จำนำข้าว…ถังแตก ติดหล่มกู้ 1.3 แสนล้าน

ปี2014-01-15

สกู๊ปหน้า 1

ณ วันที่ 8 มกราคม 2557 ชาวนา ได้นำข้าวมาขายให้โครงการรับจำนำในปีการผลิต 2556/57 เป็นมูลค่าตามใบประทวนประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ได้รับเงินไปแล้ว 0.35 แสนล้านบาท…

ชาวนาจึงยังไม่ได้รับเงินอีก 1.246 แสนล้านบาท…นี่จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ชาวนาทั่วประเทศขายข้าวแล้วไม่ได้เงิน

นี่เป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะหากโยงไปถึงเรื่องฐานเสียงการเมืองของชาวนาที่ทำท่าจะสูญเสีย ทำให้ยิ่งต้องเร่งพยายามทุกวิถีทางที่จะหาเงินมาจ่ายให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. แต่ก็ถูกสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. สตง. และนักวิชาการคัดค้าน

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า การบังคับให้ ธ.ก.ส.ปรับโครงสร้างหนี้ที่จะถึงกำหนดในปี 2558-2560…การขอให้กองทุนของหน่วยงานรัฐโยกเงินฝากมาฝากกับ ธ.ก.ส.ตลอดจนการให้ ธ.ก.ส.กู้เงินเพิ่มขึ้นโดยลดวงเงินกู้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ

“วิธีการเหล่านี้…ล้วนสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทำลายวินัยทางการคลังและกระทบความมั่นคงทางการเงินของธ.ก.ส.”

แม้กระทรวงการคลังจะพยายามทุกวิถีทางที่จะหาเงินมาจ่ายให้ชาวนา แต่คิดว่ารัฐบาลคงไม่สามารถจ่ายเงินให้ชาวนาได้ตามสัญญา ยกเว้นว่ารัฐบาลจะกล้าเสี่ยงทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ดร.นิพนธ์ ขออธิบายให้พี่น้องชาวนาได้รับรู้เหตุผลแท้จริง ที่ชาวนาอาจจะได้เงินค่าขายข้าวไม่ครบภายในวันที่รัฐบาลสัญญา พร้อมๆ ไปกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหานี้ เพื่อเอาไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้ง ว่านโยบายที่พรรคการเมืองนำมาใช้หาเสียงนั้นจะมี “ผลดี”… “ผลเสีย” ต่อตัวท่านและต่อประเทศชาติอย่างไร

แน่นอนว่า…ต้องการให้ชาวนาได้รับเงินค่าขายข้าวจากรัฐบาลโดยเร็วที่สุด และด้วยวิธีที่ถูกกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลบอกว่าจะหาเงินมาจาก 3 แหล่ง แหล่งเงินของกระทรวงการคลัง

ซึ่งจริงๆแล้ว คือ เงินของประชาชน, เงินยืมจาก ธ.ก.ส. และเงินที่ได้จากการ ขายข้าวของกระทรวงพาณิชย์

“เงินของกระทรวงการคลัง” ก็คือ เงินของบรรดากองทุนต่างๆ ของหน่วยราชการ โดยกระทรวงการคลังจะบังคับให้หน่วยราชการผู้บริหารกองทุนเหล่านั้นโอนเงินมาฝากที่ ธ.ก.ส. โดยมีเงื่อนไขพิเศษเรื่องกำหนดระยะเวลาการฝาก คือ ไม่ให้ถอนก่อนที่กระทรวงการคลังจะหาเงินจากแหล่งอื่นมาคืนให้ ธ.ก.ส.

กองทุนเหล่านี้ เช่น กองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาล กองทุนของสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ ศูนย์ข่าวอิศรารายงานว่า กระทรวงการคลังอาจจะหาเงินฝากมาได้ 55,000 ล้านบาท ธ.ก.ส.ก็สามารถนำสภาพ

คล่องนี้จ่ายให้เกษตรกรได้ร้อยละ 88-94 ของเงินฝาก…หรือประมาณ 48,400-51,700 ล้านบาท

น่าสนใจว่า…เงินจำนวนนี้ ก็ยังไม่พอจ่ายให้ชาวนาอยู่ดี

“เงินก้อนที่สอง”…รัฐบาลต้องขอกู้จาก ธ.ก.ส. หรือให้ ธ.ก.ส.กู้แล้ว รัฐบาลค้ำประกัน แต่เนื่องจากข้อจำกัดของเพดานการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ตามกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556/57 กระทรวงการคลังก็เลยต้องไปบังคับให้รัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่มีแผนการกู้เงินตามโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทระงับหรือลดการ

กู้ลง แล้วโอนเงินกู้ดังกล่าวไปให้ ธ.ก.ส.กู้แทน…โดยรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน

ส่วน “เงินก้อนที่สาม” จากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์จะมีจำนวนเท่าไรเป็นเรื่องไม่แน่นอน และไม่มีใครรู้ว่าภายในสิ้นมกราคม 2557 นี้ พาณิชย์จะขายข้าวได้อีกเท่าไร จะส่งเงินคืน ธ.ก.ส.ได้เท่าไร

แม้ว่า กกต.จะมีมติให้ระบายข้าวได้ตามปกติแล้วตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2557 ก็ตาม คาดว่า…เงินขายข้าวที่จะส่งคืนให้ ธ.ก.ส.คงได้ไม่มาก อย่างมากคงส่งเงินค่าระบายข้าวในเดือนมกราคม 2557 ให้ธ.ก.ส.ได้เพียง 10,000-15,000 ล้านบาท เท่านั้น

แต่…น่าแปลกใจว่า “ชาวนา” ไม่เคยเดินขบวนทวงถามเงินระบายข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ ทั้งๆที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบมากที่สุด เพราะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวทุกเม็ดในโครงการฯ

“พี่น้องชาวนาครับ ถ้าท่านจะทวงถามเรื่องเงินค่าขายข้าวของท่าน ท่านจะต้องถามกระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช่ ธ.ก.ส. หรือกระทรวงการคลังที่ต้องหาเงินกู้จนตัวโก่ง บากหน้าไปขายพันธบัตรให้ใครในตลาดเงินก็ไม่มีเอกชนคนใดอยากซื้อ ยิ่งเวลานี้กำลังถูกแรงกดดันทางการเมืองให้ต้องเสี่ยงทำผิดกฎหมาย…ยิ่งน่าเห็นใจ”

ดร.นิพนธ์ ย้ำว่า เดชะบุญ…ที่ประเทศไทยสร้างระบบและกติกาการคลังที่มีวินัยไว้ตั้งแต่เมื่อ 53 ปีก่อน และกระทรวงการคลังยังมีข้าราชการส่วนใหญ่ที่ทนเห็นความเหลวแหลกของนักการเมืองบางคนไม่ได้

“จำนำข้าวพ่นพิษ…ชาวนาพิจิตรกลัวไม่ได้เงิน ธ.ก.ส.ค้างจ่าย 5 เดือน…เครียดจนช็อกตาย” ข้อความข่าวส่งผ่านโทรศัพท์มือถือ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำ “โครงการรับจำนำข้าว” มีปัญหาใหญ่ขมวดปมมากขึ้นเรื่อยๆ

ในเวลาไล่เลี่ยกันนี้ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก อ้างถึง…ไทยพับบลิก้า รายงานว่าเมื่อวันที่ 3 ม.ค.2557 คณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ ได้ทบทวนแผนการกู้เงินของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2557 และได้พิจารณากรอบวงเงินรวมที่จะใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 มีวงเงินไม่เกิน 270,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินที่จะใช้มาจาก 2 แหล่งใหญ่ คือ กระทรวงคลังจะจัดหาและค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. 130,000 ล้านบาท และเงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์

ประเด็นสำคัญ คือ วงเงินกู้จำนวน 130,000 ล้านบาทนี้ถือเป็นนโยบายต่อเนื่องหรือไม่

ก่อนที่จะยุบสภา ครม.ยังไม่เคยมีมติเพิ่มกรอบวงเงินจำนำข้าวปีการผลิต 2556/57 ถ้าอย่างนั้นกรอบวงเงินงวดนี้ก็ยังต้องคงอยู่ที่ 500,000 ล้านบาท ตามที่ ครม.มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 2 ต.ค.55 และ 10 มิ.ย.56

ปัญหาประการที่สอง…เพดานการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณรายจ่าย เมื่อ ครม.มีมิติให้กระทรวงพาณิชย์รับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ภายใต้กรอบวงเงิน 270,000 ล้านบาท เมื่อ 3 กันยายน 2556

พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556/57 ผ่านรัฐสภาไปแล้วก็หมายความว่า…มีโครงการเงินกู้ต่างๆที่ต้องอาศัยการค้ำประกันเงินกู้เต็มเพดานแล้ว หากรัฐบาลต้องการให้ ธ.ก.ส.กู้เงินเพิ่มเติมเพื่อใช้รับจำนำข้าว รัฐบาลก็ต้องตัดลดงบประมาณการกู้ยืมหน่วยราชการ…รัฐวิสาหกิจอื่นๆลง

กระทรวงการคลังรู้ข้อจำกัดนี้ดี แต่ก็มีพวกศรีธนญชัยเสนอความคิดให้ ธ.ก.ส.กู้เงิน เพื่อชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในปี พ.ศ. 2557-2560 จำนวน 130,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นการกู้แบบ “refinance” หรือ “roll–over”…แต่แทนที่จะไปไถ่ถอนหนี้เก่า ก็เอาไปจ่ายชาวนาที่เอาข้าวมาจำนำ

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ฝากทิ้งท้ายว่า “ถ้าข่าวนี้เป็นจริง ก็หมายถึงว่าแม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ ก็ยังกล้าที่จะแหกกฎกติกาต่างๆ…การไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์การเงินการคลัง ผลร้ายที่จะตามมาคือการล่มสลายของ ธ.ก.ส. ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศ…ไม่มีที่พึ่งทางการเงินอีกต่อไป”

เอวัง…ก็มีด้วยประการฉะนี้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 14 มกราคม 2557 ในชื่อ “จำนำข้าว…ถังแตก ติดหล่มกู้1.3แสนล้านฯ”