รัฐบาลถึงทางตัน ‘จำนำข้าว’ แนะระบาย ‘ข้าวเปลือก’ ให้เอกชน

ปี2014-02-03

กรณีกระทรวงการคลังเปิดประมูลเงินกู้ในโครงการรับจำนำข้าว แต่ไม่มีสถาบันการเงินใดให้ความสนใจ สะท้อนให้เห็นปัญหาของโครงการ คนในวงการข้าวแนะเร่งระบายข้าวเปลือกให้เอกชน หาทางหาเงินเพื่อใช้ในโครงการ

นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวถึงกรณีการเปิดประมูลเงินกู้ในโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2556/57 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ที่ขณะนี้ยังไม่มีสถาบันการเงินใดเข้ามาประมูล หรือตอบรับการขอกู้เงินครั้งนี้ของรัฐบาล ว่า เป็นเรื่องที่ไม่ได้ผิดความคาดหมายของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการข้าวแต่อย่างไร เพราะว่าสถาบันการเงินต่างทราบข้อมูลเหมือนกับที่หลายๆ ฝ่ายทราบตรงกันว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลมีปัญหามาโดยตลอด เป็นโครงการที่มีความเสี่ยง แม้ว่าในการขอกู้เงินครั้งนี้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้

แต่คาดว่าทุกสถาบันการเงินจะต้องใช้เวลาในการศึกษา ว่า การกู้ครั้งนี้ของรัฐบาลถูกกฎหมายหรือไม่ และการนำเงินฝากมาใช้ปล่อยกู้ในลักษณะนี้ขัดกับระเบียบของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่ เรื่องเหล่านี้ต้องมีการศึกษาที่รอบคอบเพราะหากว่ามีข้อติดขัดทางกฎหมาย อาจมีปัญหาในการคืนเงินตามมาในอนาคต และจะกระทบต่อชื่อเสียงและความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินด้วย

“ผมมองว่ารัฐบาลเดินมาถึงทางตันอีกครั้ง เพราะถึงขนาดว่าจะต้องไปขอกู้เงินในต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก เพราะจริงๆ แล้ว สถาบันการเงินในประเทศ มีสภาพคล่องพอจะปล่อยเงินกู้ให้ แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นที่มีต่อโครงการ กลายเป็นว่าแบงก์ไหนให้รัฐบาลกู้เงินมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ถือว่าเสียภาพลักษณ์ ซึ่งก็เป็นเพราะปัญหาของโครงการที่สะสมมาตลอด”

นายนิพนธ์ กล่าวต่อไปว่าแนวทางที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินให้ชาวนาโดยการรับจำนำใบประทวนจะสามารถแก้ไขปัญหาของชาวนาได้ในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากวงเงินที่ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ให้แก่เกษตรกรคิดราคาข้าวสารตามราคาตลาด ไม่ใช่คิดที่ราคาจำนำตันละ 15,000 บาท โดยชาวนาได้เงินค่ารับจำนำ ใบประทวนในราคาตันละ 8,000 – 8,500 บาทเท่านั้น

นอกจากนั้น ชาวนายังต้องเสียดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส.ด้วย ซึ่งรัฐบาลควรจะมีการจ่ายชดเชยค่าดอกเบี้ยจำนวนนี้ให้กับชาวนา เพราะรัฐบาลเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการจ่ายค่าข้าวให้กับชาวนาล่าช้าจนได้รับความเดือดร้อน

ส่วนปัญหาในเรื่องของการระบายข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าว่าจะส่งออกหลายล้านตัน ในปีที่ผ่านมา ในขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากผู้นำเข้าข้าวจากประเทศไทยยังไม่แน่ใจในคุณภาพข้าวในสต็อกของรัฐบาล เช่น กรณีของประเทศจีนได้ชะลอการซื้อข้าวไทยในแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ออกไปด้วยเหตุผลดังกล่าว คาดว่าหากโครงการรับจำนำข้าวมีการยกเลิกและสต็อกข้าวกลับไปอยู่ในมือของเอกชนตามเดิม จะสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่า และประเทศจีนที่คุ้นเคยกับระบบการซื้อข้าวจากผู้ค้าเอกชนของไทย จะกลับมาซื้อข้าวจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น

นายนิพนธ์ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลไม่สามารถระบายข้าวสารได้ จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการขายข้าว โดยต้องเน้นการขายข้าวเปลือกให้กับเอกชน เพื่อให้เอกชนซื้อข้าวไปทำข้าวนึ่งเพื่อส่งออก ซึ่งขณะนี้ตลาดข้าวนึ่งของประเทศไทยยังดำเนินไปได้ตามปกติ ดังนั้น หากรัฐบาลเน้นการระบายข้าวเปลือกให้เอกชนจะทำให้ได้เงินมาคืนโครงการรับจำนำ และสามารถให้ ธ.ก.ส.จ่ายให้กับชาวนาได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ พบว่าในปัจจุบันแม้โครงการรับจำนำข้าวจะมีผู้คัดค้านโครงการและจับตาการทุจริตในโครงการมากขึ้น แต่ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องหลายพื้นที่ยังพบการทุจริตอยู่ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีคำสั่งให้หยุดการแปรสภาพข้าวจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ดังนั้น ในขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพข้าวก่อนสีแปรสภาพผู้ตรวจสอบคุณภาพ หรือ “เซอร์เวเยอร์” จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เรียกเก็บเงินจากโรงสี เรียกว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” โดยมีการเรียกเก็บเงินในราคากระสอบละ 10 บาท ถึง 80 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพและราคาของข้าว หากข้าวมีคุณภาพต่ำมาก หรือเป็นข้าวที่ผิดสเปคที่รัฐบาลกำหนด เช่น เป็นข้าวที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ก็จะมีการเรียกเก็บเงินสูงถึงกระสอบละ 80 บาท หรือตันละ 800 บาท

“ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องหยุดขั้นตอนตรงนี้ให้ได้ รัฐบาลต้องมีคำสั่งไม่ให้สีแปรสภาพข้าว แล้วก็เอาข้าวที่มีอยู่ขายเป็นข้าวเปลือกให้กับเอกชนไปขายในตลาดข้าวนึ่ง จะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีกว่า” นายนิพนธ์ กล่าว

‘ทีดีอาร์ไอ’ ชี้ต้องหยุดจำนำข้าว

นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจสาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาการดำเนินการในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลกลับมาเป็นประเด็น จากการที่ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 อะไรคือสาเหตุสำคัญของปัญหาในครั้งนี้ แนวทางการแก้ปัญหาให้กับชาวนาควรเป็นอย่างไร อนาคตของอุตสาหกรรมข้าวจะไปในทิศทางไหน

ปัญหาของโครงการที่กลายมาเป็นปัญหา ทุกวันนี้มีผลมาจาก ตั้งแต่เรื่องแนวคิดของโครงการ มาจนถึงวิธีดำเนินโครงการ โดยแนวคิดโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ต้องการช่วยชาวนา ตั้งใจที่จะสร้างประวัติศาสตร์โดยการใช้คำว่ารับจำนำทุกเม็ด แม้ข้าวไม่ได้เข้ามาทุกเม็ดจริง แต่ก็เป็นการรับจำนำแบบเกือบจะไม่จำกัดปริมาณซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ทำให้มีผลดีตรงที่ว่าชาวนาไม่ได้ถูกกดราคาเหมือนกับการรับจำนำหรือการแทรกแซงในอดีต และคิดว่าในช่วง 2 ปีแรกก็ได้ผลอย่างนั้นจริง ชาวนาไม่ถูกกดราคาง่าย ๆ เพราะมีโรงสีที่ให้บริการจำนวนมาก ทำให้ชาวนามีทางเลือก อันนั้นเลยเป็นความสำเร็จในประวัติศาสตร์ของโครงการนี้

แต่ว่าโครงการนี้เริ่มมาจากแนวคิดและ ความเชื่อที่ผิด โดยเฉพาะความคิดที่เชื่อว่าเมื่อรัฐบาลผูกขาดตลาดข้าวแล้วจะทำให้สามารถควบคุมราคาในตลาดโลกได้ ซึ่ง รมว.พาณิชย์เคยพูดว่าจะใช้เงินน้อยกว่าโครงการที่พรรคประชาธิปัตย์ทำในอดีต และเชื่อว่าจะใช้เงินไม่เกินแสนล้านต่อปี แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทีดีอาร์ไอเคยเตือนมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่าความเชื่ออย่างนี้เป็นความเชื่อที่ผิด เราประมาณการไว้แต่แรกว่าโครงการนี้จะขาดทุนมากกว่าแสนล้านบาท จากการซื้อข้าวมาแล้วขายไปในราคาตลาดโลก ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมราคาในตลาดโลกได้

รัฐบาลทำโครงการที่เป็นประวัติศาสตร์ใหญ่โตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่กลับไม่มีมาตรการหรือเตรียมการอะไรมากกว่าที่เคยทำมาในอดีต ปัญหาจึงหนักกว่าที่ประมาณการเอาไว้ คือ นอกจากไม่สามารถขายข้าวได้ในราคาตลาดแล้ว เขายังขายข้าวได้ในราคาที่แย่กว่าตลาดโลก และในปริมาณที่น้อยกว่าปกติมาก จึงนำมาสู่การขาดทุนมากกว่าที่ประมาณการไว้ และส่วนที่สองคือนำมาสู่ปัญหาสภาพคล่องของโครงการ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถขายข้าวได้ในปริมาณที่คาดหมายไว้จึงทำให้เงินไปจมกับ สต็อกข้าวจำนวนมาก ทำให้ในที่สุดแล้วเงินสำรอง 5 แสนล้านก็หมด สิ่งที่ต้องทำ ตอนนี้คือหนึ่งต้องเร่งระบายข้าว สองมีสัญญาณฟ้องว่ารัฐบาลไม่สามารถทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ได้

แต่ที่น่าสนใจคือพรรคเพื่อไทยยังคงใส่นโยบายจำนำข้าวไว้ในนโยบายหาเสียง ทั้งรู้ว่ามีปัญหาแล้วยังดันทุรังทำต่อไป ปัญหาก็จะยิ่งหนักขึ้นในอนาคต

ทีดีอาร์ไอเคยมีข้อเสนอการกำกับดูแลตลาดข้าว โดยคิดว่า แนวความคิดที่รัฐบาลต่าง ๆ ในประเทศไทยมักใช้หาเสียงกับเกษตรกรมาตลอดคือ การบอกว่ารัฐบาล (ถ้าได้เป็น) จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ซึ่งแนวความคิดนี้ตนคิดว่าเป็นแนวความคิดที่ผิด เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออก ซึ่งราคาสินค้าเกษตรที่ส่งออกก็จะเชื่อมโยงตลาดโลก และในหลายๆ กรณีก็ถูกกำหนดโดยตลาดโลก

ฉะนั้นการมาตั้งราคาในประเทศให้สูงกว่าตลาดโลก สิ่งที่เกิดขึ้นอันดับแรกคือ จะมีปัญหาในการขายขาดทุน แต่นั่นยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่สุดที่กรณีรัฐบาลเป็นผู้รับซื้อเพราะถือเป็นการช่วยเหลือเกษตร แต่ปัญหาใหญ่คือยิ่งรัฐบาลพยายามยกระดับราคาในประเทศให้สูงขึ้นเท่าไหร่ก็จะจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชนั้นมากขึ้น และรัฐบาลก็จะมีปัญหาในการขายมากขึ้น ซึ่งโครงการจำนำข้าวเป็นตัวอย่าง แต่ไม่ว่าทำกับพืชผลเกษตรชนิดไหนก็จะสร้างปัญหาให้ประเทศในระยะยาว เพราะไม่ใช่ว่าทำแล้วได้สินค้าที่ขายได้ง่ายแต่เป็นสินค้าที่ขายได้ยากเพราะมีต้นทุนสูงกว่าของตลาดโลก

คำถามคือว่าเราควรปล่อยให้เกษตรกรรับภาระกับความผันผวนของราคาตลาดโลกทั้งหมดหรือไม่

ดังนั้นหากจะช่วยรัฐบาลควรจะมีโครงการที่มาช่วยรับภาระความเสี่ยงตรงนั้น แนวคิด ง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าราคาผลผลิตในฤดูหนึ่งไม่ต่างจากในอดีต รัฐบาลก็ไม่ต้องไปช่วยอะไรถือว่าเกษตรกรได้รับราคาตามที่คาดหมายไว้ตั้งแต่ก่อนตัดสินใจปลูกแล้ว แต่ถ้าราคาต่ำกว่าที่คาดหมาย รัฐบาลอาจเข้าไปชดเชยตรงนั้นได้

“ประเด็นสำคัญคือ ถ้าราคาตกลงกะทันหันก็จำเป็นต้องช่วยเกษตรกร แต่อย่าไป สัญญาว่าจะยกระดับราคาให้สูงกว่าตลาดซึ่งจะสร้างแรงจูงใจที่ผิดและสร้างปัญหาต่างๆ มามากมาย ซึ่งบทเรียนที่ผ่านมาก็เห็นชัดเจน”

ในทางปฏิบัติ เมื่อไรก็ตามที่ไปสร้างโครงการที่บอกว่าจะมีการยกระดับราคาไม่ว่าจะเป็นการยกระดับโดยตรงอย่างโครงการรับจำนำข้าว หรือไปจ่ายเงินชดเชยเพิ่มรวมแล้วสูงกว่าราคาตลาด (โครงการประกันราคา) ก็จะไปสร้างแรงจูงใจที่จะมีการผลิตเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำมากกว่าคือการไปช่วยแก้ปัญหาความเสี่ยงในระยะสั้น กรณีราคาตกต่ำกะทันหัน แต่อย่าพยายามที่จะไปยกระดับราคาโดยคิดว่าจะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวซึ่งในทางปฏิบัติไม่เคยทำได้

นายวิโรจน์ กล่าวว่าโครงการรับจำนำข้าว พิสูจน์แล้วว่าแม้จะทำให้ชาวนาได้ราคาข้าวเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถจัดการ กับสต็อกที่เหลืออย่างมีประสิทธิภาพได้ และเป็น ความล้มเหลวที่นำมาสู่การขาดทุนย่อยยับของ โครงการและจนมาถึงทำให้รัฐบาลไม่สามารถจ่ายเงินชาวนาได้อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้โครงการรับจำนำจึงควรหยุดได้แล้ว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 ในชื่อ “รัฐบาลถึงทางตัน’จำนำข้าว’ แนะระบาย’ข้าวเปลือก’ให้เอกชน”