แนะรื้อกฎหมายแก้คอร์รัปชัน อุดช่องโหว่ใช้เงินนอกงบ

ปี2014-02-13

“ทีดีอาร์ไอ” แนะปฏิรูปแก้คอร์รัปชัน รื้อกฎหมายเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้า หลังพบยังอุ้มรัฐวิสาหกิจและสร้างระบบผูก ที่เอื้อคอร์รัปชัน ด้าน “อัมมาร” แนะ ปฏิรูประบบตรวจสอบการใช้เงินนอกงบประมาณ อุดช่องโหว่รัฐโหมประชานิยม

วานนี้ (11 ก.พ.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนาเรื่อง “การคอร์รัปชันและการผูกขาดทางเศรษฐกิจ” โดยมีนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันฯ นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นางผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร และ นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ร่วมการเสวนา

นายสมเกียรติ กล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชันกับการผูกขาดทางเศรษฐกิจ มีส่วนเกี่ยวข้องกันโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผูกขาดธุรกิจขนาดใหญ่และเกี่ยวข้องกับการจัดสรรผลประโยชน์ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายการเมือง ซึ่งเรื่องการแก้ปัญหา

การทุจริตคอร์รัปชันของสังคมไทยถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งในกระบวนการปฏิรูปโดยจะต้องเน้นการสร้างกลไกในสังคมให้สามารถจัดการกับการคอร์รัปชันในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“หากติดตามทัศนคติของประชาชน ในสังคมจะเห็นได้ว่าจากผลการสำรวจในเรื่องการยอมรับการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง ประชาชนทัศนคติที่ดีขึ้นในเรื่องการไม่ยอมรับ นักการเมืองที่มีการคอร์รัปชัน สิ่งที่ยัง ไม่เห็นชัดเจนนักก็คือการแสดงเจตจำนงของนักการเมืองที่จะต่อต้าน เรื่องการคอร์รัปชัน” นายสมเกียรติ กล่าว

นางเดือนเด่น กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศ ไทยมีปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐทำให้การตรวจสอบข้อมูลการทุจริตทำได้ยาก แม้จะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ให้อำนาจราชการในการตัดสินใจว่าจะเปิดเผยข้อมูลหรือไม่ ทำให้หน่วยงานราชการสามารถปกปิดข้อมูลได้ และมีขั้นตอนที่จะต้องไปเรียกร้องถึงศาลปกครอง ซึ่งใช้เวลานาน 3-4 ปี

ขณะที่ต่างประเทศ ข้อมูลของราชการถือว่าเป็นข้อมูลสาธารณะ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนั้นในเรื่องของการผูกขาดทางเศรษฐกิจในประเทศไทยพบว่า ปัจจุบันแม้จะมี การปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้สัมปทานในธุรกิจ ต่างๆ มาเป็นระบบการให้ใบอนุญาต แต่โดยโครงสร้าง การแข่งขันของธุรกิจผูกขาดในประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตมากนัก โดยพบว่ายังมีการเอื้อประโยชน์ระหว่างรัฐบาล ผู้ออก ใบอนุญาต และภาคเอกชน

สำหรับการแก้ไขปัญหาโดยการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าก็ไม่ได้ทำให้สภาพการแข่งขันระหว่างธุรกิจเอกชน ในประเทศไทยพัฒนาดีขึ้นเนื่องจากธุรกิจผูกขาดจำนวนมากยังมีผู้แข่งขันน้อยราย และบางรายเป็นรัฐวิสาหกิจที่เข้ามาแข่งขันกับเอกชน ซึ่งกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทย ยังคุ้มครองการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจให้มีความได้เปรียบเอกชน ซึ่งควรจะมีการปรับปรุงในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

“ราชการ” ตัวรับสินบนโครงการใหญ่

นางผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าประเทศไทยมีปัญหาคอร์รัปชันที่สะสมเนื่องจากมีคดีความที่ล่าช้าของการดำเนินคดีสะสมอยู่จำนวนมาก ในขณะที่ระบบราชการ มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นมีการทุจริตลดลง แต่ยังมีปัญหาเฉพาะจุด เช่น กรมที่ดิน กรมสรรพากร กรมศุลกากร ตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมที่มีความล่าช้า การสำรวจที่ผ่านมาพบว่า มีการจ่ายเงินให้คดีความได้รับการเร่งรัดให้เร็วขึ้น ซึ่งทำให้ได้ประเด็นว่ากระบวนยุติธรรมบางส่วน มีปัญหาแต่ไม่ใช่ทั้งหมด

ปัญหาที่ใหญ่มากกว่านั้นคือการให้สินบน ในโครงการใหญ่ ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งข้าราชการ นักการเมืองและนักธุรกิจ โดยพบการทุจริตในโครงการของกระทรวงเกรดเอต่างๆ เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในโครงการที่มีการใช้เงินจำนวนมาก

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร กล่าวว่า ปัจจุบันการผูกขาดทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐมีการทำกันเป็นกระบวนการโดยการรวมกลุ่มทางธุรกิจและเข้าไปประมูลงานของภาครัฐ โดยรู้เห็นกับข้าราชการภายในและเป็นการผูกขาดโดยใช้การประมูลภาครัฐซึ่งส่งผลเสียหายต่อภาครัฐ ปีละนับหมื่นล้านบาท และส่งผลเสียในเรื่องของ คุณภาพของงานเนื่องจากไม่มีเอกชนเข้ามาแข่งขันเท่าที่ควร

“อัมมาร” จี้สร้างกลไกสอบเงินนอกงบ

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูประบบการตรวจสอบการใช้งบประมาณของประเทศใหม่โดยเฉพาะการใช้เงินนอกงบประมาณในโครงการต่างๆของรัฐบาล เช่น การใช้เงินกู้ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งการใช้งบประมาณเหล่านี้ไม่ปรากฏอยู่ในงบประมาณประจำที่ผ่านการตรวจสอบของรัฐสภาทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศได้ง่าย

นายอัมมาร กล่าวว่า ในอนาคตหากรัฐบาลใดต้องการที่จะทำนโยบายประชานิยมขนาดใหญ่ ต้องมีขั้นตอนในการเสนอต่อรัฐสภาเช่นเดียวกับการเสนองบประมาณรายจ่ายประจำ โดยมีรายละเอียดในเรื่องของตัวเลขของงบประมาณที่ชัดเจน รวมทั้งที่มาของเงินกู้ โดยประกาศให้รัฐสภารับทราบตั้งแต่แรกก่อนเริ่มโครงการและใช้กลไกของรัฐสภาในการติดตามตรวจสอบร่วมกับกรมบัญชีกลาง และองค์กรอิสระ รวมทั้งมีการใช้ระบบบัญชีเข้ามาตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยระบบบัญชีจะทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างรวดเร็วไม่ใช่ระบบปิดบัญชีในรูปแบบเดียวกับโครงการรับจำนำข้าวที่มีปัญหาการปิดบัญชีที่ล่าช้า โดยเฉพาะในอดีตที่จะรู้ผลความเสียหายได้ก็ต่อเมื่อมีการขายข้าวจนเม็ดสุดท้ายแล้วซึ่งจะไม่ทันต่อความเสียหายที่สังคมจะต้องรับรู้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557