกเมล็ดได้ ทำไมไม่ไปช่วยเกษตรกรรมอื่น ๆหรือผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ อีกอย่าง ไทยเป็นประเทศส่งออก หากจะช่วยวิธีนี้ก็มีแต่ต้องควักกระเป๋า

บทเรียน 2 ปีที่ผ่านมาก็มีให้เห็น กรอบวงเงินโครงการนี้ ครม. ตั้งวงเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ที่ 5 แสนล้านบาท ยังทะลุเกินไปถึง  6.8 แสนล้านบาท และเริ่มเห็นสัญญาณว่ารัฐขาดสภาพคล่องมาตั้งแต่ฤดูกาลที่ 4 (นาปี) ของปีที่ 2 (ปี 2555/56) ทำให้ค้างจ่ายเกษตรกรกว่าแสนล้านบาท (ข้อมูลคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ  (กขช.) ระบุไม่ต่ำกว่า 1.15 แสนล้านบาท ปริมาณ 7.3 ล้านตัน) และสันนิษฐานของผมก็คือเพราะ 1. รัฐขายข้าวไม่ได้ 2. บริษัทที่ได้อภิสิทธิ์การขายข้าวจากรัฐ ไม่นำเงินมาส่งคืน

“ความเสียหายจากการที่รัฐบาลนี้ไม่เงินจ่ายเกษตรกรกว่าแสนล้านบาท พรรคเพื่อไทยควรแสดงความรับผิดชอบควักเงินพรรค จ่ายดอกเบี้ยชดเชยคืนให้ชาวนา โดยไม่ใช้เงินภาษีของประชาชน เพราะถือว่ารัฐดำเนินนโยบายผิดพลาดเอง”

จี้ตรวจสต๊อกเชิงลึก-เร่งเคลียร์ขาย

ส่วนปัญหาสต๊อกข้าวหลังรัฐถอยโครงการจำนำข้าวแล้ว  ต้องเร่งเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง และเปิดเผยต่อสาธารณชนโดยเร่งด่วน เพราะเชื่อว่าจะมีการทุจริตอย่างมโหฬาร โดยเฉพาะการเข้าไปซื้อข้าวเก่าในสต๊อกรัฐบาลมาส่งเป็นข้าวใหม่ เพราะดูจากตัวเลขแล้วมีข้าวเก่าสมัยก่อน (ก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์) ที่ขายไม่ได้ แต่มารัฐบาลนี้กลับขายได้หมด (ข้างเก่าค้างหลายปี)  จึงสันนิษฐานว่าพ่อค้าหัวใสบางคนที่มีอิทธิพลทางการเมือง ไปขอซื้อข้าวเก่า แล้วเอาข้าวใหม่ที่จำนำไปขายในตลาดได้ราคาดี แต่ข้าวเก่าที่ซื้อมากลับไปส่งในโกดังแทนข้าวใหม่

“ผมย้ำว่ารัฐบาลต้องเข้าไปตรวจสอบสต๊อก ตรวจบัญชีเพื่อให้ตรงกันว่าเป็นข้าวปีไหน โดยตรวจสอบเชิงลึกและตรวจทั่วประเทศ ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ามีการทุจริตมากน้อยแค่ไหน และต้องหาบุคคลมารับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือบริษัทที่ทุจริต  ที่สำคัญเพื่อไม่ให้ราคาข้าวในตลาดตก  รัฐต้องเผาข้าวเก่าทิ้งให้หมดโดยอาจออกเป็นกฎหมาย เพราะการมีสต๊อกข้าวจะเป็นตัวฉุดราคาข้าวในตลาดให้ต่ำ เนื่องจากพ่อค้าคิดเสมอว่ารัฐบาลต้องขายข้าวออกสู่ตลาด  ส่วนข้าวที่ยังมีคุณภาพก็ต้องหาวิธีจัดการการขายให้โปร่งใส”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 5-8 มกราคม 2557 ในชื่อ “ธีระชัย-นิพนธ์ ยลโครงการ ‘จำนำข้าว’ ‘ถึงเวลาประกาศเลิก’”