ประชาธิปไตยแบบไทย เอาไง เลือกตั้ง-เลื่อนตั้ง

ปี2014-01-22

สกู๊ปหน้า 1

สถานการณ์การเมืองดูเหมือนจะร้อนแรงขึ้น…เพราะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นแล้วหลายระลอก ไม่ว่าจะด้วยฝ่ายใดสร้างสถานการณ์หวังผลใด ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ เห็นว่าเราควรร่วมกันทำให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ

“ประชาธิปไตย”…เป็นวิธีการระงับความขัดแย้งที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา โดยมีการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่สำคัญ คำจำกัดความของ “ประชาธิปไตย” ที่ยอมรับกันส่วนใหญ่ จึงมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม (free and fair election) เป็นองค์ประกอบด้วยเสมอ…

ประโยคที่ว่า “การเลือกตั้งเป็นสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน ที่ไม่มีใครหรือกลุ่มใดสามารถละเมิดได้” จึงเป็นประโยคสำคัญในแถลงการณ์ของเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ที่เปิดวงเสวนาเมื่อไม่นานที่ผ่านมา

ดร.สมเกียรติ บอกว่า ในแถลงการณ์ดังกล่าว ยังมีประโยคที่สำคัญอีกประโยคหนึ่งคือ “เราควรทำให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ”

ในความเข้าใจส่วนตัว ประโยคนี้สะท้อนแนวคิดที่ว่า การเลือกตั้งเป็นเพียง “วิธีการ” ในการแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งแม้จะเป็นวิธีการที่สำคัญและมีความหมายมาก แต่ก็ไม่ใช่ “เป้าหมาย” โดยตัวของมันเอง

โดยนัยนี้ “หากการเลือกตั้งไม่นำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ แต่ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นจนถึงขั้นเกิดความรุนแรง

เราก็น่าจะพิจารณาดูว่า…สมควรต้องทำอะไร เช่น เลื่อนการเลือกตั้งออกไปสักระยะ เพื่อลดการเผชิญหน้าทางการเมืองลงก่อน โดยวิธีการต่างๆ รวมทั้งเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปการเมืองไปด้วยหรือไม่”

แง่มุมของคนที่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรง หนึ่งทัศนะจากผู้ที่มีอาชีพหมอระดับศาสตราจารย์ ทำงานเป็นอาจารย์แพทย์ นักวิจัย ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน เห็นโลกและผ่านประสบการณ์การเมืองมาหลายยุคหลายสมัย…สะท้อนว่า วันนี้เงื่อนไขคือ “การเลือกตั้ง” ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มหนึ่ง

ปัญหาก็คือ…ถ้ายอมรับการเลือกตั้งก็ต้องยอมรับว่าอาจแพ้ แต่ได้ปลุกเร้าความรู้สึกเกลียดการโกงได้ระดับหนึ่งและต้องอดทนกระตุ้นคนทั้งชาติเกลียดการโกง…ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม และช่วยกันตรวจสอบ

พร้อมกับสร้างทางเลือกคนใหม่ๆทำงานเป็นและไม่โกง จนเลือกตั้งครั้งหน้า

ถัดมา…ทางเลือกที่สองไม่ยอมรับการเลือกตั้งจนกว่าจะกวาดบ้านได้ก่อน ซึ่งต้องได้รับการต่อต้านจากรัฐบาลและมวลชนที่รัฐบาลเพาะบ่มมา 10 ปี…ทางเลือกนี้กล้าหาญยึดคุณธรรม ยอมหักไม่ยอมงออาจได้น้ำตาความเคียดแค้นมากขึ้น ทางเลือกประการที่สาม…มวลชนทั้งสองฝ่ายจับมือกัน กอดกัน สัญญาต่อกันว่าเป้าหมายต้องไม่ทำร้ายกัน นำประเทศสู่การเป็นมหาอำนาจ ขจัดการแบ่งแยกชนชั้น เอื้อเฟื้อ ทลายช่องว่าง

ไม่ยอมรับแกนนำใดๆปลุกปั่นบิดเบือน โกงชัดๆ และใช้ประชาชนเป็นเหยื่อ…

“ยังไม่สาย…ทั้งสองฝ่ายปฏิเสธการเลือกตั้งที่ไม่พร้อม และกฎต่อจากนี้คือมีการเลือกตั้ง แต่รัฐมนตรีเป็นคนนอกมืออาชีพ นักการเมืองที่ได้รับเลือกมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานให้เป็นไปตามเป้าเท่านั้น”

การเลือกตั้งและการปฏิรูปเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ที่ร่วมในเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการและประชาสังคมไม่ได้มีความคิดเห็นตรงกันทั้งหมดในรายละเอียด แม้ว่าจะมีแนวคิดพื้นฐานเหมือนกันคือ การยึดหลักการและแนวทางของประชาธิปไตย การคัดค้านการรัฐประหารและการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ตลอดจนการสนับสนุนการปฏิรูปประเทศบนวิถีทางประชาธิปไตย

ฝ่ายหนึ่ง…ให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการมีเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ด้วยเหตุผลที่อีกฝ่ายก็เคารพนั่นก็คือ “การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป โดยอ้างว่าจะต้องปฏิรูปประเทศให้เสร็จสิ้นก่อน จะเปิดช่องให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง และทำลายกติกาประชาธิปไตย”

ซึ่ง…เสี่ยงที่จะทำให้เกิดความรุนแรง เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยได้แสดงความต้องการที่จะรักษาสิทธิในการเลือกตั้งของตนไว้ดังจะเห็นได้จากการรณรงค์ “Respect My Vote” ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งรวม ดร.สมเกียรติ ด้วย มีความเห็นว่า“การมุ่งเดินหน้าเพื่อจัดการเลือกตั้งให้ได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ไม่ว่าจะเกิดผลลัพธ์อะไรตามมาก็ตาม ก็น่าจะทำให้เกิดปัญหาเช่นกัน”

ทัศนะส่วนตัวคิดว่า การเลือกตั้งโดยที่คู่ขัดแย้งที่สำคัญอีกฝ่ายหนึ่งคือทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และ กปปส. ไม่ยอมรับ จะไม่ทำให้ความขัดแย้งลดลงและช่วยให้เราออกจากจุดอับทางการเมืองได้ ทั้งนี้เป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตเหมือนที่เกิดในบังกลาเทศ

จริงอยู่เราอาจกล่าวได้ว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมในการเลือกตั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่ไม่เห็นว่า…ลำพังการกล่าวโทษเช่นนั้น จะทำให้เราออกจากจุดอับในปัจจุบันได้อย่างไร

“ผมเชื่อว่า ภาพที่คนไทยจำนวนไม่น้อยอยากเห็นก็คือ ในเวลาอีกไม่นานเกินไป จะมีการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วม โดยทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น

ในกรณีนี้การเลือกตั้งจะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างแท้จริง”

ข้อความที่ทุกฝ่ายในเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ยอมรับร่วมกันคือ “เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ” โดยไม่ได้ระบุว่าจะต้องเลือกตั้งให้ได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้

“หากรัฐธรรมนูญมีช่องทางให้สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เราก็สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ แต่เราไม่ควรเลื่อนการเลือกตั้งเพียงเพราะมีฝ่ายใดไปขัดขวาง”

ดร.สมเกียรติ ย้ำแนวคิดที่ว่า เราควรเลื่อนการเลือกตั้งออกไป โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมจากที่กล่าวมาข้างต้น ดังนี้คือ หนึ่ง…การเลื่อนต้องเกิดขึ้นจากความเห็นพ้องของพรรคการเมืองทั้งหลาย เพื่อทำให้พรรคการเมืองต่างๆกลับเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

สอง…ต้องไม่เลื่อนออกไปนานเกินสมควร เช่น ไม่ควรเกิน 4-5 เดือน สาม…ต้องเป็นการเลื่อนเพียงครั้งเดียว ไม่ใช่เลื่อนไปเรื่อยๆ สี่…

ในระหว่างนี้รัฐบาลโดยความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ ควรเริ่มกระบวนการปฏิรูปทางการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นหัวใจของความขัดแย้งในครั้งนี้ เช่น การวางกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของเสียงข้างมาก เพื่อให้เสียงข้างน้อยมั่นใจได้ว่า สิทธิเสรีภาพและพื้นที่ของเขาจะไม่ถูกลิดรอนอย่างไม่เป็นธรรม

หากมีสัญญาณที่น่าเชื่อถือว่า…การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จริง โอกาสที่สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติก็จะเกิดได้มากขึ้น

พุ่งเป้าไปที่ประเด็นการเลื่อนการเลือกตั้ง ดร.สมเกียรติ ไม่ได้คาดหวังว่าผู้ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ “2 เอา 2 ไม่เอา” ทุกท่านจะเห็นด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องเคารพความเห็นของทุกคน และยินดีที่จะร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนกับทุกท่านอย่างฉันมิตร บนความเชื่อที่ว่า… “การร่วมพูดคุยโดยไม่ด่วนตัดสินกัน เป็นแนวทางในการระงับความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจร่วมกันได้ แม้จะมีความคิดที่แตกต่างกัน”

ดร.สมเกียรติ บอกอีกว่า หากพวกเรา…นักวิชาการและประชา–สังคม ซึ่งน่าจะไม่มีผลประโยชน์ใดแอบแฝง ยังไม่สามารถพูดคุยกันได้ เราจะไปคาดหวังให้คู่ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งมีส่วนได้เสียมหาศาลในการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ เจรจากันเพื่อหาทางออกให้ประเทศไทยได้อย่างไร

“ทุกฝ่ายคงตระหนักดีว่า ถึงอย่างไรพวกเราก็จะต้องอยู่ร่วมกันในประเทศไทยต่อไป โดยไม่สามารถขจัดผู้ที่คิดเห็นแตกต่างจากเราไปได้ เมื่อตระหนัก…เราก็จะมุ่งหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 21 มกราคม 2557 ในชื่อ “ประชาธิปไตยแบบไทย เอาไง? เลือกตั้ง-เลื่อนตั้ง”