ยกมาตรฐานรถสาธารณะลดความรุนแรงอุบัติเหตุ

ปี2014-01-07

สุริยัน ปญญาไว

ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2557 ที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วยอุบัติเหตุสะเทือนใจบนท้องถนน หลังจากรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ บริษัท สมบัติทัวร์ จำกัด สาย ขอนแก่น-เชียงราย เสียหลักเบียดชนราวสะพานพ่อขุนผาเมือง ก่อนพลิกคว่ำตกตกลงไปในเหวลึก บนถนนทางหลวงหมายเลข 12 (AH16) กม.18+500 ระหว่าง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ จนเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 31 ศพ และบาดเจ็บอีก 4 ราย จากการรายงานข่าวตามสื่อต่างๆ ระบุตรงกันว่า สาเหตุเกิดจากการขาดความระมัดระวัง ขับรถลงเขาด้วยความเร็วสูง

สอดคล้องกับข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ด้านความปลอดภัยทางถนน ทั้งศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิไทยโรดส์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ที่ระบุว่าสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เกิดจากความประมาณขับรถด้วยความเร็วสูง ทำให้เมื่อรถยนต์เสียหลักผู้ขับขี่จึงไม่สามารถควบคุมรถได้

ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่แล้วนั้น อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวเสริมความรุนแรงของอุบัติเหตุ คือ โครงสร้างและมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะรถทัวร์ที่วิ่งใช้บริการทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง เนื่องจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการ จำนวนมากในแต่ละปี

สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และเป็นผู้วิจัยมาตรฐานและความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะไทย บอกว่าที่ผ่านมาแม้ว่าจำนวนอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก แต่ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งจะมีความสูญเสียค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะนั้น ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานตัวโครงสร้างรถอยู่มากพอสมควร

จากการวิจัยและติดตามข่าวสาร พบว่า เฉลี่ยแล้วในระยะเวลา 1-2 เดือนจะต้องมีอุบัติเหตุครั้งใหญ่ๆ เกิดขึ้น อย่างเช่นกรณีเมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2556 ที่ผ่านมา รถโดยสารรับจ้างไม่ประจำทาง เกิดอุบัติเหตุตกเขาที่ จ.ลำปาง จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 20 ราย เหตุการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ทั้งในเรื่องของปัจจัยด้านเส้นทางที่อันตราย ปัญหาความพร้อมของพนักงานขับรถ รวมถึงปัญหามาตรฐานของตัวรถโดยสารเอง ที่เมื่อเวลาเกิดอุบัติเหตุไม่สามารถรักษาชีวิตของผู้โดยสารได้

ทั้งนี้ ประเด็นหลักเป็นการสอบสวนสาเหตุเชิงลึกหลังเกิดอุบัติเหตุ เราจะดูทั้งในเรื่องของล้อรถหรือเครื่องยนต์มีการทำงานบกพร่องหรือไม่อย่างไร และดูตัวโครงสร้างของรถด้วยว่ายังคงอยู่มากน้อยขนาดไหน มีการทำงานที่ผิดพลาดไปจากการออกแบบไว้หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบปัญหาเบาะที่นั่งหลุดกระเด็น ถือเป็นปัญหาหลัก เพราะเวลาเกิดอุบัติเหตุ แม้ว่าผู้โดยสารจะคาดเข็มขัดนิรภัย แต่หากเบาะที่นั่งหลุดกระเด็นออกมา ไม่ว่าจะอยู่ภายในตัวรถหรือกระเด็นออกมาภายนอกรถ โอกาสเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสค่อนข้างสูง

“ในเรื่องมาตรฐานและความแข็งแรงของเบาะที่นั่ง จริงๆ แล้ว มีประเด็นสำคัญอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.การฉีกขาดของเบาะเวลาเกิดการกระแทก 2.ความแข็งแรงของจุดยึดที่นั่งสามารถยึดติดกับโครงสร้างรถได้มากน้อยขนาดไหน โดยที่ผ่านมาแม้ว่าในประเทศไทยกรมการขนส่งทางบกจะได้มีการศึกษาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีการกำหนดให้เป็นมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานสากล ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกระตุ้นหน่วยงานรัฐเร่งดำเนินการตามแผนและประกาศบังคับใช้โดยเร็ว”

นอกจากนี้ในส่วนของเข็มขัดนิรภัยก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าขณะนี้กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ได้ประกาศบังคับออกมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2555 แล้วว่าทุกเบาะที่นั่งในรถโดยสารสาธารณะต้องมีเข็มขัดนิรภัย แต่ที่ผ่านมาก็ยังคงมีปัญหาในเรื่องของการบังคับใช้ หลายๆ ครั้งประชาชนไม่ค่อยได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในส่วนนี้เท่าไหร่นัก จึงไม่นิยมคาดเข็มขัดนิรภัย ตรงนี้อาจต้องขอความร่วมมือจากสื่อต่างๆ ช่วยกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์

ขณะเดียวกันประเด็นสำคัญที่พบได้ค่อนข้างบ่อย และเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักวิชาการ รวมทั้งบุคลากรที่ทำงานด้านความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ คือเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้น จนเกิดเป็นคำถามว่าจริงๆ แล้ว รถโดยสารสองชั้นมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะการนำมาวิ่งให้บริการในบ้านเรา เพราะต้องไม่ลืมว่าความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะถนนในประเทศไทยเรามีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เช่น เส้นทางลงเขาหลายๆ จุด ก็มีความลาดชันมากเกินไป เมื่อนำรถโดยสารสองชั้นมาวิ่งให้บริการจึงไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร

อย่างไรก็ดีเนื่องจากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอาจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่เราสามารถดำเนินการได้ก่อน คือการยกระดับมาตรฐานของตัวรถโดยสารสาธารณะ โดยต้องพิจารณาว่าปัจจุบันเทียบเคียงกับมาตรฐานสากลมากน้อยแค่ไหน

สุเมธ อธิบายถึงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องในส่วนนี้ว่า มีอยู่ 2 ส่วนหลัก คือ 1.มาตรฐานการทดสอบพื้นเอียง ซึ่งขณะนี้กรมการขนส่งทางบกได้ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. 2556 ที่ผ่านมา โดยให้รถโดยสารใหม่ที่มีความสูงมากกว่า 4 เมตร ต้องผ่านการทดสอบพื้นเอียงก่อน ถึงจะสามารถจดทะเบียนรถได้ ทว่าในเบื้องต้นพบว่ารถที่เข้ามาทดสอบประมาณ 20% ไม่ผ่านการทดสอบ

ขณะที่ข้อมูลจากการสัมมนาความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 11 เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก บอกว่า ปัจจุบันตัวเลขรถโดยสารสองชั้นไม่ผ่านการทดสอบนั้น เพิ่มมากขึ้นเป็นกว่า 50% นี่จึงเป็นปัญหาในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ทำอย่างไรถึงจะสามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมต่อรถของบ้านเราได้อย่างไร”

เขาบอกว่า การทดสอบพื้นเอียงเป็นการวัดความสามารถในการทรงตัวของรถโดยสารสองชั้น เมื่อวิ่งผ่านทางโค้งบริเวณทางลาดชันว่าจะสามารถทรงตัวโดยรถไม่พลิกคว่ำได้หรือไม่ นอกจากนี้ก็ยังมีมาตรฐานตัวโครงสร้างรถที่มีความสำคัญเชื่อมโยงกันด้วย เพราะในที่สุดเมื่อหลีกเลี่ยงการอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำไม่ได้ การมีโครงสร้างรถที่แข็งแรงและได้มาตรฐานก็จะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุได้

โดยที่ผ่านมาแม้ว่าประเทศไทยจะได้มีการศึกษามาตรฐานนี้แล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการประกาศบังคับใช้เพื่อให้ผู้ประกอบการนำรถมาทดสอบ ซึ่งการทดสอบมาตรฐานโครงสร้างรถจะดูว่าเมื่อรถพลิกคว่ำแล้ว ตัวโครงสร้างจะต้องยุบตัวไม่มากนัก จนก่อให้เกิดอันตรายของผู้โดยสารที่อยู่ในรถ

“ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าอุบัติเหตุรถโดยสารในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุตกเขา ตกเหว ตกข้างทาง ส่วนใหญ่หลังคารถชั้นสองจะหลุดกระเด็น จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นรถเปิดประทุน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่อันตรายมากเพราะผู้โดยสารที่นั่งอยู่ชั้นสองไม่มีอะไรป้องกันเลย ส่วนใหญ่ผู้โดยสารจึงเสียชีวิตจากการกระเด็นออกมานอกตัวรถ” สุเมธ กล่าวทิ้งท้าย


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 มกราคม 2557 ในชื่อ “ยกมาตรฐานรถสาธารณะลดความรุนแรงอุบัติเหตุ”