tdri logo
tdri logo
25 กุมภาพันธ์ 2014
Read in Minutes

Views

‘ปรีดิยาธร-นิพนธ์’ แนะรัฐอย่าแข่ง-กีดขวางเอกชนทำธุรกิจ

วานนี้ (21 ก.พ.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ปฏิรูปเศรษฐกิจ กู้ไทยพ้นวิกฤต” เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายนิพนธ์ พัวพงศกร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจรายสาขา ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนายธนวรรธน์ พลวิชัย ที่ปรึกษาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมเสวนาในครั้งนี้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะหลังนั้นชะลอตัวลงมา เป็นผลมาจากการขาดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันรัฐบาลเข้าไปทำธุรกิจแข่งกันเอกชน อย่างในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเดิมทีเอกชนทำได้ดีมาก แต่รัฐบาลก็เข้ามาทำ และกลับทำให้ตลาดเสียหาย

นอกจากนี้ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร ยังบอกด้วยว่า รัฐบาลต้องไม่เข้าไปขัดขวาง หรือกีดขวางการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน แต่ควรเข้าไปสนับสนุนนักลงทุนให้ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศให้เข้าสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ต้องเปลี่ยนบทบาทจากเดิมที่ดึงนักลงทุน ต่างชาติเข้ามาไทย และควรกลับมาส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ

การสนับสนุนและปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะภาษีการค้า เหมือนกับสิงคโปร์และฮ่องกง ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้เคลื่อนย้ายสินค้าออกจากนิคมอุตสาหกรรมได้ทันที รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 อย่างการลงทุนโครงการรถไฟรางคู่ทั่วประเทศ ถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประเทศให้เกิดการค้าที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และควรเร่งสร้างท่าเรือปากปารา

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร บอกอีกว่า สำหรับแนวทางที่รัฐบาลจะออกพันธบัตร เพื่อนำเงินมาจ่ายให้กับชาวนา ไม่สามารถทำได้ เพราะอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ ทั้งนี้สิ่งที่ง่ายที่สุดในการหาทางออกคือให้รัฐบาลลาออก และตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด จะแก้ปัญหาง่ายที่สุด

เชื่อศก.ไทยยังไม่ถึงทางตัน

เขากล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังไม่ถึงทางตัน เพราะที่ผ่านมาประเทศมีการพัฒนาต่อเนื่องมาตลอด การผลิตของภาคเอกชนไทยยังเป็นผู้นำของโลก โดยที่ไม่มีรัฐบาลเข้ามาช่วย แต่เราก็สามารถขยายตัวได้ดี ทั้งนี้รัฐบาลควรสนับสนุนด้านนวัตกรรม การวิจัย เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่สังคม ที่สำคัญรัฐบาลไม่ควรมาจากนักธุรกิจ เพราะสร้างปัญหาให้เกิดการเข้ามาหาผลประโยชน์ สร้างความเหลื่อมล้ำให้กับประเทศ

“หากจะปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง นายกรัฐมนตรีควรลาออกทันที เพื่อให้ประเทศไทยพ้นวิกฤติ แล้วถึงปฏิรูปเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่ นายกรัฐมนตรี รู้เพียงกำหนดนโยบายเท่านั้น แต่จริงแล้วต้องติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการ ทั้งปัญหาความเสียหาย และการทุจริต เพราะขณะนี้นโยบายดังกล่าว ได้สร้างความเสียหายจำนวนมากกว่าแสนล้านบาท”

การเมืองยืดเยื้อ เสี่ยงศก.สู่ภาวะถดถอย

นายธนวรรธน์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจไทยหากเทียบกับปี 2540 ยังไม่ถือว่าวิกฤติ เพราะในช่วงปี 2540 นั้นไทยมีปัญหาทั้งฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ปัญหาเงินไหลออก แต่ปัจจุบันเป็นปัญหาด้านการเมือง ที่เข้ามากระทบ หลายฝ่ายก็ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถเติบโตได้ระดับ 3% ยังไม่มีใครมองว่าเศรษฐกิจไทยจะถดถอย

แต่หากการเมืองไม่สามารถคลี่คลายได้ภายในไตรมาส 2 และยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณปี 2558 จะเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก และมีความเสี่ยงสูงที่กดดันให้เศรษฐกิจไทยกลับมาสู่ภาวะถดถอย

เอกชนไทยยังมีศักยภาพในการแข่งขัน และรับมือปัญหาต่างๆ อย่างธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังคงทนภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยได้

สิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องส่งเสริมภาคเอกชนนั้น คือการช่วยให้ภาคเอกชนมีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างรายได้ที่สูงขึ้นให้กับธุรกิจ และช่วยลดเงื่อนไขต่างๆ ที่ฉุดรั้งภาคเอกชนที่ทำให้ไม่สามารถเติบโตในอนาคต

ธปท.คงคาดจีดีพีโตต่ำ 3%

ขณะที่ นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2556 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ประกาศออกมา ขยายตัว 0.6% จากปีก่อน และทำให้ทั้งปี 2556 จีดีพีขยายตัว 2.9% นั้น โดยภาพรวมถือว่าใกล้เคียงกับที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ที่ประเมินไว้ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจปี 2556 น่าจะขยายตัวต่ำกว่า 3% เล็กน้อย

การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ยังค่อนข้างอ่อนแรง แต่การส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ภาคการส่งออกอยู่ในทิศทางฟื้นตัว และจะเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจใน ปี 2557 มากขึ้นกว่าปีก่อน

ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศท้ายปี 2556 ต่อเนื่องถึงครึ่งแรกของปีนี้ จะยังขยายตัวอยู่ ส่วนการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ขยายตัวน้อย เพราะผู้ประกอบการบางส่วน เลื่อนการลงทุนออกไปก่อน เพื่อรอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง

เกาะติด ‘กนง.’ หั่นจีดีพีหรือไม่ 12 มี.ค.

ทั้งนี้ประมาณการเศรษฐกิจ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแรงส่งจากปีที่แล้วอย่างเดียว ปัจจัยบางตัวมีการเปลี่ยนแปลง ธปท.จึงติดตามใกล้ชิด และจะพิจารณาว่าเปลี่ยนไปมากจนถึงต้องปรับประมาณการจีดีพีปี 2557 หรือไม่ ซึ่ง กนง. จะเป็นผู้ตัดสินในการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 12 มี.ค.นี้

ส่วนการฝากถอนเงินของประชาชน กับธนาคารออมสินช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ เกิดจากการแสดงออกของผู้ฝากเงินเพื่อให้ผู้บริหารของธนาคารทราบว่าเห็นด้วยหรือไม่ กับการตัดสินใจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งผู้บริหารของธนาคารออมสิน ก็ได้รับทราบความเห็นของผู้ฝากเงิน และได้ยกเลิกการปล่อยกู้ที่เป็นประเด็น ล่าสุดถึงเช้าวานนี้ (21 ก.พ.) การฝากถอนเงินกับธนาคารออมสินกับเข้าสู่ระดับปกติแล้ว

‘นิพนธ์’ แนะรัฐลดทิฐิช่วยชาวนา

มุมมองของนายนิพนธ์ ที่ระบุว่า ปัจจุบันมีหลายภาคส่วนที่ช่วยกันเสนอทางออกการแก้ปัญหาคืนหนี้ให้ชาวนาดังกล่าว ซึ่งทุกฝ่าย ก็มีความเห็นเพื่อช่วยให้มีทางออกที่ดีและสิ่งที่สำคัญ คือ รัฐบาลต้องลดทิฐิ เพื่อให้ชาวนาสามารถอยู่รอดได้

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาโครงการรับจำนำข้าว วิธีแก้ที่เร็วที่สุด คือ การเปิดให้ชาวนานำใบประทวนไป แปลงทรัพย์สินเป็นทุน โดยนำใบประทวนไปกู้เงินกับสถาบันการเงิน มีรัฐบาลค้ำประกันพร้อมจ่ายดอกเบี้ยแทนชาวนา จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่

แนวทางดังกล่าวสามารถที่จะทำได้ โดยใช้วิธีการจำกัดเฉพาะชาวนาที่มีใบประทวนก่อนวันที่ 9 ธ.ค.2556 ก่อนการยุบสภาของรัฐบาลจะมีผล ซึ่งจะไม่ผิดกฎหมาย

ชี้ไม่ควรแก้ไขโดยโยนผิดให้คนอื่น

ส่วนใบประทวนที่ออกหลังการยุบสภานั้นวันที่ 9 ธ.ค. 2556 ให้รัฐบาลไปร่วมหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออก ซึ่งทางออกยังมีอยู่ แต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ไม่ใช่โยนความผิดให้คนอื่น ไม่ใช่มาชี้หน้าด่ากันในภาวะเช่นนี้ โดยรัฐบาลต้องลาออกเพื่อให้มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เต็มความสามารถ

“รัฐบาลนี้ที่อยู่ในช่วงรักษาการก็คงไม่สามารถทำอะไรได้ ทั้งการออกพันธบัตรรัฐบาลหรือบีบบังคับให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกพันธบัตรเพื่อนำเงินมาจ่ายค่าข้าวให้ชาวนา เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายชัดเจน”

จี้เร่งสร้างสถาบันกำจัดทุจริต

นายนิพนธ์ มองว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาในการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ที่หากมีการต่อต้านจากท้องถิ่นก็จะหยุดทันที และหาโครงการใหม่ที่ไม่มีประสิทธิภาพเข้ามาแทน ทำให้ประเทศไทยไม่มีโครงการขนาดใหญ่มาผลักดันเศรษฐกิจ ให้เดินหน้าไปได้ ทั้งนี้ไทยจะต้องสร้างสถาบันที่สามารถกำจัดการทุจริตและการแสวงหาค่าเช่าเศรษฐกิจของกลุ่มธุรกิจการเมืองที่เป็นกลุ่มคนรวยที่สุด 1% ให้ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาการเข้ามาแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจของกลุ่มนักธุรกิจการเมือง มีการใช้นโยบายประชานิยมที่อาศัยเงินนอกงบประมาณแบบปลายเปิด ทั้งที่จริงเงินกู้นอก งบประมาณมีต้นทุนที่มองไม่เห็นอยู่และน่ากังวลมาก


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด