tdri logo
tdri logo
14 กุมภาพันธ์ 2014
Read in Minutes

Views

iLaw รายงาน: “คอร์รัปชั่นต้องเป็นวาระร่วมกันของคู่ขัดแย้งทุกฝ่าย”

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่พบทางออกที่เห็นพ้องร่วมกันของทุกฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการเลือกตั้ง อีกฝ่ายต้องการสภาประชาชน แต่ทั้งสองฝ่ายก็มีจุดประสงค์ร่วมกันอย่างคือการ “ปฏิรูป” ประเทศไทย

ช่วงเวลาแห่งการขับไล่ระบอบทักษิณของ กปปส. ที่ยังไม่จบ ผสมโรงกับการประท้วงทวงเงินค่าจำนำข้าวของชาวนา ตอกย้ำภาพการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลเพื่อไทยให้เด่นชัดขึ้น การปฏิรูปเพื่อลดการคอรัปชั่นตามแนวทางของ กปปส. จึงจำเป็น? หรือมีทางเลือกอะไรอีกบ้างในการกำจัดคอร์รัปชั่น?

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ‘ทีดีอาร์ไอ’ผู้ที่ศึกษาวิจัยเรื่องคอร์รัปชั่นมาอย่างต่อเนื่อง จนอาจกล่าวได้งานศึกษาและการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐของ ดร. สมเกียรติ และพลพรรคทีดีอาร์ไอ ทำให้ทีดีอาร์ไอถูกมองเป็นเพียงฝั่งตรงข้ามรัฐบาล หรือ เป็น “ขาประจำ” ที่จ้องจะล้มรัฐบาลเท่านั้น

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่พยายามบีบให้ต้องเลือกระหว่างการเลือกตั้งกับการกำจัดคอร์รัปชั่น ดร.สมเกียรติ ได้แสดงจุดยืนพร้อมเสนอมุมมองเรื่อง การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นในระบบประชาธิปไตย

ทีดีอาร์ไอ ทำไมถึงจับประเด็นศึกษาเรื่องคอรัปชั่น?

ทีดีอาร์ไอ เป็นสถาบันวิจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจ ทำเรื่องนโยบายทั่วไป เช่น นโยบายเกษตร นโยบายอุตสาหกรรม นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอีกหลายๆ ด้าน จากการศึกษาหลายเรื่องเราพบว่าการคอร์รัปชั่นทำให้ประเทศไทยพัฒนาด้านต่างๆ ไม่ได้

เช่น เรื่องจำนำข้าว รัฐอยากช่วยเกษตรกร แต่สุดท้าย นโยบายพวกนี้มันไม่ถึงเกษตรกรเพราะการคอร์รัปชั่นมันดึงทรัพยากรไปมาก หรือการที่เราจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นรถไฟ ถนน หรือสนามบิน แต่ละเรื่องมันทำได้ยาก การสร้างสนามบิน ระบบโทรคมนาคม ทำได้ช้าก็เพราะเรื่องคอร์รัปชั่น เรื่องการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีการคอรัปชั่น เช่น ครูโกงข้อสอบกัน เป็นต้น

เราจึงทำการวิจัยเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นเพื่อให้เราเข้าใจปัญหานี้ดีขึ้น จะได้ทะลวงจุดอุดตันของการพัฒนาของประเทศทั้งหมด

คอร์รัปชั่นทำให้แรงจูงใจของคนผิดทาง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยควรจะลงทุนวิจัยพัฒนาเพิ่มขึ้น เช่น ทำบัตรสมาร์ทการ์ด ซึ่งสามารถให้บริษัทในไทยทำได้ไม่ยาก แต่รัฐบาลชอบไปซื้อของจากเมืองนอกซึ่งมีราคาแพง เพราะในมุมของคนที่จะคอร์รัปชั่นมันได้เงินใต้โต๊ะเร็วกว่าลงทุนวิจัย

เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากพัฒนาประเทศ แต่ติดคอร์รัปชั่น ประเทศจะพัฒนาไม่ได้

 

คอรัปชั่นในทางเศรษฐศาสตร์ มีคนรับก็ต้องมีคนจ่าย

ในทางเศรษฐศาสตร์ อุปสงค์กับอุปทานไปด้วยกัน เงินทุกบาทที่จ่ายไปในการคอร์รัปชั่น มีคนรับก็มีคนจ่าย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะไปโทษนักการเมืองกับราชการอย่างเดียวไม่ได้ ฝ่ายที่จ่ายอย่างประชาชนกับธุรกิจต้องมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นโจทย์เรื่องคอรัปชั่นจึงไม่ใช่มองว่าใครเป็นคนผิด แต่โจทย์คือระบบแบบไหนที่ออกแบบให้เกิดการคอร์รัปชั่นได้ง่าย

มีธุรกิจและประชาชนจำนวนมากที่ไม่อยากจ่ายแต่เพื่อความสะดวกจึงยอมจ่าย เช่น ถูกยึดใบขับขี่ คนทั่วไปไม่ได้อยากจะจ่ายใต้โต๊ะเลย แต่ถ้าไม่ทำจะเสียเวลามาก เวลาไปติดต่อราชการเพื่อให้อนุมัติแบบโรงงาน ส่งไปแบบแล้วแบบเล่าก็ไม่ผ่านสักที พอถึงจุดหนึ่งคุณรอไม่ได้ ถ้ารอต่อไปธุรกิจคุณก็เจ๊ง คุณก็ต้องซื้อความสะดวก ซึ่งระบบแบบนี้ควรจะต้องถูกแก้ไข

คอร์รัปชั่นอีกประเภทหนึ่ง คือ จ่ายเพื่อหวังสิทธิพิเศษเหนือชาวบ้าน ไม่ใช่แค่ซื้อความสะดวก ตามที่ศึกษาอย่างเรื่องโทรคมนาคมในอดีตจะเป็นการคอรัปชั่นประเภทนี้ คือถ้าคุณอยากได้สัมปทานดีกว่าคู่แข่ง ก็ให้ราชการแก้สัญญาเพื่อให้เงื่อนไขดีขึ้น อย่างนี้เป็นต้น

สำหรับประเภทแรกเราเห็นใจคนจ่ายเพราะระบบเป็นระบบที่ไม่ดี ประเภทที่สองเราต้องโทษคนจ่าย เพราะเป็นการจ่ายเพื่อเอาสิทธิประโยชน์เหนือชาวบ้านเขา เอาเปรียบผู้บริโภค เอาเปรียบคู่แข่ง

 

 

วังวนคอรัปชั่น มากกว่าระบอบทักษิณ

ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องความสุจริตของคุณสุเทพนั้นเชื่อได้แค่ไหน ก็แปลกว่าคนจะพูดถึงคอร์รัปชั่น โดยที่เอาคุณทักษิณมาเป็นหัวโจกของการคอร์รัปชั่น คนที่มารณรงค์เรื่องนี้ชื่อเสียงก็ไม่ได้ขาวสะอาด แม้ระดับจะแตกต่างกันบ้างก็ตาม

อย่างไรก็ตามการแก้ไขคอร์รัปชั่นด้วยการไล่รัฐบาลด้วยวิธีที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็จะเป็นปัญหา เช่น ถ้าทหารจะเข้ามา ทหารเองก็มีประวัติด้านคอร์รัปชั่นที่ไม่ได้ดีกว่าพลเรือน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเรื่อง จีที200 การซื้ออาวุธที่ไม่ค่อยโปร่งใส หรือการใช้งบประมาณที่ไม่ค่อยเปิดเผย จึงไม่มีหลักประกันว่าทหารจะเข้ามาแก้คอร์รัปชั่นได้

 

ใช้การเลือกตั้ง และรัฐสภาตรวจสอบคอร์รัปชั่นได้ไหม?

ในเวลาเดียวกันมันก็ไม่ตรงไปตรงมาว่า คอร์รัปชั่นจะแก้ได้ด้วยประชาธิปไตย เพราะกระบวนประชาธิปไตยในความหมายแคบๆ เช่น การเลือกตั้ง ไม่มีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี เอื้อให้คอร์รัปชั่นได้ง่าย

การเลือกตั้งเป็นการตรวจสอบอย่างหนึ่งแต่คุณอย่าไปฝากทุกอย่างกับการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งสี่ปีคุณตรวจสอบได้ครั้งเดียว สมมุติการเลือกตั้งเปรียบเหมือนการซื้อของ หากเราเลือกพรรคไหนมันคือการซื้อของแบบเหมาแข่ง เช่น คนที่เลือกพรรคเพื่อไทยรอบที่ผ่านมา เลือกเพราะนโยบายจำนำข้าว หรือรถคันแรก หรือแท็บเล็ต หรือเพราะอย่างอื่น ซึ่งคุณอาจจะชอบนโยบายเดียวแต่คุณต้องซื้อเหมาแข่ง

การเลือกตั้งเป็นกลไกทางประชาธิปไตยที่ดีที่สุดที่มนุษย์คิดได้ แต่อย่างใช้เครื่องมือนี้ให้มันเกินขีดความสามารถที่จะมันจะสร้างได้จริงๆ มันควรเป็นเครื่องมือที่ตัดสินเรื่องใหญ่ๆ แต่ไม่ใช่การตัดสินเรื่องเล็กๆ ที่เต็มไปหมด และถ้าคุณคิดจะตรวจสอบคอร์รัปชั่นด้วยการเลือกตั้ง ต้องไม่ลืมว่าในหัวของคนที่ไปเลือกตั้งแต่ละคนคิดว่าเป็นการตรวจสอบเหมือนกันหรือเปล่า

ดังนั้นวิธีแก้จุดอ่อนประชาธิปไตยในระบบเลือกตั้งไม่ใช่ไปเลิกให้มันเป็นประชาธิปไตย แต่จะแก้ได้ ต้องเป็นประชาธิปไตยในเวอร์ชั่นที่มันบวกขึ้น ไม่ใช่ลดลง เพราะฉะนั้นต้องมีเลือกตั้งบวกกับตรวจสอบไม่ใช่ไม่เอาเลือกตั้ง

โดยกลไกรัฐสภาที่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสามารถตรวจสอบได้ ทำกลไกตรวจสอบนี้ให้แข็งแรง ประสบการณ์ของยุโรปก็พบว่าลำพังกลไกรัฐสภานั้นไม่พอ จึงมีการออกแบบองค์กรอิสระขึ้นมาแต่เป็นเครื่องมือที่ใช้ยาก ออกแบบให้ดียาก ดังนั้นทำกลไกตรวจสอบปกติให้ดีจะช่วยให้เราต้องใช้องค์กรอิสระน้อยลง และไม่ต้องออกมาขับไล่รัฐบาลบนท้องถนน

เรื่องที่มาขององค์กรอิสระเป็นสิ่งที่น่าอึดอัดคับข้องใจเพราะเรายังไม่เจอกลไกที่ได้รับการยอมรับ เราลองเปลี่ยนมาหลายอย่างและรู้ว่าอะไรใช่ไม่ใช่ เช่น พวกเราบางคนอาจเคยคิดว่าตุลาการภิวัฒน์หรือการให้ศาลเข้ามาคัดเลือกองค์กรอิสระเป็นวิธีที่ดี เมื่อเวลาผ่านไปวิธีนี้ไม่ได้ดีในสายตาของทุกคนและทำให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพในระบบการเมือง เพราะฉะนั้นมันจะต้องหาโมเดลต่อไป

 

ทำอย่างไรถึงจะแก้คอร์รัปชั่นในระบบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งได้ ?

ผมคิดว่าคำอธิบายการลดการคอร์รัปชั่นที่ชัดเจนกะทัดรัดของ ศ.โรเบิร์ต คลิตการ์ด ชาวอเมริกันเป็นแนวคิดที่สรุปรวบยอดได้ดีมาก คือ C=M+D-A ซึ่ง C(corruption) คอร์รัปชั่น จะเยอะถ้า M(monopoly) ผูกขาดเยอะ บวกด้วย D(discretion) ดุลยพินิจเยอะ ลบด้วย A(accountability) คือความโปร่งใส ถ้าความโปร่งใสน้อย กลไกตรวจสอบน้อยคอร์รัปชั่นก็จะเยอะ

เพราะฉะนั้นโมเดลหรือระบบในการสู้กับคอร์รัปชั่นจึงไม่ใช่ตัวบุคคล แต่ หนึ่ง จะทำอย่างไรให้ระบบโปร่งใส ประชาธิปไตยกับความโปร่งใสกับการลดคอร์รัปชั่นไปด้วยกันได้ ถ้าเดินตามกระบวนการรัฐสภา จะมีโครงการประชานิยมอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายต้องเอาเข้ารัฐสภา แล้วความโปร่งใสจะตามมาเพราะเอกสารสามารถเรียกดูได้ โครงการจำนำข้าวมีปัญหาส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่รัฐสภาไม่มีส่วนร่วมในการอนุมัติวงเงินจำนำ ตามกระบวนการงบประมาณปรกติเลย

สอง ทำอย่างไรให้อำนาจการผูกขาดทางเศรษฐกิจน้อยลง กิจการส่งออกเสื้อผ้า หรือรถยนต์ มีข่าวคอร์รัปชั่นน้อย เพราะกิจการพวกนี้มีการแข่งขันและไม่มีส่วนเกินให้ไปแสวงหากำไรมาก แต่สาขาที่คอร์รัปชั่นเยอะที่สุด ซึ่งสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ศึกษามาคือ โทรคมนาคมและพลังงาน เพราะเป็นธุรกิจที่ผูกขาด ผลประโยชน์เยอะ คนก็ไปวิ่งเต้นไปหาผลประโยชน์ เราจึงต้องควรการลดการผูกขาดโดยใช้มาตรการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ

สาม ลดดุลยพินิจ ตัวอย่างเช่น การคอร์รัปชั่นในกระบวนการขนส่งสินค้า หน่วยงานที่ถูกกล่าวหามากก็คือกรมศุลกากร เพราะถ้าคุณนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาก็ต้องผ่านศุลกากร ถ้าเจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นพิกัดศุลกากรหนึ่ง คุณอาจจะเสียภาษีศูนย์เปอร์เซ็นต์ ถ้าบอกพิกัดศุลกากรอีกพิกัดหนึ่ง คุณอาจจะเสียภาษียี่สิบเปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจว่าจะใช้พิกัดไหน แต่ถ้าประเทศไทยมีภาษีอัตราเดียวกันหมดดุลยพินิจพวกนี้จะหายไป การจ่ายใต้โต๊ะก็จะลดไป นี่คือวิธีการแก้ที่ผมคิดว่าเป็นเชิงระบบและไม่ได้โยงกับพรรคไหน คนไหน องค์กรไหน แล้วไม่ต้องถามต่อว่าองค์กรตรวจสอบอิสระมีที่มาอย่างไร

 

 

แก้ปัญหาคอรัปชั่น แก้กฎหมายข้อมูลข่าวสารฯ

ถ้าจะต้องออกแบบระบบให้โปร่งใส กฎหมายข้อมูลข่าวสารคือจุดสำคัญที่ต้องออกแบบใหม่ เพราะพบปัญหาหลายประการ เช่น คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารใช้เวลานานมากกว่าจะตัดสินออกมาได้ว่าให้เปิดเผยข้อมูลหรือไม่ เพราะคณะกรรมการฯ ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา เดือนหนึ่งก็ไปประชุมกันสักครั้งหนึ่งและเรื่องก็เข้ามาเยอะไปหมดเลยทำให้ช้า

อีกอย่างคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารก็ไม่มีอำนาจในการไปสั่งการให้หน่วยงานต้องเปิดข้อมูล เมื่อวินิจฉัยมาแล้วหน่วยราชการไม่เปิดเผยก็ทำอะไรต่อไม่ได้ บางกรณีหน่วยราชการก็อ้างว่าตัวเองไม่อยู่ใต้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข

 

Integrity Pact ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ

มีความคิดที่มาจากเมืองนอกเรียกว่า Integrity Pactหรือ ข้อตกลงคุณธรรม หมายความว่าเวลามีโครงการใหญ่ๆ อย่างเช่นโครงการเงินกู้สองล้านล้าน รัฐบาลต้องทำความตกลงกำหนดเป็นมติคณะรัฐมนตรีออกมาว่าโครงการเกี่ยวกับเงินกู้สองล้านล้านทุกโครงการ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคมกับเอกชนคู่สัญญาจะเข้ามาประมูลโครงการรัฐจะต้องมาเซ็นสัญญาร่วมกันว่ารัฐบาลจะยอมเปิดเผยข้อมูลและเอกชนจะไม่โกง

และให้มีผู้สังเกตการณ์จากภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องได้ อาจจะเป็นองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น เอ็นจีโอ หรืออื่นๆ ซึ่งผู้สังเกตการณ์จะมีส่วนร่วมในการลงนาม Integrity Pactด้วย อันนี้เป็นความคิดที่กลุ่มองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นสนับสนุนและผมเห็นด้วยว่าแนวเป็นทางที่ดี

 

ต่อข้อเสนอของกปปส. แก้กฎหมายไม่ให้มีอายุความ?

เรื่องการแก้กฎหมายไม่ให้มีอายุความคนพูดกันเยอะรวมทั้ง กปปส.ด้วย ถ้าไม่มีอายุความ ความเสี่ยงที่จะถูกเล่นงานจะมากขึ้น แต่ถ้ามีการหมดอายุความได้คนคอร์รัปชั่นก็จะหนีเงื้อมมือกฎหมายไปได้ ตัวอย่างเช่น คุณวัฒนา อัศวเหม คุณประชา มาลีนนท์ หรือคุณทักษิณ

เรื่องคอร์รัปชั่นไม่มีอายุความ จริงๆ มีข้อเสียแต่ไม่ถึงกับเป็นเรื่องร้ายแรงจนต้องปฏิเสธข้อเสนอนี้ เพราะอายุความเป็นเรื่องเกี่ยวกับพยานหลักฐาน ถ้าเวลาผ่านไปนานพยานหลักฐานก็จะหายไป ยกตัวอย่าง ถ้าเห็นใครยิงใครตาย ถามทันทีคุณจะตอบได้ ถามวันพรุ่งนี้ที่คุณตอบจะผิดไปเยอะ ถ้านานไปกว่านั้นสิ่งที่คุณพูดอาจเป็นนิยายเลย

แต่กรณีของคอร์รัปชั่นมักเป็นอาชญากรรมคอปกขาว เป็นคดีที่พึ่งพยานเอกสารมากกว่าพยานบุคคล โอกาสที่จะเหลือพยานหลักฐานจึงมีเยอะอยู่แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะเหลือเท่าเดิม เวลาผ่านไปมันอาจจะหายหรือถูกทำลาย แต่เรื่องอย่างนี้ถ้าปล่อยไปสิบปีก็น่าจะพอหากันได้อยู่แม้จะยากขึ้นก็ตาม

แม้ข้อเสนอให้คดีคอร์รัปชั่นไม่มีอายุความจะเป็นข้อเสนอที่ กปปส.เห็นด้วย ผมว่าก็ไม่แปลกที่พวกเราน่าจะเห็นด้วยได้

 

ต่อข้อเสนอของ กปปส. ให้ประชาชนฟ้องฐานคอร์รัปชั่นเองได้

หลักการดี แต่ว่าทางปฏิบัติมันมีช่องโหว่เยอะ คนที่อยู่วงการกฎหมายเขาจะรู้กันว่าถ้าเกิดปล่อยให้ใครๆ ก็ฟ้องได้จะมีนาย ก. ไปฟ้องด้วยสำนวนที่อ่อนมาก และเมื่อศาลยกฟ้อง นาย ข. ซึ่งหลักฐานที่แน่นกว่าจะไปฟ้องอีกไม่ได้ ถ้าจะทำเรื่องนี้ ต้องมีกลไกประกาศให้คนอื่นมีโอกาสในการเข้ามาร่วมฟ้องด้วย

 

ภาพการคอร์รัปชั่นระหว่างรัฐบาลประชาธิปัตย์กับรัฐบาลเพื่อไทย ?

ประชาธิปัตย์เรื่องที่เด่นมากคือเรื่อง สปก. 4-01 ที่จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรแต่ที่ดินไปตกที่เกษตรกรตัวปลอม โครงการไทยเข้มแข็งก็มีการกล่าวหาเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนเพื่อไทยเรื่องจำข้าวเป็นคอร์รัปชั่นในระดับที่รัฐเข้าไปแทรกแซงตลาด ทั้งฝั่งคนซื้อและฝั่งคนขาย ซึ่งการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงตลาดอย่างไม่โปร่งใสทำให้เกิดคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่

จากกรณีการจำนำข้าว จะเห็นได้ว่า วิธีการลดคอร์รัปชั่นอีกอย่างคือ รัฐอย่าไปแทรกแซงกลไกตลาดในเรื่องที่กลไกตลาดไม่ได้ล้มเหลว เพราะถ้ารัฐเข้าไปยุ่งก็จะมีดุลยพินิจว่าจะให้ผลประโยชน์กับใคร เช่นถ้าจะขายข้าวออกจากโกดัง รัฐบาลจะขายข้าวให้กับเอกชนรายไหน

 

รัฐบาลเพื่อไทยโกงมากกว่าสมัยประชาธิปัตย์จริงหรือไม่

ผมไม่มีหลักฐานแต่เห็นว่าไม่แปลกที่จะมีคนสันนิฐานว่าเป็นอย่างนั้นได้ เพราะว่า การที่หัวหน้ารัฐบาลทำธุรกิจหรือไม่ทำธุรกิจมันมีความเสี่ยงที่จะคอร์รัปชั่นง่ายหรือยาก ในสมัยประชาธิปัตย์ คุณชวน คุณอภิสิทธิ์ ไม่ได้มีธุรกิจอะไรที่เป็นของตัวเอง ความเสี่ยงที่ผลประโยชน์อะไรจะไปทับซ้อน จะน้อยลง แต่ก็จะมีความเสี่ยงระดับรัฐมนตรีแทน ในสมัยรัฐบาลทักษิณ คุณทักษิณเองมีผลประโยชน์ทางธุรกิจก่อนที่จะขายหุ้นออกไป ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่ผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะฉะนั้นมีความเป็นไปได้ที่คนสันนิษฐานกันและอาจเป็นอย่างนั้นจริง แต่ไม่ใครมีหลักฐานหรอกว่าใครคอร์รัปชั่นมากกว่ากัน

อีกอย่างอาจจะเป็นเพราะ Business Model ของประชาธิปัตย์อย่างน้อยทำให้คุณอภิสิทธิ์ดูดี หรือเป็นตั้งแต่สมัยคุณชวนแล้วที่ทำให้หัวหน้าดูดี คนอื่นเป็นอย่างไรอีกเรื่องหนึ่ง ส่วน Business Model ของทักษิณจะไม่ใช่อย่างนั้น สุดท้ายแล้วไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์สะอาดกว่าพรรคไหน แต่เขามีจุดขายคือเขาสามารถดึงดูดกับชนชั้นกลาง ซึ่งคนชั้นกลางอ่อนไหวเรื่องคอร์รัปชั่น เพราะเขาทำมาค้าขายเขาเห็นว่าถ้าเกิดความได้เปรียบเสียบเปรียบกันจะดูไม่ดี ประชาธิปัตย์ก็วาง Business Model ว่าอย่างน้อยหัวหน้าพรรคต้องภาพลักษณ์ดี

แต่ทั้งหมดนี้ เราต้องไม่ลืมว่า ทั้งสองพรรคอยู่ภายใต้โครงสร้างผลประโยชน์เดียวกัน ภายใต้ระบบความโปร่งใส และกลไกในการตรวจสอบของประเทศแบบเดียวกัน

 

รู้ว่ารัฐบาลชุดนี้โกงทำไมอาจารย์ถึงไม่ไปร่วมกับ กปปส.ขับไล่รัฐบาล

แนวคิดของ กปปส.คือต้องการล้มรัฐบาล แต่แนวคิดของพวกเราต้องการให้รัฐบาลใดก็ตามเลิกนโยบายที่ไม่ดีซึ่งไม่เหมือนกัน  สิ่งที่ผมกลุ้มใจก็คือในเมืองไทยคนบางส่วนยังแยกความต่างกันไม่ได้ คือในเมืองไทยตอนนี้การอภิปรายในที่สาธารณะมันหยาบมากๆ ไม่แยกรายละเอียด เวลาวิจารณ์นโยบายหรือการคอร์รัปชั่นจะถูกมองว่าจะเป็นการล้มรัฐบาล คนไม่แยกระหว่างการกระทำกับตัวบุคคล อย่างน้อยผมคนหนึ่งละที่พูดเรื่องคอร์รัปชั่นเพื่ออยากลดการคอรัปชั่นจริงๆ โดยไม่ได้มีเป้าหมายว่าเป็นใคร เพราะคอร์รัปชั่นถ้าเป็นใครก็แย่เหมือนกันหมด

อันที่จริงคอรัปชั่นควรเป็นเรื่องการเมืองที่คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายเห็นร่วมกันทั้งหมด แต่ในประเทศไทยมันถูกลากเข้ามาว่าถ้าพูดเรื่องการคอร์รัปชั่นคุณจะถูกหาว่าไปล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมันเหลวไหลมากในการเถียงกันเรื่องนี้ เราจะเห็นว่าทุกรัฐบาลไม่ว่า อภิสิทธิ์ หรือ ยิ่งลักษณ์ พูดเหมือนกันว่าต้องการต่อต้านคอร์รัปชั่น เพราะฉะนั้นเรื่องคอร์รัปชั่นควรจะถูกทำให้พ้นจากความเป็นหัวข้อที่คู่ขัดแย้งจะมาเถียงกัน

 

เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ iLaw ในชื่อ “สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: คอร์รัปชั่นต้องเป็นวาระร่วมกันของคู่ขัดแย้งทุกฝ่าย” วันที่ 13 ก.พ. 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด