ไทยพับลิก้ารายงาน: “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” รวมพลังกลุ่มต่างขั้ว หา “จุดร่วม” ทางออกประเทศไทย

ปี2014-01-16

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการแถลงเปิดตัวเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” คัดค้านรัฐประหาร คัดค้านความรุนแรงทุกรูปแบบ เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของภาคประชาสังคม นักวิชาการ ที่มีความคิดเห็น “ต่างขั้ว” และมี “จุดยืน” ทางการเมืองที่หลากหลาย แต่มี “จุดร่วม” ที่เหมือนกัน รวมพลังระดมความคิดร่วมกันหาทางออกให้สังคมไทย เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก และอีกหนึ่งความหวัง

ไม่เอา “รัฐประหาร-ความรุนแรง” เอา “เลือกตั้ง-ปฏิรูปวิถีประชาธิปไตย”

โดยตัวแทนเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ประกาศแถลงการณ์จุดยืนร่วมกันว่า

ท่ามกลางภาวะวิกฤติการเมืองที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่ความรุนแรงระหว่างกลุ่มต่างๆ และการรัฐประหาร รวมทั้งทำลายโอกาสในการปฏิรูปประเทศบนวิถีทางประชาธิปไตย พวกเรา “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มองค์กรและบุคคลต่างๆ วิตกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ จึงมีจุดยืนและข้อคิดเห็นต่อประชาชนทุกฝ่ายดังต่อไปนี้

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเครือข่าย 2 เอา 2ไม่เอา

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา

1. คัดค้านการรัฐประหาร พวกเราคัดค้านความพยายามแก้ไขวิกฤติการเมืองด้วยวิถีทางนอกระบบ การรัฐประหารไม่สามารถยุติความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มการเมืองและประชาชนฝ่ายต่างๆ ได้ และจะเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงระหว่างผู้ก่อรัฐประหารกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองและโศกนาฏกรรมที่มิอาจเยียวยา

2. คัดค้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ พวกเราคัดค้านการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะมาจากประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เราขอยืนยันว่าสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและจัดกิจกรรมทางการเมืองโดยสันติ เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ที่ไม่ควรถูกคุมคามด้วยความรุนแรงและบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว

นอกจากนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อรักษากฎหมายและความสงบสุขของสังคม จะต้องเป็นไปตามหลักสากล ไม่กระทำเกินกว่าเหตุ และระมัดระวังอย่างถึงที่สุดไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชน

3. เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งเป็นสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน ที่ไม่มีใครหรือกลุ่มใดสามารถละเมิดได้ และต้องดำเนินไปตามกรอบรัฐธรรมนูญและวิถีทางประชาธิปไตย ทั้งนี้ควรทำให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ

4. สนับสนุนการปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีควบคู่ไปกับการเลือกตั้ง การปฏิรูปโดยมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับคนบางกลุ่มไม่สามารถเป็นหลักประกันว่าจะทำให้ระบบการเมืองตอบสนองต่อประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างแท้จริง การปฏิรูปจึงต้องอยู่บนวิถีทางประชาธิปไตย เช่น ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา การทำประชามติ รวมถึงการติดตาม ตรวจสอบ กดดัน รัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยภาคประชาสังคม เป็นต้น

พวกเราเห็นว่าพรรคการเมืองทุกพรรคต้องแสดงเจตจำนงและให้สัญญาประชาคมที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอย่างจริงจัง โดยไม่กีดกันคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เคารพในความแตกต่างหลากหลาย สร้างกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีกลไกตรวจสอบติดตามเพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างฝ่ายการเมืองกับประชาชน และลดเงื่อนไขที่จะนำสังคมไปสู่ภาวะเผด็จการเสียงข้างมากและเผด็จการเสียงข้างน้อย

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ จะดำเนินการจัดเวทีพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย (Civic Reform Forum) เพื่อสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ประชาชนมีส่วนร่วมต่อไป

สุดท้าย “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” เชื่อมั่นว่าสังคมไทยสามารถก้าวข้ามและออกจากวิกฤติครั้งนี้ได้โดยไม่ต้องนองเลือด หากประชาชนและกลุ่มการเมืองทุกฝ่ายเคารพและยอมรับกติกาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ตระหนักว่าเราต้องอยู่ร่วมกันท่ามกลางความเห็นต่างเพราะทุกคนมีความเสมอภาคกันในฐานะเจ้าของประเทศ และมีสิทธิที่เท่าเทียมในการร่วมกันปฏิรูปสังคมไทย

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเครือข่าย 2 เอา 2ไม่เอา

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา

นอกจากเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” จะแถลงจุดยืนร่วมกันแล้ว ยังมีนักวิชาการ และภาคประชาชนที่สนับสนุนเครือข่ายฯ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นพิ่มเติมที่น่าสนใจดังนี้

สังคมไทยกำลังเดินอยู่ใน “ปากปล่องภูเขาไฟ”

“เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” ซึ่งปลีกวิเวกและเก็บตัวมาสักพักได้ออกมาแสดงจุดยืนร่วมกับกลุ่มเครือข่ายสองเอา สองไม่เอา ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งว่า ความต้องการที่จะยกระดับสังคมเป็นเส้นทางปกติของมนุษย์ ที่ผ่านมาในอดีตเราพยายามปฏิรูปสังคมเป็นระยะๆ ตลอดเวลานับร้อยปีพันปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น การมีกระแสปฏิรูปเกิดในเวลานี้จริงๆ แล้วไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นเรื่องดีที่เราต้องยอมรับ เพราะมันเท่ากับบ่งบอกว่าสังคมของเราต้องการการปรับสมดุลอีกครั้งหนึ่ง การปรับสมดุลเป็นการที่จะดึงสังคมออกจากแนวโน้มเชิงลบสู่แนวโน้มเชิงบวกเพื่อเข้าใกล้จุดหมายของการอยู่เย็นเป็นสุขและความเจริญรุ่งเรือง

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปมีทั้งเรื่องวิธีการและเนื้อหาสาระ และความจริงระบอบประชาธิปไตยเองก็เป็นผลพวงของการปฏิรูปสังคมที่ผ่านมาในอดีต องค์ประกอบของประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง การมีสิทธิเสรีภาพ ก็เป็นผลพวงของการปฏิรูปในอดีตที่เสียเลือดเสียเนื้อสร้างกันมา ต้องยอมรับว่านี่เป็นต้นทุนที่เรามีอยู่แล้วที่ใช้ยกระดับสังคมของเรา

ยิ่งในเวลานี้ ความจำเป็นที่ต้องใช้ประชาธิปไตยเป็นอุปกรณ์ยกระดับสังคมไปสู่ความเจริญรุดหน้ายิ่งมากกว่าแต่ก่อน เพราะสังคมไทยได้พัฒนามาถึงจุดที่มีความหลากหลายทั้งในทางผลประโยชน์และความคิดเห็น เป็นความลำบากที่จะพูดถึงความต้องการของคนทั้งประเทศในลักษณะกลุ่มก้อนเดียว หรือคิดเหมือนกันหมดทั้งประเทศ การจะต้องรับฟังประชาชนทุกหมู่เหล่าจึงเป็นเรื่องสำคัญในการสรรหาประเด็น สาระของการเปลี่ยนแปลง

การปฏิรูปเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ดำรงอยู่ ทำให้คนที่ได้รับผลกระทบมีทั้งคนที่ได้เปรียบทางสังคมอยู่แล้วซึ่งถ้าได้เปรียบก็ต้องอาจจะต้องยอมลดความได้เปรียบลงมา และคนที่เสียเปรียบอาจจะต้องได้เปรียบมากขึ้น ซึ่งทุกมิติในสังคมจะต้องได้รับผลกระทบกันหมด ไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการศึกษา

การปฏิรูประเทศเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดำรงอยู่ มันจึงมีคนได้รับผลกระทบท้ังด้านบวกและด้านลบ คนมีมากอาจต้องลดฐานะความได้เปรียบ คนเสียเปรียบอาจได้ยกระดับไปสู่การต่อรองได้มากขึ้น พูดง่ายๆ ว่ามีความขัดแย้งทุกขั้นตอนที่ต้องมาสะสางกันในการปฏิรูปสังคม ไม่ว่ามิติทางการเมือง การศึกษา หรือเรื่องอื่นๆ

การที่เราจะปรับปรุงสังคมครั้งใหญ่อีกครั้งจำเป็นต้องระมัดระวัง เราคงไม่สามารถใช้วิธีการนอกกรอบประชาธิปไตยได้ เพราะมันไม่สามารถสร้างฉันทามติและนำไปสู่การกระทบกระทั่งที่ถึงแม้จะเกิดจากความหวังดีก็ได้ไม่คุ้มเสีย

ในการปฏิรูปโดยรูปธรรมแล้วต้องมีการยกเลิกกฎหมายหลายฉบับ ตราอีกหลายฉบับ แล้วสิ่งเหล่านี้จะทำได้อย่างไรถ้าไม่มีประชาธิปไตย มันเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่จะสร้างความขัดแย้งเพิ่ม เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงโยงมาถึงประเด็นของความรุนแรงและประเด็นของรัฐประหาร ในเมื่อการปฏิรูปจำเป็นต้องอาศัยกรอบประชาธิปไตย กระบวนการปฏิรูป จำเป็นที่จะต้องปราศจากความรุนแรงมารบกวน ปราศจากขบวนการนอกระบบที่อยู่นอกกฎเกณฑ์ของประชาธิปไตย

เวลาสังคมไทยของเรากำลังเดินอยู่ใน “ปากปล่องภูเขาไฟ” เราควรจะต้องมีสติ ไม่อนุญาตให้ตัวเองพลัดตกลงไปในหล่มหลุมที่ไม่อาจกลับคืนมาได้ สิ่งที่เราฝากความหวังไว้คือ สติและปัญญา เพราะในเวลานี้สภาพของบ้านเมืองเหมือนกับว่ากลไกของรัฐไปคนละทิศละทาง ประชาชนทั่วๆ ไปรู้สึกหว้าเหว่เหมือนไม่มีคนคุ้มครอง ซึ่งถ้าเลยขั้นนั้นไปถึงขั้นประชาชนต้องป้องกันตัวเองก็น่ากลัว

“ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องมีอย่างยิ่งคือสติ และปัญญาที่จะถอยห่างออกจากสถานการณ์อันตรายเหล่านี้”

อยากเรียนว่า เดี๋ยวนี้เราใช้เหตุผลร้อยแปดพันเก้ามาเถียงกันเพื่อบอกว่าความคิดเราถูกต้องกว่า ตราบใดที่ยังอยู่ในแวดวงของการใช้เหตุผลก็ไม่เป็นไร แต่อยากเรียนว่า แต่ละยุคสมัย มนุษยชาติมีจิตวิญญาณของตนว่าจะก้าวไปสู่ทิศทางใด “ร้อยเหตุผลก็ไม่เท่าจิตวิญญาณของยุคสมัย” โลกจะต้องหมุนไปสู่เสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม ถ้าเราจะขวางกฎเกณฑ์อันนี้ เกรงว่าจะก่อให้เกิดภาวะไม่พึงปรารถนาขึ้นมากมาย

นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา

นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา

เรื่องรัฐประหารที่ถูกพูดถึงกันอยู่ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีใครตอบแทนประชาชนได้ว่าถ้าหากเกิดแล้วจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมา แต่ว่าถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ในแต่ละครั้งของการรัฐประหารมีบางครั้งที่นำไปสู่ “สงครามกลางเมือง”

ตัวอย่างเช่น 6 ตุลาคม 2519 นี่เป็นเรื่องน่ากลัวมาก ในช่วงนั้นตัวเองและเพื่อนๆ ได้ผ่านประสบการณ์การรบกันเองใน 50 จังหวัดมาแล้ว ถึงแม้จะมีการปิดบังไม่ให้คนรุ่นหลังรู้ แต่ก็ไม่อยากให้ไทยกลับไปสู่จุดนั้นอีก

“โลกจะต้องหมุนไปสู่เสรีภาพ หมุนไปสู่ความเสมอภาคและความเป็นธรรม ถ้าเกิดจะขวางกฎเกณฑ์นี้ล่ะก็ คงจะทำให้เกิดภาวะที่ไม่พึงปรารถนาแน่นอน”

สังคมไทยอยู่ในจุด “อันตราย” ที่สุด

“จอน อึ๊งภากรณ์” มีความเห็นว่า ตั้งแต่เกิดมาถึงตอนนี้ ไม่เคยรู้สึกว่าสังคมไทยอยู่ใน “อันตราย” เท่ากับทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลมาก เราต่างอยากให้ลูกหลานโตขึ้นในสังคมสงบสุข เราอยากให้ปัญหาต่างๆ ความขัดแย้งต่างๆ แก้ไขโดยวิธีการที่ถูกต้อง

เรามีความขัดแย้งระหว่างคนที่ไม่มีความเชื่อในเรื่องการเลือกตั้ง ต้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง กับกลุ่มคนที่เห็นว่าเรายังต้องทำตามกติกาที่มีอยู่ เพราะหากไม่ยึดกติกาที่มีอยู่ก็จะกลายเป็นกติกาของใครก็ได้ แล้วอันนั้นจะนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม

“จุดร่วมของพวกเราในที่นี้ แม้มีความเห็นที่หลากหลาย แต่ต้องรักษากติกาที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด”

การปฏิรูปไม่ใช่ “คณิตศาสตร์” ทางการเมือง

“สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์” จากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มีความเห็น 3 ประเด็น ประเด็นแรก “การปฏิรูป” เป็นเป้าหมายสำคัญที่จะต้องทำให้ได้ ไม่ได้อยู่ที่ใครมาเป็นรัฐบาล อำนาจก็สำคัญ แต่สำคัญกว่าคือต้องทำให้สังคมนำไปสู่การปฏิรูปให้ได้ เรื่องนี้ต้องการหลายฝ่ายมาร่วม

ประเด็นที่สอง เมื่อพูดเรื่อง “การปฏิรูป” เป้าหมายสำคัญคือให้ประชาชนได้ประโยชน์ เราไม่ได้พูดถึงเรื่องปฏิรูประบอบประชาธิปไตยในแง่ของ “คณิตศาสตร์ทางการเมือง” แต่ต้องปฏิรูปประชาธิปไตยที่ทำให้เป็นประชาชนกินได้หรือประชาชนได้ประโยชน์

ประเด็นที่สาม พอเราเชื่อว่าการปฏิรูปเป็นเรื่องสำคัญ และประชาธิปไตยก็ต้องมี เพราะฉะนั้น เราต้องไม่นิ่งนอนใจว่าเมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย เพราะชัดเจนว่าถ้าประชาชนไม่รวมตัวไม่เข้มแข็งหรือไม่มีโอกาสมีส่วนร่วม การปฏิรูปที่แท้จริงก็จะไม่เกิด

ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญมากคือ เราต้องมาทำให้เกิดกลไกที่จะสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และกลไกที่ว่าไม่ใช่แบบตัวแทน แต่เป็นกลไกที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม กลไกนี้ต้องเกิดขึ้นไม่ว่าจะก่อนเลือกตั้ง หลังเลือกตั้ง อะไรก็แล้วแต่

ประเด็นสุดท้าย เป็นเหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งที่เรามารวมตัว คือ เรื่องปฏิรูปต้องทำต่อเนื่อง เริ่มต้นได้เลยโดยไม่ต้องไปรอว่ากลไกรัฐ กลไกอำนาจจะมาเห็นพ้องต้องกันหรือไม่ การทำสัตยาบรรณที่เราประกาศไว้ว่าจะทำก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง เราเชื่อกันว่าเราน่าจะสามารถร่วมกันริเริ่มกระบวนการส่วนหนึ่งของการปฏิรูปได้

เครือข่าย 2เอา 2 ไม่เอา

การปฏิรูปในมุมของ “สมัชชาคนจน”

“บุญยืน สุขใหม่” มีความเห็นในนามของสมัชชาคนจนว่า สมัชชาคนจนมีมติของ “พ่อครัวใหญ่” เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. พร้อมๆ กับให้มีการปฏิรูปประเทศไทยควบคู่กันไปด้วย

ความหมายของการปฏิรูป ในมุมของสมัชชาคนจน คือ การจัดการที่ดิน พูดง่ายๆ ว่า มีหลายสิ่งหลายอย่าง กฎหมายหลายฉบับที่จะต้องแก้ไขเพื่อให้ชุมชนสามารถถือครองและจัดการที่ดินในชุมชนตนเองได้มากขึ้น เรื่องการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการด้วย การจัดการน้ำที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลไหนก็มีโครงการจัดการน้ำ การสร้างเขื่อนที่กระทบชาวบ้าน โดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายแต่อย่างใด

อีกประเด็นคือ แรงงาน ปัจจุบันแรงงานในระบบมีประมาณ 27 ล้านคน แม้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับสูงขึ้น แต่ค่าครองชีพก็สูงตามด้วยจึงไม่ช่วยให้เกิดความสมดุล ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา สิทธิในการรวมตัวของคนงานก็ยังถูกละเมิด การจัดตั้งสหภาพแรงงานก็ยังส่งผลให้มีการเลิกจ้างคนงานอยู่ตลอด สิ่งเหล่านี้หลายอย่างมีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้วแต่ไม่มีการบังคับใช้จริงจัง

ที่สำคัญ เราเห็นว่าควรต้องกระจายอำนาจสู่พื้นที่ สู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อลดบทบาทของรัฐและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตนเองให้มากขึ้น

คู่ขัดแย้ง “รัฐบาล- กปปส.” อย่าอ้างปฏิรูปเพื่อคนจน

“กฤษกร ศิลารักษ์” ตัวแทนจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) มีความเห็นเรื่องการปฏิรูปว่า ทุกครั้งเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมือง คนจนถูกอ้างเป็นกลุ่มแรก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กปปส. ต่างอ้างว่าต้องการช่วยคนจน จากประสบการณ์ที่เจ็บปวด ใครก็ตามที่อ้างเราเมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วเราเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกลืม เราถูกเบียดขับออกจากการพัฒนาตลอด

ทุกครั้งของการเลือกตั้งมักบอกว่าจะทำเพื่อพวกเรา จะปฏิรูปเพื่อประชาชน จะเปลี่ยนแปลงเพื่อประชาชน แต่จากประสบการณ์ 20 กว่าปี “เราไม่ได้รับอานิสงส์” จากการกล่าวอ้างนั้นเลย

“เราเจ็บปวดกับการกล่าวอ้างที่หลอกลวง แต่เราอดทน เราเดินหน้าเรียกร้องทุกปี ทุกรัฐบาล ให้แก้ไขปัญหาให้พวกเรา เราอดทน เราอดกลั้น เราหลีกเลี่ยงความรุนแรง อะไรก็ตามที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ต้องแลกด้วยความรุนแรงและการสูญเสีย มันไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนา”

เราไม่เชื่อว่าการใช้วิธีนอกกติกาจะทำให้ได้มาซึ่งกติกาที่สมบูรณ์ วิธีการนอกกติกา นอกระบบ มันไม่ได้มีหลักประกันว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ประชาชนยอมรับได้

“ผมเชื่อว่าประสบการณ์ความเจ็บปวด เราอยากให้ทุกพรรคช่วยกันประคับประคอง อดทนอดกลั้น และคู่ขัดแย้งอย่าอ้างประชาชน ที่คุณอ้างแค่ส่วนเดียว มีประชาชนอีกมากจับตาดูพวกคุณ เราในฐานะประชาชนขอให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายหาทางยุติความขัดแย้งเพื่อที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน”

ถอด “บทเรียนภาคใต้” ไม่ใช้ความรุนแรง

“ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี” ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ แสดงความเห็นในฐานะของคนที่มีประสบการณ์กับความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงและความต่อเนื่องของความรุนแรงทำให้ผู้เสียชีวิตในรอบสิบปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 5,000 คนแล้ว และความตายยังดำเนินต่อไปทุกวัน

“บทเรียน” ที่ได้จากปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความหมายอยู่ 3 คำ คือ ประชาธิปไตย ความยุติธรรม และสันติภาพ ทั้ง 3 อย่างนี้เกาะเกี่ยวกันทั้งความหมายและปฏิบัติการ ทำให้ระดับความรุนแรงของภาคใต้นั้นลดลงและเคลื่อนไปสู่การพูดคุยกันในทางสันติ แต่ก็ยังไม่แก้ปัญหาทั้งหมด

แม้ความรุนแรงยังเกิดขึ้นทุกวัน แต่เราได้เห็นว่าการต่อสู้ในทางความคิด การใช้เหตุผล ช่วยได้ และช่วยผ่านกระบวนการประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชนหลายๆ ฝ่าย ระดมความคิดเห็นจนทำให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า “พื้นที่กลาง” “พื้นที่ปลอดภัย” เป็นเครื่องมือ กลไก หลักประกันที่จะนำไปสู่สันติ และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกยุคสมัยก็มีส่วนช่วยให้เกิดแนวทางนี้

“แม้แต่ข้อเสนอของบีอาร์เอ็นก็บอกว่าต้องผ่านกระบวนการประชาธิปไตย มีรัฐสภา มีรัฐบาลที่ถูกต้องชอบธรรม ตามรัฐธรรมนูญ เพราะการสนองตอบต่อข้อเสนอต่างๆ ต้องเป็นข้อเรียกร้องที่เป็นไปตามสิทธิของประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จะเห็นว่ากระบวนการประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ยอมรับได้แม้แต่ในพื้นที่ที่มีความรุนแรง”

บทเรียนจากจังหวัดชายแดนใต้คือ เราต้องทำให้เกิดการยอมรับในแนวคิดประชาธิปไตยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและการไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งรวมไปถึง “ปฏิเสธ” การรัฐประหาร การเลือกตั้งเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดว่า “ทุกคน ทุกชนชั้น การศึกษา ศาสนา” จะได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมกัน และสิ่งที่ชัดเจนคือ เราต้องสร้างประชาธิปไตยต่อเนื่อง เพื่อสร้างความยุติธรรม เพื่อทำให้เกิดสันติในสังคมไทย

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา

“เลือกตั้ง 2 ก.พ.” ความเห็นต่างที่มีจุดร่วม

“ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีความเห็นว่า ทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองก็คือ ต้องเคารพหลักการประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้มีเสียงข้างมากอย่างเดียว ต้องเคารพเสียงข้างน้อยด้วย อย่าใช้เสียงข้างมากลากไป ต้องเคารพความคับข้องใจของกันและกัน มวลมหาประชาชนต้องทำความเข้าใจความคับข้องใจของคนเสื้อแดงที่ไม่ได้รับความยุติธรรมหลายๆ เรื่อง เช่นเดียวกัน คนเสื้อแดงให้เข้าใจความคับข้องใจของคนกรุงเทพฯ และคนที่มาชุมนุมว่าเขาไม่พอใจกับการใช้เสียงข้างมากลากไป

ทำอย่างไรเราจะชักจูงให้คนเราเหล่านี้มาสู่เส้นทางการทำให้ประเทศดีขึ้นโดยไม่เกิดความเสียหาย และไม่เกิดความรุนแรง ซึ่งเชื่อว่ามีวิธีการเดียวก็คือ “การปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่” โดยเฉพาะการปฏิรูปด้านการเมือง เรามีการ“เลือกตั้ง” เป็นหลักอยู่แล้ว จะทำอย่างไรเพื่อให้ได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง แล้วเป็นรัฐบาลที่มีกลไกการตรวจสอบควบคุม ให้ใช้อำนาจของเสียงข้างมากอย่างเหมาะสม และเคารพเสียงข้างน้อย อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องคิดกัน

เรื่องของการเลือกตั้งเป็น “หัวใจ” ของการแก้ไขปัญหานั่นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ควรจะเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 หรือไม่กลุ่มนักวิชาการ “2 เอา 2 ไม่เอา” เห็นต่างกัน 2 ประเด็น

มีส่วนหนึ่งเห็นว่า หากไม่เลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เกรงว่าจะมีผู้ฉวยโอกาสใช้อำนาจอื่นเข้ามาแทรกซ้อน กับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมตัวผมเองด้วยเห็นว่า แม้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือลดความขัดแย้งได้ดีในภาวะปกติก็ตาม แต่ในสภาวะที่มีความขัดแย้งสูงขนาดนี้เกรงว่าการเลือกตั้งจะไม่ได้เป็นคำตอบที่จะทำให้เกิดความสงบสุขเกิดขึ้นได้ และเผลอๆ อาจจะเป็นชนวนหนึ่งทำให้เกิดความรุนแรงต่อไปอีก

“ทางกลุ่มไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้ จึงมีข้อสรุปว่า เราเคารพสิทธิ์การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ แปลว่า ถ้ารัฐธรรมนูญอนุญาตให้มีการขยายเวลาการเลือกตั้งไปได้ก็เป็นสิ่งที่พวกเรายอมรับกันได้”

ส่วนตัวเองมีความเห็นว่า หากจะมีการขยายเวลาการเลือกตั้งออก ถ้าจะแก้ไขปัญหาได้ ก็ต้องเป็นการขยายเวลาที่ไม่ยาวเกินไป เช่น 4-5 เดือน และจะต้องเกิดจากพื้นฐานของความเห็นพ้องต้องกันของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ก็คือรัฐบาลและ กปปส. และต้องทำให้เกิดขบวนการที่นำเอาคู่ขัดแย้งเข้าสู่ระบบ นั่นคือ พรรคประชาธิปัตย์กลับมาลงเลือกตั้ง กปปส. เลิกชุมนุมในลักษณะกดดันรัฐบาลมากเกินไป และการเลื่อนการเลือกตั้งหากจะเลื่อนจริงต้องเลื่อนครั้งเดียว ไม่ใช่เลื่อนแล้วเลื่อนอีก และบนความสมัครใจ บนความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย

“2 เอา 2 ไม่เอา” จุดเริ่มความหวัง “เห็นต่าง” แต่ “รวมกันได้”

“วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” จากกลุ่มโลกสวยเพื่อการปฏิรูปและเครือข่ายภาคประชาสังคม มีความเห็นว่า เราต้องเคารพและเข้าใจเจตจำนงของประชาชนทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง อีกฝ่ายเรียกร้องสังคมที่ยุติธรรม ปราศจากการคอร์รัปชัน

พวกเราเห็นว่าข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายไม่ควรขัดแย้งกันเลย ไม่ควรจะเสียสละแม้สักชีวิตหรือเลือดแม้เพียงหยดเดียว เพราะหากนับการ “เลือกตั้ง” เป็นราก “ประชาธิปไตย” ก็คือลำต้น “ดอกและผล” คือสังคมที่เป็นธรรม เท่าเทียม และยุติธรรมนั่นเอง ไม่มีเหตุผลที่จะฆ่ากันโดยเหตุนี้

“ผมคุยกับอาจารย์นิพนธ์ (พัวพงศกร) ท่านบอกว่า หากพวกเราในวงนี้ไม่สามารถร่วมงาน ร่วมความคิดกันได้ เราอย่าหวังว่าคู่ขัดแย้งจะเจรจากันได้”

นี่เป็นสัญญาณเล็กๆ ที่จะบอกสังคมว่า “เรารวมกันแล้ว เพื่อบอกว่าเรารวมกันได้” เราหาทางออกกันได้ เราจะฝ่าฟันช่วงเวลาแห่งความลำบากนี้ไปด้วยกัน และนี่เป็นเวลาที่วิกฤติที่สุดแล้วในสังคมไทย เราต้องใช้สติอย่างถึงที่สุดที่จะหาทางออกภายใต้กฎเกณฑ์กติกาประชาธิปไตย ไม่ให้ข้อเรียกร้องการเลือกตั้งนำไปสู่ความรุนแรง เคารพสิทธิหนึ่งเสียง เริ่มต้นปฏิรูปทันที ปฏิเสธการรัฐประหาร การใช้ความรุนแรง

“นี่คือจุดเริ่มต้นของความหวังที่เราเห็นร่วมกัน”

ดร.ชัยวัฒน์ สถาอนันท์ (ขวาสุด) ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา

ดร.ชัยวัฒน์ สถาอนันท์ (ขวาสุด) ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา

สังคมไทยยังมี “ความหวังและดีกว่านี้” ได้

“ชัยวัฒน์ สถาอานันท์” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นว่า เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา มีประเด็นต้องการบอกสังคมว่า ทุกคนที่นั่งอยู่บนโต๊ะนี้มาด้วยความเป็นห่วงอย่างที่อาจารย์จอน (อึ๊งภากรณ์) บอก ซึ่งไม่ใช่แค่ห่วงตัวเรา ห่วงทุกคนรอบๆ ตัวเรา ห่วงคนรุ่นต่อๆ ไป เพราะฉะนั้น “ความห่วง” นี้เป็นเรื่องที่ทำให้เรามานั่งอยู่ด้วยกัน ด้วยเหตุผลที่อาจจะต่างกันในหลายเรื่อง และมีสิ่งที่สนใจต่างกัน

“อย่างที่คุณวิฑูรย์ (เลี่ยนจำรูญ) บอก ถ้าคนที่นั่งอยู่บนนี้ไม่สามารถนั่งอยู่ด้วยกันได้ก็ลำบาก”

เครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ต้องการบอก 2 อย่าง กับสังคมไทย คือ หนึ่ง กำลังบอกสังคมไทยไม่จำเป็นต้องหมดความหวังถึงเพียงนั้น ไม่จำเป็นต้องไปหาวิธีการซึ่งเคยทำให้ทุกนบาดเจ็บมาแล้ว สอง กำลังบอกสังคมไทยว่า เราดีกว่านี้ได้

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง มันอยู่ได้ด้วยการทำงานร่วมกัน โดยไม่ต้องบอกว่าเราต้องเหมือนกันทุกเรื่อง มันเป็นไปไม่ได้ ความแตกต่าง เสรีภาพของเหล่านี้เป็น “ลมหายใจ” ของประชาธิปไตย เป็นความเป็นจริงของสังคมมนุษย์ทุกหนแห่ง

“อาจารย์เสกสรรค์เตือนเราข้อหนึ่งว่า ทำงานด้วยกันได้ แต่ทำงานด้วยสติ ด้วยการใช้ปัญญา ทำงานด้วยการเตือนกัน เวลาเราเป็นเพื่อนกันไม่ได้หมายความว่าเราเห็นพ้องต้องกัน และเตือนกันได้ด้วยน้ำมิตรไมตรี ซึ่งผมเชื่อว่าสังคมไทยมี เวลานี้เรายอมให้อะไรบางอย่างทำลายสิ่งเหล่านั้นไป ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องฟื้นคืนสิ่งเหล่านั้นมา สายสัมพันธ์เหล่านั้น ไมตรีจิตรเหล่านั้น ให้เป็นฐานของการเมือง ถ้าเราไม่มีมิตรภาพ สังคม การเมืองไม่น่าอยู่”

เวทีปฏิรูปสังคมต้องเป็น “ตลาดนัดความคิด”

“เกษียร เตชะพีระ” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นว่า สิ่งที่เครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ต้องการคือ “เวทีการปฏิรูป” ที่มีลักษณะ หนึ่ง เป็น “ตลาดนัดความคิดปฏิรูป” ที่กว้างที่สุดที่เป็นไปได้ เปิดให้ทุกฝ่ายไม่เลือกสี จะสีแดง สีเหลือ สีสลิ่ม ไม่มีสีก็แล้วแต่ ที่คิดว่าบ้านเมืองเราต้องการการปฏิรูปไม่ว่าในลักษณะไหนก็แล้วแต่มาแสดงความคิดเห็นในตลาดนัดนั้น

สอง เวทีปฏิรูปต้องการจะเป็นเวทีสนทนาระหว่างประชาสังคม กับสังคมการเมือง เป็นที่ที่คนที่มีคนในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายได้เสนอและคุยกับบรรดาพรรคการเมือง นักการเมืองทั้งหลายมาฟัง มาคุยมาเถียงกับชาวบ้าน กับประชาสังคมที่ต้องการเสนอกับนักการเมือง เพื่อบอกว่าประชาสังคมต้องการอะไรบ้าง และถ้าต้องการคะแนะเสียงต้องทำอย่างไร ถ้าเราสามารถทำให้เวทีสนทนานี้มีผลทางคะแนนเสียงเลือกตั้งจะผูกมัดประชาสังคม ภาคการเมือง และนักการเมืองได้มากยิ่งขึ้น

สุดท้าย ถ้าเราทำสำเร็จเราไม่จำเป็นต้องแบ่งสีตีกัน เพราะถ้าเรามีเวทีปฏิรูปของสังคมซึ่งรวมทุกกลุ่มทุกเหล่าทุกสี มีอะไรเราไปคุยที่นั่น เป็นที่นัดพบระหว่างฝ่ายต่างๆ ในสังคมกับนักการเมือง เราจะลดความจำเป็นในการลงท้องถนน เราจะลดความจำเป็นในการไปยึดที่ทำการรัฐบาล ลดความจำเป็นที่ต้องมีผู้เสียชีวิต ตั้งแต่เริ่มความขัดแย้งนี้มา มีคนตายไปแล้ว 4 คน บาดเจ็บ 461 คน ไปถึงตรุษจีนไม่รู้ว่าต้องตายหรือบาดเจ็บอีกเท่าไร

“ผมไม่รู้ว่าใครจะชนะ บางคนถามเลือกตั้งจะได้เกิดขึ้นจริงไหม ปฏิรูปจะมีจริงไหม แต่ 4 คนที่ตายไปนั้นจะไม่ได้ไปเลือกตั้งแน่ๆ และไม่ได้ไปร่วมปฏิรูปแน่ๆ ”

เราต้องการให้มีคนตายเพิ่มหรือ ถ้าเราไม่ต้องการทางออกมี มาร่วมกันเลือกตั้งกันไป ปฏิรูปกันไป ไม่ต้องมีใครตาย ผิดได้ไหม ผิดได้ ล้มเหลวได้ไหม ล้มเหลวได้

แต่ถ้า “ไม่ตาย” เรามันแก้ได้ ถ้าเราไม่ตายเราเรียนรู้ได้ ถ้าเราไม่ตายเราทะเลาะกันต่อไปได้”

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเครือข่าย 2 เอา 2ไม่เอา

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา

เผยแพร่ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยพับลิก้า วันที่ 11 มกราคม 2557 ในชื่อ ” ‘เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา’ รวมพลังกลุ่มต่างขั้ว หา ‘จุดร่วม’ ทางออกประเทศไทย