กู้โปะจำนำข้าวถังแตก ศรีธนญชัยโกงโดยสุจริต

ปี2014-01-16

สกู๊ปหน้า 1

“จำนำข้าว…ถังแตก ติดหล่มกู้ 1.3 แสนล้านบาท” สกู๊ปหน้า 1 ไทยรัฐความเดิมตอนที่แล้วสะท้อนประเด็น…วิธีเลี่ยงข้อจำกัดเพดานการกู้เงิน…การค้ำประกันเงินกู้ตามกฎหมาย…วิธีการงบประมาณ

ประหนึ่งว่า…หากผู้บริหารสถาบันการเงินและกระทรวงการคลัง ยอมก้มหัวรับใช้นักการเมือง ก็อาจจะเกิดแผลลึก สร้างประวัติศาสตร์ศรีธนญชัยโกงโดยสุจริตระลอกใหม่

“รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีความชอบธรรมที่จะกำหนดนโยบาย ประชานิยม แม้จะเป็นประชานิยมสุดโต่งก็ตาม แต่การที่ประชาชนเลือก ท่านมาบริหารประเทศ มิได้หมายความว่าประชาชนได้ให้อำนาจท่านทำ ทุกอย่างตามอำเภอใจ…

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำลายกฎกติกาด้านการเงินการคลังและการ บริหารประเทศแบบขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของ อำนาจในระบอบประชาธิปไตย”

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บอกอีกว่า ผมไม่เชื่อว่า…รัฐบาลชุดนี้จะรับฟังความเห็นของผม จึงเขียนจดหมายเปิดผนึกขึ้นมาเพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ กกต.และป.ป.ช. โดยหวังว่าจะสามารถป้องกันไม่ให้นักการเมืองบางคนทำลายกฎเกณฑ์การเงินการคลังของประเทศ

ความสุ่มเสี่ยงที่จะ…ผิดกฎหมายเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องย้อนไปถึงเมื่อเริ่มมีโครงการรับจำนำข้าวแบบทุกเม็ด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554…ข้าราชการกระทรวงการคลังเริ่มตระหนักว่าโครงการนี้จะก่อภาระหนี้สินจนเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติการคลังของประเทศได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงทำเรื่องเสนอให้รัฐบาลกำหนดวงเงินค้ำประกันเงินกู้ เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร

เพราะในแต่ละปีงบประมาณกระทรวงการคลังจะสามารถค้ำประกัน เงินกู้ของหน่วยราชการทั้งหมดได้จำกัดไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หากปล่อยให้มีการใช้เงิน ในโครงการรับจำนำมากขึ้น รัฐก็ต้องลดวงเงินกู้ส่วนที่จะนำไปลงทุนพัฒนาประเทศ

ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2555 และ 10 มิถุนายน 2556 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติกำหนดเพดานการกู้เงินเพื่อใช้จำนำข้าวจนถึงสิ้นปี 2556 ว่าต้องอยู่ภายใต้กรอบเงินกู้ 410,000 ล้านบาท และเงินทุน ธ.ก.ส. 90,000 ล้านบาท รวม 500,000 ล้านบาท และให้นำเงินจากการระบายข้าวมาใช้หมุนเวียนในการจำนำข้าว

“สังคมไทย…ต้องขอบคุณรัฐมนตรีและข้าราชการกระทรวงการคลัง ที่นำเสนอเรื่องนี้ต่อรัฐบาล” ดร.นิพนธ์ ว่า “ในการรับจำนำข้าวเปลือก ตลอดปีการผลิต 2556/57 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 3 ก.ย. 56 ว่าจะใช้วงเงิน 270,000 ล้านบาท และอยู่ในกรอบสินเชื่อ 410,000 ล้านบาท และเงินทุน ธ.ก.ส. 90,000 ล้านบาท ตามที่เคยมีมติอนุมัติ”

มตินี้สำคัญมาก ด้วยเหตุผล 2 ข้อ ข้อแรก…หากโครงการรับจำนำข้าวในปี 2556/57 จะมีเงินพอจ่ายให้ชาวนา เงินส่วนใหญ่ก็จะต้องมาจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ เพราะการจำนำตลอดสองปีได้ใช้เงินกู้ไปจนเกือบเต็มวงเงินค้ำประกัน 500,000 ล้านบาทแล้ว ไม่สามารถกู้เพิ่มเติมได้ทว่า…กระทรวงพาณิชย์กลับไร้ความสามารถในการขายข้าวตลอด เวลา 2 ปีที่มีการจำนำข้าว (ตุลาคม 2554–22 ธันวาคม 2556) กระทรวงพาณิชย์ส่งเงินค่าระบายข้าวเพื่อใช้หนี้ ธ.ก.ส. แค่ 146,507 ล้านบาท ทั้งๆที่ ธ.ก.ส. จ่ายเงินสดค่าจำนำข้าวให้ชาวนาไปแล้ว 707,734ล้านบาท

ความสำคัญ ข้อสอง…มติกำหนดกรอบวงเงิน เมื่อ 3 กันยายน2553 เกิดขึ้นหลังจากมีการผ่านกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556/57 ไปแล้ว รัฐบาลไม่สามารถกู้เงินเกินกว่าเพดาน 500,000 ล้านบาทเพื่อนำมาใช้ในการจำนำข้าวปี 2556/57 หรือถ้าต้องการกู้เงินเพิ่ม ครม.ก็ต้องมีมติแก้ไขมติเดิม และลดวงเงินกู้ของโครงการพัฒนาของหน่วยงานรัฐอื่นๆลง ซึ่งหมายความว่า…โครงการรับจำนำข้าวจะส่งผลลบต่อการพัฒนาประเทศ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้มีมติอย่างไร จนกระทั่งมีการยุบสภา

การประท้วงของชาวนาที่ไม่ได้รับเงินค่าขายข้าว ทำให้รัฐเกรงว่า จะสูญเสียฐานเสียงใหญ่ของชาวนา นักการเมืองจึงกดดันให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. หาช่องทางหลีกเลี่ยงกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา181 (3), (4)โดยรัฐบาลจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการเลือกตั้งตีความว่าการกู้เงิน 130,000 ล้านบาท…

หรือการให้ ธ.ก.ส.นำเงินฝากจากหน่วยงานของรัฐมาจ่ายเป็นค่าจำนำข้าวให้ชาวนาขัดกับหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการเลือกตั้งหรือไม่ รัฐบาลเชื่อว่า…ไม่ขัดหลักเกณฑ์ เพราะเป็นนโยบายต่อเนื่องที่ผ่านการอนุมัติของ ครม. แล้วเมื่อ 3 กันยายน 2556 ถ้า กกต.มีมติว่าทำไม่ได้ ดร.นิพนธ์หวังว่ารัฐบาลจะไม่โยนความผิดให้ กกต.

รัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) กำหนดว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร จะไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไป

“จริงอยู่…การสลับวงเงินค้ำประกันเงินกู้โดยลดการกู้ของรัฐวิสาหกิจ3 แห่ง เพื่อให้ ธ.ก.ส.สามารถกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท มีผลให้ยอดหนี้สาธารณะรวม ไม่เพิ่มขึ้น และอาจลดลง 8,000 ล้านบาท แต่อย่าลืมว่า ครม.เคยมีมติว่าวงเงินจำนำข้าวปี 2556/57 จะต้องอยู่ในกรอบวงเงินค้ำประกันกระทรวงการคลัง 5 แสนล้านบาท”

ข้อนี้…แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะจะมีมติว่ากรอบวงเงิน 270,000 ล้านบาท สำหรับการจำนำปี 2556/57เป็นกรอบใหม่ ไม่เกี่ยวกับกรอบวงเงิน 500,000 ล้านบาทเดิม และจะเสนอมตินี้ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ แต่มตินี้เกิดขึ้นเมื่อ 3 ม.ค.57 หลังจากการยุบสภาคณะกรรมการนโยบายฯ และคณะรัฐมนตรีรักษาการไม่มีอำนาจเพิ่มกรอบวงเงินกู้ของโครงการจำนำข้าว เพราะจะเป็นภาระผูกพันต่อรัฐบาลชุดใหม่

“แม้ว่ายอดหนี้สาธารณะของประเทศจะไม่เพิ่มขึ้น แต่ลำพังเฉพาะ การให้ ธ.ก.ส. กู้เงินเพิ่มขึ้นอีก 130,000 ล้านบาท…ก็เป็นการสร้างภาระผูกพัน ให้คณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เพราะการกู้ดังกล่าวจะต้องมีการทำนิติกรรม ผู้ที่จะใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงเป็นรัฐบาลชุดต่อไป รัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจการกู้เพิ่มเติมจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 3 กันยายน2556”

ปัญหาประการสุดท้าย มีอยู่ว่า…การบังคับให้หน่วยงานรัฐโยกเงินฝากจากสถาบันการเงินอื่นมาฝากกับ ธ.ก.ส. โดยมีเงื่อนไขพิเศษในการฝากแล้วให้ ธ.ก.ส.นำเงินฝากดังกล่าวไปจ่ายให้แก่ชาวนาที่ได้รับใบประทวนแล้ว

วิธีนี้ดูแนบเนียนดีเพราะ ธ.ก.ส.เอาสภาพคล่องส่วนเกินมาให้ชาวนากู้ ภาระหนี้ของรัฐบาลไม่ได้เพิ่มขึ้น คำถามคือวิธีนี้จะมีปัญหาอะไร ดร.นิพนธ์ อธิบายว่า การจ่ายเงินค่าข้าวให้ชาวนาที่นำข้าวมาจำนำกับรัฐบาลก็คือการให้ชาวนากู้เงิน หากครบกำหนด 4 เดือน ชาวนาไม่มาไถ่ถอนข้าวคืน…ซึ่งก็คงไม่มีใครมาไถ่ถอน ข้าวก็ตกเป็นของรัฐ หนี้ของชาวนาก็จะกลายเป็นหนี้ของรัฐบาลชุดต่อไป ที่ต้องหาเงินมาชำระคืนแก่ ธ.ก.ส.

ฉะนั้นวิธีนี้จึงขัดกับมาตรา 181 (3) เช่นกัน…ส่วนประเด็นที่ว่าวิธีเหล่านี้จะขัดกับมาตรา 181 (4) ที่ระบุว่า ไม่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใด ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง หรือไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนด เป็นอำนาจการวินิจฉัยของ กกต. ซึ่ง ดร.นิพนธ์ บอกว่า “ไม่อยู่ในฐานะ…ที่จะให้คำตอบได้”

ทรรศนะทั้งหมดนี้ ดร.นิพนธ์ยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาที่จะขัดขวางการจ่ายเงินค่าข้าวให้ชาวนา แต่ต้องการให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อชาวนาด้วยวิธีที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ใช้วิธีหาเสียงทางการเมืองโดยอาศัยวิธีการแบบศรีธนญชัย พยายามเลี่ยงกฎหมาย โดยไม่สนใจว่าจะมีผลเสียหายมากมายตามมา

บทสรุปปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นวันนี้… “เราไม่รู้ว่า…จะได้รัฐบาล ใหม่เมื่อใด ทำให้ไม่รู้ว่า…เมื่อไรชาวนาจะได้รับเงินคืน”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 16 มกราคม 2557 ในชื่อ “กู้โปะจำนำข้าวถังแตก ศรีธนญชัยโกงโดยสุจริต”