tdri logo
tdri logo
21 มกราคม 2014
Read in Minutes

Views

ส่องวิกฤติการเมือง มุ่งปฏิรูประบบสังคม

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองระยะนี้ หากมองออกเป็น 2 ประเด็น น่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง เพื่อคืนอำนาจสู่มือประชาชน กับอีกฝ่ายที่ต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งอำนาจก็จะกลับคืนไปสู่คนกลุ่มเดิม และจะไม่มีอะไรที่ดีขึ้นในเรื่องดังกล่าว

“สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบัน TDRI มองว่าการเลือกตั้งและการปฏิรูปเป็นประเด็นที่ผู้ที่ร่วมในเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการและประชาสังคม ไม่ได้มีความคิดเห็นตรงกันทั้งหมดในรายละเอียด แม้ว่าจะมีแนวคิดพื้นฐานเหมือนกันคือ การยึดหลักการและแนว ทางของประชาธิปไตย การคัดค้านการรัฐประหารและการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ตลอดจนการสนับสนุนการปฏิรูปประเทศบนวิถีทางประชาธิปไตย

ฝ่ายหนึ่งให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการมีเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ด้วยเหตุผลที่ผมก็เคารพ คือการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป โดยอ้างว่าจะต้องปฏิรูปประเทศให้เสร็จสิ้นก่อน จะเปิดช่องให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง และทำลายกติกาประชาธิปไตย ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความรุนแรง เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยได้แสดงความต้องการที่จะรักษาสิทธิในการเลือกตั้งของตนไว้ ดังจะเห็นได้จากการรณรงค์ Respect My Vote ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งผมด้วย มีความเห็นว่า การมุ่งเดินหน้าเพื่อจัดการเลือกตั้งให้ได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ไม่ว่าจะเกิดผลลัพธ์อะไรตามมาก็ตาม ก็น่าจะทำให้เกิดปัญหาเช่นกัน ส่วนตัวผมคิดว่า การเลือกตั้งโดยที่คู่ขัดแย้งที่สำคัญอีกฝ่ายหนึ่ง คือทั้งพรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. ไม่ยอมรับ จะไม่ทำให้ความขัดแย้งลดลงและช่วยให้เราออกจากจุดอับทางการเมืองได้ ทั้งนี้ เป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตเหมือนที่เกิดในบังกลาเทศ

จริงอยู่ เราอาจกล่าวได้ว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมในการเลือกตั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่ผมไม่เห็นว่า ลำพังการกล่าวโทษเช่นนั้น จะทำให้เราออกจากจุดอับในปัจจุบันได้อย่างไร

ผมเชื่อว่า ภาพที่คนไทยจำนวนไม่น้อยอยากเห็นก็คือ ในเวลาอีกไม่นานเกินไป จะมีการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วม โดยทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ในกรณีนี้ การเลือกตั้งจะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างแท้จริง

จากความแตกต่างกันดังกล่าว ข้อความที่ทุกฝ่ายในเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ยอมรับร่วมกันคือ “เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ” โดยไม่ได้ระบุว่าจะต้องเลือกตั้งให้ได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้ หากรัฐธรรมนูญมีช่องทางให้สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เราก็สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ แต่เราไม่ควรเลื่อนการเลือกตั้งเพียงเพราะมีฝ่ายใดไปขัดขวาง
โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า เราควรเลื่อนการเลือกตั้งออกไป โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมจากที่กล่าวมาข้างต้นดังนี้คือ หนึ่ง การเลื่อนต้องเกิดขึ้นจากความเห็นพ้องของพรรคการเมืองทั้งหลาย เพื่อทำให้พรรคการเมืองต่างๆ กลับเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง สอง ต้องไม่เลื่อนออกไปนานเกินสมควร เช่น ไม่ควรเกิน 4-5 เดือน สาม ต้องเป็นการเลื่อนเพียงครั้งเดียว ไม่ใช่เลื่อนไปเรื่อยๆ สี่ ในระหว่างนี้ รัฐบาลโดยความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ ควรเริ่มกระบวนการปฏิรูปทางการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นหัวใจของความขัดแย้งในครั้งนี้ เช่น การวางกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของเสียงข้างมาก เพื่อให้เสียงข้างน้อยมั่นใจได้ว่า สิทธิเสรีภาพและพื้นที่ของเขาจะไม่ถูกลิดรอนอย่างไม่เป็นธรรม ผมเชื่อว่า หากมีสัญญาณที่น่าเชื่อถือว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จริง โอกาสที่สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติก็จะเกิดได้มากขึ้น

ในด้านของการปฏิรูปนั้นอาจารย์ “นิสดารก์ เวชยานนท์” คณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ NIDA เห็นว่า เป็นโอกาสดีที่จะทำการปฏิรูประบบราชการให้มีความแข็งแกร่ง ปราศจากการแทรกแซงของข้าราชการฝ่ายการ เมือง ที่มักเข้าครอบงำการทำงาน ทั้งการแต่งตั้งตัวแทนเข้ามาประจำในกระทรวงต่างๆ หรือเกิดการกลั่นแกล้งโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ข้าราชการประจำเกรงกลัวและต้องทำตามคำสั่งจากฝ่ายการเมืองแม้บางนโยบายจะส่งผลเสียต่อประเทศก็ตาม

ทั้งนี้ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตบุคลากรบริหารงานราชการแผ่นดิน จึงจัดทำวิจัยเพื่อเสนอแนะให้แก่ผู้ที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ โดยมุ่งหวังให้เกิดการปฏิรูประบบราชการไทยให้มีความเข้มแข็ง ผ่าน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ การปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน การปฏิรูปการบริหารงานบุคคลของภาครัฐ และการปฏิรูปการกำหนดนโยบายที่มีผลต่อการบริหารประเทศ เพื่อให้ข้าราชการประจำเป็นเสาหลักของประเทศได้อย่างแท้จริง

การปฏิรูประบบราชการของ ไทยที่ผ่านมา มีทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดในปี 2544-2545 ที่ทำให้ระบบราชการกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือฝ่ายการเมือง โดยเป็นยุคที่มีการแต่งตั้งโยกย้ายคนของฝ่ายการเมืองเข้ามาในกุมอำนาจในการบริหารงาน ทั้งในระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ส่งผลให้ข้าราชการประจำกลายเป็นผู้สนองนโยบายตามคำสั่งของข้าราชการฝ่ายการเมืองมากกว่าการทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์หรือรับใช้ประชาชนเจ้าของประเทศ

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงควรเร่งกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ส่วนท้องถิ่น โดยเปิดให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารท้องถิ่น และพัฒนาชุมชนของตนเอง เช่น การเปิด โอกาสให้มีการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจากการลงพื้นที่ทำการวิจัยพบว่า ประชาชนในท้องถิ่นมีความต้องการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเองมากกว่า

ขณะเดียวกันการกำหนดนโยบายบริหารประเทศต่างๆ จากข้าราชการฝ่ายการเมือง หากนโยบายดังกล่าวได้ส่งผลเสียต่อประเทศ เช่น โครงการประชานิยมต่างๆ ผู้กำหนดนโยบายให้ข้าราชการปฏิบัติจะต้องรับผิดชอบด้วยการรับโทษคดีทางแพ่ง จากเดิมที่ข้าราชการประจำ มักถูกกล่าวโทษจากการปฏิบัติหน้าที่แต่เพียงฝ่ายเดียว

“ข้าราชการประจำถือเป็นเสาหลักของประเทศ เราต้องทำให้เสาหลักนี้กลับมาเข้มแข็ง ปลุกคุณธรรมจริยธรรมของข้าราชการไม่ให้เกรงกลัวอำนาจจากฝ่ายการเมือง ยึดความถูกต้องเพื่อประโยชน์ของประเทศมากกว่ากลุ่มพวกพ้องนักการเมือง ดังนั้น การปฏิรูปข้าราชการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ข้าราชการไทย เป็นผู้รับใช้ประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้า ของประเทศอย่างแท้จริง” นักวิชาการ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ วันที่ 18-24 มกราคม 2557 ในชื่อ “ส่องวิกฤติการเมือง มุ่งปฏิรูประบบสังคม”

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด