tdri logo
tdri logo
13 กุมภาพันธ์ 2014
Read in Minutes

Views

นักวิชาการเสนอทางออก ช่วยชาวนา ‘จ่ายค่าข้าว’

คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและ สถาบันการเงิน วุฒิสภา จัดเสวนา “ช่วยชาวนาอย่างไร โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญและรักษาวินัยการเงินการคลัง” โดยมีวิทยากรร่วมหลายคนได้เสนอมุมมองทางออกแก้ปัญหา “วิกฤติจำนำข้าว” ที่น่าสนใจ อาทิ นายอัมมาร สยามวาลา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล นางอัจนา ไวความดี และ นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน วานนี้ (11ก.พ.)

ชี้จำนำก่อนยุบสภาอนุโลมให้รัฐจ่าย

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีสถานะเป็นหนี้ต่อชาวนาในโครงการจำนำข้าว เมื่อรัฐบาลเป็นหนี้ต่อชาวนา จึงมีผลผูกพันไปยังรัฐบาลหน้า แต่หากผลผูกพันนี้ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) น่าจะเป็นเฉพาะข้าวที่นำมาจำนำกับรัฐบาล ช่วงหลังรัฐบาลประกาศยุบสภา ส่วนข้าวที่จำนำก่อนรัฐบาลประกาศยุบสภา ถือว่ามีผลผูกพันไปรัฐบาลหน้า “สิ่งที่รัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงเจ้าหนี้ เป็นคนอื่น น่าจะพออนุโลมได้ ผมคิดว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้อง ใจกว้างในการตีความลักษณะนั้น” เขากล่าว

ปัญหาหนี้ 1.3 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลต้องหามาจ่ายให้ชาวนา เพราะรัฐบาลขาดสภาพคล่อง ชาวนาต้องตะลอนไป กู้หนี้นอกระบบ หรือ ต้องไปขอ Discount จากโรงสี สะท้อน วินัย การเงินการคลังพัง หมดแล้ว

ส่วนแนวทางการรักษาวินัยการคลังต่อนโยบายประชานิยม ควรให้ระบบการทำงานของรัฐสภา เข้ามามีส่วนตรวจสอบ การพิจารณาโครงการ และการใช้จ่ายเงิน เพราะเม็ดเงินที่ จะนำมาใช้จ่ายเงินโครงการประชานิยมส่วนใหญ่มาจาก การกู้นอกระบบงบประมาณ จึงเป็นช่องโหว่มโหฬารในการ ใช้จ่ายเงินนอกระบบงบประมาณ ที่มวลมหาประชาชนจะเข้าไปรับรู้ได้

“ช่องโหว่การใช้จ่ายเงินนอกระบบงบประมาณนี้ คนที่ใช้เป็นล่ำเป็นสัน คือ รัฐบาลทักษิณ 1 เริ่มจากกู้เงินแบงก์ออมสิน 8 หมื่นล้าน ใช้ตั้งกองทุนหมู่บ้าน ถือเป็นช่องโหว่ที่หลุดรอดสายตา และเป็นหน้าที่ที่รัฐสภาควรเข้ามามีบทบาทในการกำหนดกรอบใช้จ่ายให้ชัดเจน”

กรณีโครงการจำนำข้าว เป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมที่เรียกได้ว่า ควรเป็นโครงการที่มีความโปร่งใส เพราะเป็นโครงการที่มีใบเสร็จทั้งหมด แต่รัฐบาลไม่มีข้อมูล ซึ่งเป็นผลจากรัฐบาลจงใจไม่ให้เกิดข้อมูล “โครงการนี้ถือเป็นโครงการคอร์รัปชันที่มีใบเสร็จ ฉะนั้น ไม่มีเหตุผลใดที่ป.ป.ช.จะฟันเรื่องนี้ช้า เพราะรัฐบาล จงใจปกปิดการคอร์รัปชัน โดยมีใบเสร็จ แต่ไม่บันทึกบัญชี” เขากล่าว

แนะทำซิเคียวริไทซ์ ใช้ข้าวเป็นสินทรัพย์

นางอัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา กล่าวว่า วินัยการคลังของรัฐบาล เสียไปตั้งแต่วันแรก ที่บอกจะรับจำนำข้าวราคาสูงกว่าราคาตลาด ซึ่งขณะนั้นสูงกว่าตันละ 5,000 บาท โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้

เมื่อโครงการดำเนินมา จนทำให้ชาวนาเดือดร้อนจำนวนมาก จึงต้องหาแนวทางช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งแนวทางที่น่าจะทำได้ คือ การให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกตราสารประเภทแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซิเคียว ริไทเซชั่น) โดยมี สต็อกข้าวของรัฐบาลเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน

“น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่พอทำได้ เพื่อให้รัฐบาลมีสภาพคล่องมาชำระเงินให้ชาวนา ให้ ธ.ก.ส.ออกตราสารดอกเบี้ยที่ไม่สูงมาก โดยมี สต็อกข้าวเป็นหลักทรัพย์ แล้วเสนอขายให้สถาบันการเงิน ส่วนสถาบันการเงินที่มาซื้อตราสารหนี้ชนิดนี้จะสามารถนำไปใช้นับเป็นตราสารที่มีสภาพคล่องได้หรือไม่นั้น คงต้องขึ้นกับการตีความของแบงก์ชาติ” นางอัจนากล่าว

ส่วนแนวทางในการแก้ปัญหาอื่น นางอัจนา บอกว่า การระบายข้าวจะเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหาที่ดี แต่การขายข้าว 13-14 ล้านตันในเวลาอันสั้น อาจทำให้ความเสียหายมากขึ้น ส่วนแนวคิดคืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่านั้น มีคำถามอยู่ว่า การคืนข้าวส่วนเกิน 0.5 เท่า จะถือเป็นการสร้างภาระให้รัฐบาลใหม่และเข้าข่ายว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การทำซิเคียวริไทซ์ เป็นแนวทางหนึ่งที่ดี แต่ต้องใช้สต็อกข้าวเป็นหลักทรัพย์ ในการออกตราสาร ปัญหาสำคัญ คือ ขณะนี้ไม่รู้เลยว่าสต็อกข้าวของรัฐบาลมีจำนวนเท่าใด ซึ่งเท่าที่ดูแนวทางการแก้ปัญหาให้ชาวนา ทำได้ 3 ด้าน คือ การเงิน การตลาด และการเมือง โดยด้านการตลาด ถือเป็นวิธีแก้ปัญหา ที่ทำได้ง่าย และปลอดภัยสุด คือ ให้รัฐบาลขายข้าวออกมา แต่ต้องขายข้าวล็อตใหญ่อย่างน้อยปีละ 2 ล้านตัน

เสนอตั้งกรรมการกลางระบายสต็อกข้าว

นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านข้าว กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดข้าวโลกอยู่ในภาวะที่ไม่เอื้อ ให้รัฐบาลขายข้าวได้ เนื่องจากสต็อกข้าวในตลาดโลกอยู่ ระดับสูง ซึ่งเกินกว่าความต้องการ หรือเกินกว่า 100 ล้านตัน ทำให้ราคาที่จะขายต่ำลง นอกจากนี้ แม้สต็อกข้าวในตลาดโลกจะอยู่ในระดับสูง แต่ธัญพืชที่ทดแทนข้าว ก็มีปริมาณ การสต็อกที่สูงขึ้นด้วย ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่มีส่วนกดราคาข้าวให้ปรับลดลงได้อีก

“เมื่อตัวเลขผลผลิตข้าว และธัญพืชออกมาแบบนี้ พ่อค้าคนไหนจะ ซื้อข้าวในราคาที่สูงขณะนี้ แถมลักษณะการขายข้าวที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ ก็ยังมีส่วนทำให้คู่แข่งดั๊มพ์ราคาลงมาแข่ง ทำให้ขายยากขึ้น จึงแนะนำให้ขายข้าวอย่างรอบคอบ บางอย่างต้องเป็นความลับ แต่ต้องโปร่งใส โดย มีคณะกรรมการกลางมาช่วยดูแล” นายนิพนธ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน นายนิพนธ์ ยังบอกด้วยว่า ปัญหาคุณภาพในโกดัง เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ส่งออกไม่กล้าเข้าร่วมประมูล เพราะไม่รู้ว่า ข้าวในโกดังใด จะดีหรือไม่ดี แต่ผู้ส่งออก จะเป็นผู้รู้ได้ว่า ข้าวในโกดังใดจะดี ดังนั้น จะต้องเป็นผู้ส่งออก ที่มีความใกล้ชิดกับนักการเมือง ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งสำหรับช่องโหว่ของโครงการนี้

เมื่อกระทรวงพาณิชย์สามารถขายข้าวได้ ก็ต้องกำหนดระยะเวลาการชำระเงินอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยเร่งให้ชาวนาได้รับเงินรวดเร็วขึ้น

“ผมได้ทราบข่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนด เงื่อนไขการจ่ายเงินกับผู้ส่งออกว่า จะต้องชำระเงิน ภายใน 180 วัน ซึ่งส่วนตัวผมเห็นว่า ระยะเวลาดังกล่าวนานเกินไป”

เขาเห็นด้วยกับนายอัมมาร ที่น่าจะตีความได้ว่า ข้าวที่นำเข้ามาสู่โครงการจำนำก่อนรัฐบาลจะยุบสภา ควรเป็นข้าวที่ถือได้ว่า ไม่เป็นภาระผูกพันไปถึงรัฐบาลหน้า แต่ควรเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินให้ โดยเป็นลักษณะการจ่ายระหว่างราคาต้นทุน กับราคาตลาด ซึ่งจะทำให้รัฐบาลใช้เงินน้อยลง หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด