ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลพวงจากการชุมนุมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ทำให้สังคมต้องกลับมาพูดถึงคำว่าปฏิรูปประเทศอีกครั้ง
แม้เป็นข้อเสนอที่ยังคงไม่เห็นความชัดเจนเป็นรูปธรรม แต่อย่างน้อยก็ทำให้นักการเมือง นักวิชาการ และประชาชน ร่วมกันถกเถียง-วาดฝันในโลกแห่งความเป็นจริงถึงแนวทางการปฏิรูปไปต่าง ๆ นานา
บ้างฝันเห็นการปฏิรูปการเมือง-นักการเมือง ให้ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งในระบบเลือกตั้งและระบบการบริหารงานประเทศ
บ้างฝันเห็นการปฏิรูปสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน เพื่อทำให้ประเทศมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด
วาระที่กระแสการปฏิรูปดังก้องทั่วทุกมุมในประเทศ “ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “สมชัย จิตสุชน” แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หนึ่งในนักฝันที่อยากเห็นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจที่นำไปสู่พัฒนาการทางการเมืองในที่สุด
การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจควรเริ่มจากตรงไหน
สิ่งที่ผมให้ความสำคัญค่อนข้างสูงคือลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยต้องทำนโยบายการคลังให้มันดี โดยเฉพาะด้านรายจ่ายภาครัฐ ที่ต้องทำให้แน่ใจว่าเงินทุกบาทที่รัฐบาลจ่ายออกไปมันเข้าถึงคนจนมากกว่าคนรวย เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนว่าคนรวยจะได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายของภาครัฐมากกว่า
ยกตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษา เราก็อุดหนุนในเรื่องอุดมศึกษามากกว่าการที่จะเพิ่มคุณภาพทางการศึกษาให้กับคนรากหญ้า ซึ่งผมว่ามันเกินความจำเป็น
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ก็ดูเหมือนว่าคนรวยจะได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่มาก กว่า แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเราขาดหายไปจริง ๆ คือ การทำสวัสดิการพื้นฐานที่ตั้งเป้าเพื่อคนจนจริง ๆ อันนี้คือสิ่งที่อยากจะเห็นในการปฏิรูป
โดยสิ่งที่ผมอยากนำเสนอคือ การจัดทำสวัสดิการถ้วนหน้าที่ทุกคนได้ประโยชน์ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา โดยมีหลักการเบื้องต้นคือ ตั้งแต่เกิดแม่ได้รับสวัสดิการเรื่องการบำรุงครรภ์ รวมถึงการดูแลทางการแพทย์ที่ดี ในวัยเรียนควรได้รับค่าเลี้ยงดูบุตร รวมไปถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพอย่างน้อย 15 ปี
สวัสดิการสำหรับคนวัยทำงานแรงงานทุกคนควรมีสวัสดิการเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ที่อยู่ในระบบและนอกระบบ
ด้านผู้สูงอายุก็ควรเพิ่มเบี้ยยังชีพแก่ ผู้สูงอายุ โดยอ้างอิงจากเส้นความยากจน ขณะที่ผู้พิการก็ควรได้รับค่าครองชีพพื้นฐานแบบถ้วนหน้า และบังคับใช้กฎหมายควบคุมสิ่งก่อสร้างให้เอื้อต่อการเข้าถึงและใช้บริการของผู้พิการ
นอกจากนั้น ผมยังอยากเห็นนโยบายที่เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาคนจนโดยเฉพาะ อาจใช้ฐานข้อมูลที่ทีดีอาร์ไอเคยนำเสนอผ่านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ มาประยุกต์ใช้ก็ได้
โดยนำไปศึกษาร่วมกับนโยบายการ กระจายอำนาจทางการคลัง เช่น พื้นที่ไหนมีความยากจน ก็สมควรจะได้รับงบประมาณในการพัฒนามากหน่อย โดยทำกฎหมายกำกับไปว่า ต้องเอาเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือสังคม แนวทางแบบนี้ก็ถือว่าช่วยคนจนได้มาก
ขณะที่ภาคแรงงานก็ควรได้รับการสนับสนุนเรื่องการฝึกฝีมือแรงงานอย่างจริงจัง ไม่ใช่การทำกระจัดกระจายอย่างทุกวันนี้ ส่วนภาคการเกษตร สิ่งที่ผมอยากจะเห็นก็คือ เข้าไปช่วยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ พันธุ์พืชใหม่ ๆ เรื่องเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาความ เหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนพ้นเส้นความยากจนได้
นโยบายทั้งหมดต้องใช้เงินเท่าไร
ถ้าจะทำสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้าที่ทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียม คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 2-3 แสนล้านบาทต่อปี
ตรงนี้ขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐจะปรับแต่งว่าจะให้เงินมากหรือน้อยแต่ละนโยบายอย่างไร และถ้าเป็นนโยบายที่ช่วยเหลือเฉพาะคนจนก็จะใช้เงินแค่ 8 หมื่นล้านบาท เพราะเรามีคนจนจริง ๆ อยู่ประมาณ 10%
ผมเข้าใจว่าเป็นตัวเลขงบประมาณที่ดูค่อนข้างเยอะ แต่ในทางกลับกันอยากให้ทุกคนคิดว่า การใช้เงินหลักแสนล้านบาท แต่ทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียม ผมว่ามันคุ้มค่ากว่าการดำเนินนโยบาย ที่ช่วยเหลือเฉพาะคนบางกลุ่ม
อย่างโครงการรับจำนำข้าว ที่มีเพียงกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ และเอาเข้าจริง เงินก็ถึงมือพวกเขาไม่มากนัก
นอกจากนั้นหากต้องการหาเงินเข้าภาครัฐเพิ่มเติม ผมก็เสนอให้ปฏิรูประบบการคลังไปพร้อมกัน ทั้งการโยกเงินจากโครงการประชานิยมมาใช้ในโครงการอื่น ทั้งการหยิบกฎหมายภาษีมาพิจารณา
ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายปฏิรูปที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ควรจะต้องผลักดันให้จบ ซึ่ง คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง (รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง) ทำงานมา 2 ปี ก็ไม่ยอมผลักดัน ผมก็ไม่เข้าใจ ทั้งที่ เป็นนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และทั้ง ๆ ที่รัฐบาลเพื่อไทยก็เป็นรัฐบาลที่มาจากเสียงรากหญ้าด้วยซ้ำ
ควรเริ่มต้นแก้ปัญหาจากตรงไหน
ต้องทำเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า ถ้าบอกว่าใช้ 2 แสนล้านบาททำทุกอย่างมันแพงไป ก็เริ่มต้นเฉพาะบางเรื่องก่อนก็ได้ เช่น เงินสงเคราะห์บุตร ใช้เงินหลักหมื่นล้านบาทเอง คุณแค่ประกาศลดราคาจำนำข้าวจากตันละ 15,000 บาทเหลือตันละ 12,000 บาท คุณมีเงินเหลือมาทำตรงนี้แล้ว
และถ้าคุณกลัวว่าชาวนาจะประท้วง เวลาไปหาเสียง คุณก็ไปบอกพวกเขาสิว่า เหตุผลที่ต้องลดราคาจำนำ เพราะต้องการนำเงินไปช่วยเหลือลูกหลานคนไทยทั้งประเทศ ผมว่าพวกคุณมีคำอธิบายได้อยู่แล้ว ถ้าทำอย่างนี้มันเกิดเป็นรูปธรรมที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง
ถ้าปลดล็อกเรื่องความเหลื่อมล้ำได้จะทำให้ประชาธิปไตยของประเทศก้าวหน้าไปด้วย
ช่วยได้แน่นอน มันจะทำให้ประชานิยมเกิดขึ้นได้ยาก ถ้าลดความเหลื่อมล้ำได้ คนที่เคยเป็นรากหญ้าก็เติบโตขึ้นจนขยายตัวเป็นฐานของชนชั้นกลาง และเมื่อพวกเขาเป็นผู้เสียภาษีเหมือนกัน เขาก็จะเริ่มคิดถึงนโยบายที่เป็นภาระทางภาษีมากขึ้น
แล้วที่สำคัญกว่านั้น ความขัดแย้งทางการเมืองจะเบาบางลง เพราะอุดมคติทางการเมืองมันไปผูกโยงกับฐานะด้วย ถ้าทำให้ฐานะคนใกล้กันมากขึ้น ความขัดแย้งทางการเมืองก็จะเบาบางลง
สิ่งเหล่านี้ต้องรีบทำ แต่เรื่องลดความเหลื่อมล้ำต้องใช้เวลานานมาก อาจจะหนึ่งชั่วอายุคนเป็นอย่างน้อย แต่ถ้ามันเป็นมาตรการที่ดีจริง และคุณนำเสนอได้ดีจริง ผมว่าในทางการเมืองมันก็ซื้อใจทุกฝ่ายได้
ผมเชื่อว่าม็อบนกหวีดที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนรวยที่ไม่เห็นหัวคนจน ผมว่าจำพวกนี้มีอยู่ไม่เยอะ และส่วนใหญ่พร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายที่ช่วยเหลือคนรากหญ้าได้จริง โดยไม่อิงเรื่องประชานิยม
ดังนั้นหากข้อเสนอปฏิรูปมีนโยบายที่เอาเงินไปช่วยคนรากหญ้า ผมว่าม็อบนกหวีดคงไม่มีปัญหากับเรื่องนี้ เพราะเขามีปัญหาเรื่องการโกงกินของนักการเมืองมากกว่า
ถ้าเราอุดช่องโหว่ตรงนี้ได้ ผมคนหนึ่งที่พร้อมจะสนับสนุนให้เขากลับมาเป็นรัฐบาล
ช่วงเวลา 2 ปีของรัฐบาลได้มองเห็นทิศทางการปฏิรูปอย่างไร
ไม่เห็นเลย ทั้ง ๆ ที่บางเรื่องจะทำเลยก็ทำได้ ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่มีเวลา เช่น ปฏิรูประบบภาษี ก็แค่หยิบมาพิจารณาและดันเรื่องให้จบ ถ้าลำบากใจที่จะทำเรื่องที่ดิน ผมก็เห็นบางคนพูดเรื่องภาษีกำไรหุ้นก็เป็นการเก็บภาษีของผู้มีอันจะกินไปช่วยคนจน แต่สุดท้ายผมก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น
ขณะเดียวกันเขาก็ลดภาษีลงไปอีก นี่ก็เป็นประชานิยมเกินไป ก็มีการอ่านเกมกันว่า พรรคเพื่อไทยมองเห็นเสียงคนรากหญ้าอยู่ในมือเป็นของตาย ที่ผ่านมา จึงออกนโยบายเอาใจคนชั้นกลางเพื่อขยายฐานเสียง ซึ่งมันเป็นการพิจารณาทางการเมืองมากกว่าการเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง
สิ่งเดียวที่ผมอยากตำหนิคือ ปัญญาชน คนเสื้อแดงหายไปไหน กลุ่มคนที่บอกว่าไม่ได้รักคุณทักษิณนักหนา แต่คุณต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ ทำไมไม่เอาเรื่องประเภทนี้ไปบอกมวลชนเสื้อแดงของคุณ
ผมเชื่อว่าถ้าพวกคุณเรียกร้องเพื่อคนรากหญ้าที่แท้จริง รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ก็ต้องทำตามอยู่แล้ว เพราะพวกคุณคือฐานเสียงเขา
และถ้าเป็นไปได้เราอยากเห็นข้อเสนอการปฏิรูปเวอร์ชั่นคนเสื้อแดง ผมเห็น พูดกันแต่ว่าให้ไปเลือกตั้ง ให้เคารพในประชาธิปไตย ซึ่งมันแคบไปแล้ว คุณควรจะพูดด้วยว่าประเทศต้องปฏิรูป
ผมเชื่อว่าไปถามพวกเขารายตัวก็คงเห็นด้วยว่าต้องปฏิรูป แต่ทำไมยังไม่มีข้อเสนอเวอร์ชั่นคนเสื้อแดง สังคมจะได้เปิดกว้าง ไม่ใช่ มองเห็นแต่แผนปฏิรูปของกำนันสุเทพ (เทือกสุบรรณ)
การปฏิรูปประเทศเคยถูกพูดถึงเมื่อ 3-4 ปีก่อน แต่ก็ทำไม่สำเร็จ คิดว่าครั้งนี้ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่
ที่พูดถึงก็เป็นสมัยที่คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัญหาก็คือพอเปลี่ยนรัฐบาลแล้วไม่มีคนสนใจ ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย ผมเชื่อว่าถ้ามีเวลาอีกสักหน่อย คุณอภิสิทธิ์ต้องหยิบบางเรื่องมาทำให้เสร็จ เพราะเขาเป็นคนตั้งคณะกรรมการเอง
และเมื่อเราพูดถึงการปฏิรูปในปีนี้ ผมก็ว่ามีทางเป็นไปได้ เพราะคุณยิ่งลักษณ์เองก็พูดว่า เห็นด้วยกับหมอประเวศ (วะสี) แต่ก็ไม่รู้ว่าพูดแค่หลบเลี่ยงทางการเมืองหรือไม่ ก็ต้องคอยดูกันต่อไป
แต่แผนการปฏิรูปมักสะดุดเพราะการเมืองที่ถูกจำกัดด้วยเวลา พอเปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่
ผมว่าเราบรรจุในรัฐธรรมนูญค่อนข้างชัวร์กว่า ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ต้องปฏิบัติตาม เพราะสภาปฏิรูปเวอร์ชั่นกำนันสุเทพ เราไม่รู้ว่าระยะเวลาจะอยู่นานแค่ไหน และอำนาจทางกฎหมายไม่มี
ผมไม่อยากให้ข้อเสนอเหล่านี้ต้องถูกมองข้ามและเก็บทิ้งไว้เหมือนผลงานของคณะกรรมการปฏิรูปที่มีหมอประเวศเป็นประธาน อันนั้นเราร่วมทำงานกันมาตั้ง 2 ปี แต่สุดท้ายมีหนังสือรายงานเล่มหนา ๆ ออกมา แต่ไม่มีใครหยิบไปใช้
และความจริงหลายข้อเสนอมันถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ผมไม่รู้จริง ๆ ว่าควรทำอย่างไร คงต้องขอความรู้จากผู้รู้ด้านกฎหมายมาประกอบ เพื่อทำให้ข้อเสนอทั้งหมดถูกบังคับใช้และเกิดผลในทางปฏิบัติ
คิดว่ากระแสการปฏิรูปครั้งนี้จะกลายเป็น โลกในความฝันอีกหรือไม่
กังวลสิ ยิ่งถ้าไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม มันจะกลายเป็นยูโทเปีย
แต่ที่ผมกล่าวไปทั้งหมดมันก็ไม่ใช่ยูโทเปียเสียทีเดียว เพราะต่างประเทศเขาเคยทำสำเร็จกันมาแล้ว ซึ่งหมายความว่ามันเกิดขึ้นในชีวิตจริงได้ มันก็ขึ้นอยู่กับ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายว่าจะนำเสนอข้อมูล เหล่านี้อย่างไร จะทำให้เกิดกระแสที่ประชาชนสนใจการปฏิรูปได้มากน้อย แค่ไหน
ถ้าเราทำแผนปฏิรูปให้ดี พรรคการเมือง นักการเมืองต้องเอาด้วย และผมเชื่อว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยเอาคอนเซ็ปต์เรื่อง ปฏิรูปประเทศไปหาเสียง และทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง ตัวผมเองยังเลือกเขาเลย
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 2-5 มกราคม 2557 ในชื่อ “ปฏิรูปฉบับ ‘สมชัย จิตสุชน’ คมคิด ‘ทีดีอาร์ไอ’ ในโลกยูโทเปีย”