สกู๊ปหน้า 1
นับแต่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา และกำหนดให้วันที่ 2 ก.พ.2557 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือน คนไทยทั่วประเทศ ควรมีโอกาสได้ใช้สิทธิใช้เสียงกันอีกหน แต่การเลือกตั้งคราวนี้ กลับเต็มไปด้วยคำถาม…เอาเข้าจริง เมื่อวันนั้นมาถึง จะได้เลือกตั้งกันจริงหรือ
ท่ามกลางวิกฤติทางการเมือง ซึ่งมีแนวโน้มจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างกลุ่มต่างๆ ผสมโรงกับท่าทีที่เปลี่ยนไปของขุนทหารบางคน ซึ่งส่งสัญญาณว่า ชักไม่แน่ใจจะเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง หรือไม่
…ต่างจากท่าทีก่อนหน้า ที่เจ้าของท่าทีคนเดียวกัน เคยยืนยันนั่งยัน นอนยันมาตลอดว่า ปัญหาการเมือง ต้องแก้ด้วยการเมือง…ทหารจะไม่ทำรัฐประหาร
ด้วยเหตุนี้ วันก่อน “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” (เอาเลือกตั้งกับการปฏิรูป ไม่เอารัฐประหารและความรุนแรง) ซึ่งประกอบด้วยนักคิด และนักวิชาการชั้นแนวหน้าของประเทศ 69 คน ร่วมกับอีก 10องค์กร
เช่น สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.), สมัชชาคนจน, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม, มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, มวลมหาประชาคุย และกลุ่มโลกสวยปฏิรูปการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี และเครือข่ายภาคประชาสังคม เป็นต้น
ทั้งองค์กรและบุคคลข้างต้น ซึ่งสนับสนุนแนวทางของเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ได้ร่วมกันแถลงจุดยืน และข้อคิดเห็นต่อประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อไม่กี่วันก่อน
อรรถจักร สัตยานุรักษ์ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ พวงทองภวัครพันธุ์ และ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ทั้ง 4 ซึ่งเป็นตัวแทนเครือข่ายฯ ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์คัดค้านการรัฐประหาร และการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เสนอให้เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ และสนับสนุนการปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น
พวกเขาแสดงความเชื่อมั่นว่า การรัฐประหารไม่สามารถยุติความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มการเมืองและประชาชนฝ่ายต่างๆได้ ทั้งจะเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรง ระหว่างผู้ก่อการรัฐประหารกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง จนนำไปสู่สงครามกลางเมือง และโศกนาฏกรรมที่ไม่อาจเยียวยา
ทางเครือข่ายฯ คัดค้านการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่ายและทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะมาจากประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น กปปส.
คปท. นปช. หรือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ พวกเขาเห็นว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และจัดกิจกรรมทางการเมือง โดยสันติ เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคน จึงไม่ควรถูกคุกคามด้วยความรุนแรง และบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว
การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อรักษากฎหมายและความสงบสุขของสังคม จึงต้องเป็นไปตามหลักสากล ไม่กระทำเกินกว่าเหตุ และระวังอย่างถึงที่สุด ไม่ให้เกิดความสูญเสียชีวิตของประชาชน
นอกจากนี้ ทางเครือข่ายฯ เห็นว่า การเลือกตั้งเป็นสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน ไม่มีใครหรือกลุ่มใดสามารถละเมิดได้ และต้องดำเนินไปตามกรอบแห่งรัฐธรรมนูญบนวิถีทางประชาธิปไตย โดยใช้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ
พวกเขาเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง สามารถทำได้ทันทีควบคู่กับการเลือกตั้ง การปฏิรูปโดยมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับคนบางกลุ่ม ไม่สามารถเป็นหลักประกันว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาคอร์รัปชัน และทำให้ระบบการเมืองตอบสนองต่อประชาชนได้
การปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตยหมายถึง ต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภา การทำประชามติ ติดตามตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยภาคประชาสังคม เพื่อลดเงื่อนไขที่นำสังคมไปสู่ภาวะเผด็จการเสียงข้างมาก และเผด็จการเสียงข้างน้อย
ทางเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” เชื่อมั่นว่า สังคมไทยจะสามารถก้าวข้ามและออกจากวิกฤติครั้งนี้ได้ โดยไม่ต้องนองเลือด ถ้าประชาชนและกลุ่มการเมืองทุกฝ่ายเคารพและยอมรับกติกาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และตระหนักว่าคนไทยทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความเห็นต่าง
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หนึ่งในผู้สนับสนุนแนวทาง 2 เอา 2 ไม่เอา ยืนยันว่า การปฏิรูปต้องทำในกรอบของระบอบประชาธิปไตย เพราะระบอบประชาธิปไตยเอง ก็เป็นผลพวงของการปฏิรูปที่ผ่านมาในอดีต
“วันนี้สังคมไทยพัฒนามาถึงจุดที่มีความหลากหลาย การรับฟังประชาชนทุกหมู่เหล่าเป็นเรื่องสำคัญ การปรับปรุงสังคมครั้งใหญ่อีกครั้ง จึงต้องระวัง อย่าใช้วิธีที่อยู่นอกกรอบประชาธิปไตย ไม่ใช่มอบอำนาจให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปทำการปฏิรูป”
“ในที่สุดแล้ว โลกจะต้องหมุนไปสู่เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม แต่เวลานี้เปรียบเหมือนเรากำลังยืนอยู่ที่ปากปล่องภูเขาไฟ จึงต้องมีสติและปัญญา ที่จะถอยออกจากสถานการณ์อันตราย ไม่เช่นนั้นมันจะได้ไม่คุ้มเสีย”
จอน อึ๊งภากรณ์ ให้ความเห็นเป็นคนถัดมาว่า เมื่อใดที่ไม่มีการยึดกติกา มักจะนำไปสู่ความรุนแรง หรือการนองเลือด เมื่อใดที่แต่ละฝ่ายตั้งกติกาของตัวเองขึ้นมา สังคมไทยจะไม่มีวันอยู่กันอย่างสงบสุข
“ผมรู้ว่าทุกคนล้วนรักชาติ รักสังคม เพียงแต่คิดเห็นไม่ตรงกันบางเรื่อง อย่าลืมว่า ถึงยังไงคนไทยจะต้องอยู่ร่วมกันไปอีกนาน”
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เสนอว่า การปฏิรูปประชาธิปไตย ต้องทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์
“ถ้ามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว การปฏิรูปที่แท้จริงจึงจะเกิด เพราะจะช่วยให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แต่ต้องไม่ใช่กลไกแบบสภาตัวแทน การทำสัตยาบันก่อนการปฏิรูปก็เป็นส่วนหนึ่ง”
ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี บอกว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนหลายฝ่าย ทำให้เกิดพื้นที่กลางที่ปลอดภัย เป็นหลักประกันนำไปสู่กระบวนการสันติ
“ประชาธิปไตยในกรอบเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การเลือกตั้งเป็นทั้งหลักประกัน และทางออกที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้ เพราะทั้งคนส่วนมากและส่วนน้อยจะได้รับการยอมรับอย่างพร้อมเพรียง”
ทิ้งท้ายที่ความเห็นของ เกษียร เตชะพีระ ซึ่งเป็นอีกคนที่ได้รับเสียงปรบมือจากที่ประชุมอย่างอุ่นหนา หลังจากเขาได้เสนอความเห็นสั้นๆ แต่ได้ใจหลายคน
“เวลานี้คุณสุเทพต้องหยุดเป่านกหวีดก่อน ถึงจะฟังคนอื่นได้ยิน พลเอกประยุทธ์ ในฐานะ ผบ.ทบ. เป็นทหารของชาติ และประชาชน ควรพูดถึงการทำรัฐประหาร หรือยึดอำนาจให้น้อยลง ส่วนคุณยิ่งลักษณ์กับคุณทักษิณ ควรหยุดฟังกันและกันลดลงบ้าง แล้วหันไปฟังเสียงประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่เห็นต่างจากคุณ”
“ถ้าทุกฝ่ายยอมเปิดใจ เปิดเป็นตลาดนัดความคิดปฏิรูปที่กว้างที่สุดเท่าที่เคยมีมา ให้ทุกฝ่ายได้ออกความเห็น เสนอ และพูดคุย ย่อมสามารถเลือกตั้งกันไปปฏิรูปกันไป โดยที่ไม่ต้องมีใครบาดเจ็บหรือล้มตาย ตราบใดที่ไม่มีคนตาย เราสามารถเรียนรู้และยังสามารถแก้ไขได้เสมอ ไม่จำเป็นต้องแบ่งสีหรือตีกันจนตายไปข้าง”
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 13 มกราคม 2557 ในชื่อ “เลือกตั้ง-เลื่อนตั้ง? 2 เอากับ 2 ไม่เอา”