tdri logo
tdri logo
5 กุมภาพันธ์ 2014
Read in Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอแนะเร่งระบายข้าว-ระยะยาวต้อง ‘เลิก’

นักวิชาการจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาสภาพคล่องโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนักในขณะนี้ มีวิธีเดียวคือเร่งระบายข้าว และต้องยกเลิกในระยะยาว เพราะเสี่ยงประเทศล้มละลาย จากเม็ดเงินมหาศาลและการทุจริต

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวว่าเป็นโครงการที่ล้มละลายตั้งแต่เริ่มโครงการ เพราะว่ารัฐบาลรับซื้อแพงแต่กลับขายถูก ขณะเดียวกันแม้รัฐบาลจะนำข้าวบางส่วนไปขายเพื่อสร้างรายได้ แต่มักจะมีปัญหาขาดทุนตลอด “เชื่อว่าจุดที่รัฐบาลรับซื้อกับจุดที่รัฐบาลขายข้าวเป็นจุดที่มีทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุด ทำให้เงินที่ได้มาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น”

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า หากย้อนกลับไปดูโครงการนี้พบว่าตั้งแต่เริ่มโครงการไม่มีการทำบัญชีโครงการอย่างเป็นระบบ และหากทำบัญชีอย่างเป็นรูปธรรม พบว่า รัฐบาลมีภาระที่ต้องจ่ายเงินให้ชาวนาถึง 124,000 ล้านบาท และคาดว่าในช่วงนี้รัฐบาลจะขายข้าวได้เพียง 10,000-15,000 ล้านบาท นั่นหมายถึง รัฐบาลยังขาดเงินที่จะมาจ่ายชาวนาอีกนับแสนล้านบาท โดยรัฐบาลเตรียมหาเงินจากแหล่งต่างๆ มาหมุนเพื่อให้เกิดสภาพคล่อง หรือการชะลอการขอกู้เงินของรัฐวิสาหกิจ เพื่อเปิดทางให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีเม็ดเงินไปกู้ ซึ่งพอจะทำให้หนี้โดยรวม ของรัฐบาลไม่ใหญ่จนเกินไป

“ปัญหาจริงๆ ของโครงการรับจำนำข้าว มีมากกว่าเรื่องการขาดสภาพคล่อง ซึ่งถ้าหากทำบัญชีแล้วย้อนกลับไปดูผลการดำเนินการที่ผ่านมาตลอดฤดูกาลปี 2554-2556 รัฐบาลได้ซื้อข้าวจากชาวนาโดยจ่ายเงินไปแล้วจำนวน 700,000 ล้านบาท แต่ขายข้าวได้เพียง 150,000 ล้านบาท ซึ่งยังขาดเงินกว่า 500,000 ล้านบาท โดยในส่วนนี้รัฐบาลต้องไปกู้เพื่อมาถมส่วนต่างที่ขาดไป และเป็นการกู้จนเต็มวงเงินจนไม่สามารถทำได้อีก”

นายสมเกียรติ กล่าวว่า การดำเนินการในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าโครงการนี้มีรายจ่ายมหาศาล แต่กลับสวนทางกับรายรับที่มีไม่มาก รวมทั้งยังก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่การใช้งบประมาณมหาศาล การทำลายตลาดข้าวจากการที่รัฐบาลกลายเป็นผู้ผูกขาดการซื้อ-ขายข้าว จนทำให้ตลาดการส่งออกข้าวไทยเสียหายไปด้วย และที่สำคัญโครงการนี้ ไม่สามารถช่วยชาวนาได้อย่างยั่งยืน

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าว เป็นการคอร์รัปชันแบบมีใบเสร็จและเป็น กระบวนการคอร์รัปชันที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะในกระบวนการขายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดและมีการออกใบเสร็จการขายโดยรัฐบาล

“โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในนโยบาย ประชานิยม (populism) ของพรรคการเมืองที่ใช้หาเสียงเพื่อหวังผลคะแนนเสียงประชาชนในระยะสั้น แต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว”
นายอัมมาร มองว่าขณะนี้รัฐบาลตกอยู่ในภาวะตันในทุกๆ ด้าน ทั้งกฎหมายเลือกตั้ง และไม่มีเงินที่จะมาจ่ายหนี้แก่ชาวนาหรือเรียกว่าเข้าตาจน แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะอยู่ในภาวะล้มละลาย เนื่องจากรัฐบาลมีข้าวที่ขายไม่ออก ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินมหาศาลในระยะสั้นที่สามารถนำมาแปลงเป็นเงินได้

“หากปล่อยทิ้งไว้ในระยะยาว รัฐบาลอาจล้มละลายได้ เพราะข้าวที่เก็บในโกดังนานๆ ก็จะเสื่อมคุณภาพ ทางออกที่รัฐบาลสามารถทำได้ในขณะนี้ ก็คือการนำข้าวออกมาขาย เป็นอีกหนึ่งหนทางที่รัฐบาลจะมีเงินสดมาจ่ายหนี้สินให้แก่ชาวนาในขณะนี้”

นายอัมมาร กล่าวอีกว่า นอกจากทางออกในการเทขายข้าวแล้ว หากคนของรัฐบาลยอมคายเงินคอร์รัปชันที่ดึงไปจากกระบวนการขายข้าวจำนวนหลายหมื่นล้านบาท เชื่อว่ารัฐบาลจะมีเงินสมทบอีกหนึ่งก้อน ที่สามารถนำมาจ่ายหนี้แก่ชาวนาได้ และสิ่งที่รัฐบาลต้องทำในเวลานี้ คือ ควรยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว แล้วกลับไปสู่ระบบเดิม ซึ่งจะช่วยลดกระบวนการคอร์รัปชัน ไม่เช่นนั้นอาจนำมาซึ่งความหายนะได้

เช่นเดียวกับนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าหากรัฐบาลยังยืนกรานที่จะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวอีกหนึ่งสถานะในการส่งออกข้าวของประเทศไทยจะตกต่ำ หนำซ้ำยังเป็นการกรุยทางให้เวียดนามและอินเดียครองแชมป์ในการส่งออกข้าวในตลาดโลกด้วย ขณะที่ ผู้ส่งออกข้าวของไทยเริ่มผันตัวไปทำธุรกิจในต่างประเทศบ้างแล้ว ส่วนผลกระทบใน ประเทศที่กำลังประสบปัญหาในขณะนี้ คือ ชาวนายังไม่ได้เงิน ราคาข้าวตก แสดงให้เห็นถึงปัญหาการบริหารจัดการอย่างไม่มีระบบของรัฐบาล

ส่วนทางออกอีกหนึ่งทางของรัฐบาล ในการหาเงินมาจ่ายหนี้สินนั้น นายนิพนธ์เห็นด้วย กับแนวคิดของผู้นำเกษตรกรในจังหวัดพิจิตร นั่นคือ การให้ชาวนานำใบประทวนข้าวที่ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ออกให้แก่เกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าว เพื่อให้นำไปยื่นรับเงินจากธ.ก.ส. ไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่น ทั้งนี้รัฐบาลต้องไปขอร้องสถาบันการเงินให้เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ไม่ถือว่าผิดกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายรัฐธรรมนูญ เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลกำลังอยู่ในสถานะรัฐบาลรักษาการ

นายนิพนธ์ กล่าวว่า แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ชาวนาไม่ได้รับเงินจากการขายข้าวให้รัฐบาล แต่สิ่งนี้ คือบทเรียนราคาแพง ที่จะทำให้รัฐบาลชุด ต่อๆ ไป ที่จะเข้ามาบริหารประเทศตระหนักถึงหนทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาตลาดการ ส่งออกข้าวที่มีคุณภาพ โดยการช่วยเหลืออาชีพชาวนาได้อย่างยั่งยืนและจริงจัง ด้วยการทำให้ชาวนาสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ดีและมี คุณภาพ ทำให้ขายได้ราคาดี ตามกลไกของตลาดที่มีอยู่

นั่นคือ รัฐบาลต้องพัฒนาการเพิ่มผลผลิตข้าวด้วยโครงการวิจัยและการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย ซึ่งเชื่อว่า จะทำให้ข้าวไทยกลับมา ผงาดอีกครั้งหนึ่งกับการส่งออกข้าวในเวทีระดับโลก


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ในชื่อ “ทีดีอาร์ไอแนะเร่งระบายข้าวหาเงินใช้หนี้ชาวนา-ระยะยาว ต้อง’เลิก’”

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด