‘โฆสิต’ เตือน ตลาดจีนทรุด กระทบยอดส่งออกไทยแรง

ปี2014-02-25

รัฐ-เอกชน แนะเอสเอ็มอีปรับตัวรับมือการแข่งขัน เร่งพัฒนาคน ลดต้นทุน สร้างตลาดใหม่ “โฆสิต” จี้สร้างความร่วมมือเถ้าแก่-นักวิชาการ ในองค์กร สร้างความแข็งแกร่ง ระบุตลาดต่างประเทศพึ่งยาก หลังเศรษฐกิจตลาดหลัก “จีน” ส่งสัญญาณชะลอตัว ท่องเที่ยววอนแบงก์หนุนสินเชื่อผู้ประกอบการ ด้าน “สนั่น” ชี้เข้มธรรมาภิบาล ช่วยเข้าถึงพันธมิตร-แหล่งเงินทุน

สมาคมธุรกิจไม้ จัดสัมมนา “Pizza Model” Model ความอยู่รอดอุตสาหกรรม SMEs ในยุควิกฤติ ระดมสมองยักษ์ใหญ่สร้างโมเดลปฏิรูปอุตสาหกรรม SMEs เพื่อการอยู่รอดอย่างสร้างสรรค์รับมือ AEC และการค้าชายแดน ตอบโจทย์ทุกวิกฤติทั้งเศรษฐกิจและการเมือง โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วานนี้ (21 ก.พ.)

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันและกรรมการบริหารสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ เอสเอ็มอีจะคาดหวังคำสั่งซื้ออย่างเดียวไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จะมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจน และหลายปีที่ผ่านมาไทยได้เปลี่ยนฐานการส่งออกจากเดิมที่พึ่งตลาดหลักอย่างสหรัฐกว่า 20% แต่ขณะนี้ลดลงเหลือกว่า 10% และหันไปพึ่งพาตลาดจีน และอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของสหรัฐไม่มาก

ขณะที่ตลาดหลักใหม่อย่างจีน มีสัญญาณหดตัว ดอกเบี้ยระยะสั้นสูงขึ้น ซึ่งเป็นอาการของการขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ และรัฐบาลก็ไม่ได้อัดฉีดสภาพคล่องมากนัก เพราะมีปัญหาบางอย่างซ่อนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ และคุณภาพสินเชื่อที่ปล่อยออกมาบางส่วนเริ่มมีปัญหา จึงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้การลงทุนมีอัตราขยายตัวลดลง

“แต่ยังมั่นใจว่า รัฐบาลจะดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และจะไม่ปล่อยให้บานปลาย เพราะรัฐบาลจีน มีเงินทุนสำรองสูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ ”

บาทอ่อนเสริมส่งออกไม่มาก

นายโฆษิตกล่าวว่าส่วนการที่เงินบาทอ่อนค่าขณะนี้มีดีไม่มาก เพราะประเทศคู่แข่งก็มีค่าเงินที่อ่อนลงเช่นกัน ขณะที่กำลังซื้อในประเทศลดลง จากปัญหาการเมือง ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ทำให้คาดว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีปีนี้ไม่เกิน 3%

ส่วนทางออกของเอสเอ็มอี คือการเปลี่ยนมุมมองทางธุรกิจ ไม่คาดหวังยอดขายเพิ่มขึ้น แต่ควรดูผลสุดท้ายคือผลกำไร และใช้โอกาสนี้ในการหาตลาด และพัฒนาตัวเองใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. ด้านการเงิน โดยดูแลประสิทธิภาพการใช้จ่ายให้มีสภาพคล่อง ลดต้นทุนการผลิต 2. พัฒนารูปแบบ ปรับปรุงสินค้าให้โดดเด่นดึงดูดผู้บริโภค และ 3. เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า

นอกจากนี้ควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา โดยทำให้เถ้าแก่และผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการทำงานร่วมกันให้ได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้ในการทำให้เอสเอ็มอีเข้มแข็ง

“ที่ผ่านมามีความพยายามให้ 2 ฝ่ายทำงานด้วยกัน แต่ทำไม่ได้ เพราะเถ้าแก่มองว่านักวิชาการมีแต่ตำราทำธุรกิจไม่เป็น ส่วนนักวิชาการ มองว่า เถ้าแก่ไม่มีความรู้ในการดำเนินธุรกิจที่ถูกต้อง”
ลดต้นทุน-เพิ่มเทคโนโลยี

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เอสเอ็มอีต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง โดย 1.ลดต้นทุนการผลิต 2.เพิ่มคุณภาพสินค้า 3.ปรับปรุงบริการให้ตอบสนองผู้บริโภค โดยต้องเน้นที่บุคลากรของบริษัท เพราะจะเป็นผู้มีบทบาทในการให้บริการโดยตรง 4.ดำเนินธุรกิจด้วยความรวดเร็ว นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น การใช้อีเมล์แทนแฟ็กซ์ 5.การเพิ่มนวัตกรรม 6.เพิ่มความสำคัญแนวทางการรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้ยังควรพัฒนาไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมสีเขียว

นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า เออีซี จะเพิ่มโอกาสทางการค้าของแต่ละประเทศ และในอนาคตเมื่อขยายความร่วมมือกับคู่ค้าอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทำให้มีประชากรรวมกันกว่า 3,000 ล้านคน ซึ่งทำให้สมาชิกมีความเป็นปึกแผ่นและสร้างอำนาจการต่อรองในเวทีการค้าต่างๆ มากขึ้น

แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ทั้งการผลิตให้สอดคล้องกับตลาด ลดต้นทุน และการหาโอกาสจากสิทธิพิเศษต่าง ๆ โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ศึกษาแนวโน้มตลาดอาเซียน ความเป็นไปได้ในการย้ายฐานผลิตไปยังแหล่งวัตถุดิบและแรงงานที่ถูกกว่า และการรักษาทรัพยากรบุคคล

และสิ่งสำคัญคือ การมีธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ที่รับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำระบบ “เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)” เข้ามาขับเคลื่อน
ท่องเที่ยวขอแบงก์ช่วยสภาพคล่อง

นายวิศิษฏ์ ลิ้มประนะ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัญหาการเมือง และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทำให้เอสเอ็มอี ต้องปรับตัว โดยเฉพาะการลดต้นทุน
ทั้งนี้เอกชนกังวลกับปัญหาการเมืองอย่างมาก เพราะหากยืดเยื้อ จะเกิดความเสียหายมาก เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วง 1-2 เดือนแรกปีนี้ นักท่องเที่ยวว่าลดลงกว่า 1 แสนคน และหากยืดเยื้อเกิน 6 เดือนเกรงว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านคน

นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเมืองจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ซึ่งขณะนี้โรงแรมใจกลางกรุงเทพมีอัตราการเข้าพักลดเหลือ 20-30% และยังกระทบไปในจังหวัดท่องเที่ยวอื่น เช่น พัทยา ชะอำ หัวหิน และกาญจนบุรี ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีรายได้ลดลงจนมีปัญหาขาดสภาพ
คล่อง สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ จึงทำหนังสือไปยังธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือด้านเงินทุนหมุนเวียน

นอกจากนี้ยังหารือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการฝึกอบรมพนักงาน ครอบคลุมทั้งธุรกิจโรงแรม จำหน่ายของที่ระลึก นำเที่ยว สปา และธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่อง

ทั้งนี้หากสถานการณ์ยุติลง โดยไม่มีความรุนแรง คาดว่าไตรมาสที่ 3-4 ปีนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ จะพลิกฟื้นกลับมาได้ จึงประสานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อเตรียมจัดทำแคมเปญที่แรงพอที่จะกระตุ้น ในลักษณะของการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังคาดหวังว่าท่องเที่ยวไทยจะสร้างรายได้ปีนี้ 2 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยว 28-29 ล้านคน เพิ่มจากปีที่แล้วที่มี 26.5 ล้านคน.

“บริหารคน” จุดอ่อนเอสเอ็มอี

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จุดอ่อนของเอสเอ็มอี คือเรื่องคน ถ้าบริหารจัดการเรื่องทรัพยากรคนให้มีประสิทธิภาพจะทำให้การแข่งขันง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังต้องบริหารจัดการต้นทุน และที่สำคัญคือ วิสัยทัศน์ผู้บริหาร หรือผู้นำองค์กร

“วิสัยทัศน์เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมาก สมัยคุณพ่อผมบริหาร ท่านเห็นว่า ระบบกงสีจะเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะจะมีคนประเภทมือใครยาวสาวได้สาวเอา การลงทุนจะไม่มีการตรวจสอบที่เข้มงวด จึงวางแผนไว้ว่าบริษัทในกลุ่มต้องเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพื่อจะได้มีคนอื่นๆ มาตรวจสอบ”

ทั้งนี้หลักการบริหารที่สำคัญของทางกลุ่มก็คือ 3T +1 ประกอบด้วย Target ซึ่งทุกบริษัทต้องมีเป้าหมายที่ชัด Timing คือกรอบระยะเวลาในแต่ละเป้าที่ชัดเจน Tracking คือ การติดตามผลงานที่ทำอย่างเป็นระบบ และอีกหนึ่งส่วนคือ Team work ทุกองค์กรต้องมีพนักงานที่สามารถร่วมกันทำงานเป็นทีมได้

นายบุญชัย กล่าวถึงผลกระทบทางด้านการเมืองว่าหากยืดเยื้อเกิน 6 เดือน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น โดยช่วงนี้พบว่ากำลังซื้อในพื้นที่ กทม.ลดลง แต่โตในต่างจังหวัด ซึ่งหากประเมินภาพรวมทั้งปีกำลังซื้อน่าจะหายไป 10% มากสุดคือกลุ่มเสื้อผ้าและเครื่องสำอาง 15% ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีน่าเป็นห่วงมากที่สุดเพราะมีตลาดอยู่ในประเทศเป็นหลัก และกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจากการพูดคุยพบว่าบางรายที่ไม่เคยเข้ามาลงทุนไม่มั่นใจและมีแผนจะไปที่อื่นแทน

และการที่ผู้ชุมนุมเข้าไปประท้วงในพื้นที่ของภาคเอกชน เช่น กลุ่มธุรกิจของตระกูลชินวัตร ทำให้นักต่างชาติที่อยู่ในไทยเกิดความกังวลและหวั่นว่าจะบานปลายหากธุรกิจที่เขาดำเนินการอยู่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง

แนะเข้มธรรมาภิบาล

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด รองกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ จะต้องมีธรรมาภิบาล สามารถตรวจสอบถึงที่มาที่ไปของเงินได้ มีความโปร่งใส เพราะเป็นส่วนสำคัญในการเข้าถึงพันธมิตร หรือสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน และทุนทางสังคม ได้แก่ การทำโครงการซีเอสอาร์เพื่อสังคม การทำธุรกิจต้องตอบแทนสังคม

นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าวว่า เอสเอ็มอีต้องเอารอดให้ได้ในภาวะการแข่งขันที่สูงและปัญหาการเมือง สิ่งสำคัญคือ ลดต้นทุน พัฒนาทรัพยากรบุคคล มองหาตลาดใหม่ เช่นการใช้โอกาสจากเออีซีให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

นอกจากนี้จะต้องมีการปรับแนวคิด เน้นการทำแผนธุรกิจระยะสั้น-ระยะยาว 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ให้พร้อมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากปรับตัวได้ทันก็มีโอกาสรอดสูงมาก

“โมเดลที่สำคัญและน่าจะมีส่วนช่วยก็คือ คิดแบบพิซซ่าชิ้นเล็กๆ หลายๆ ชิ้นมาปะติดปะต่อกันจนกลายเป็นภาพใหญ่ ซึ่งมองว่าการทำธุรกิจที่เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ก่อนก็ไม่แตกต่างไปจากพิซซ่าที่ตัดออกเป็นหลายๆ ชิ้น”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557