ทีดีอาร์ไอชงแนวปฏิรูปลดเหลื่อมล้ำ เลิกประชานิยม-เทงบพัฒนาทุนมนุษย์

ปี2014-02-18

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนาเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการสังคม” พร้อมเสนอแนวทางปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งการปฏิรูปกฎหมาย ระบบภาษี ลดการใช้งบประชานิยม เพิ่มสวัสดิการสังคมและพัฒนาทุนมนุษย์

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศไทยมีหลายระดับ ทั้งความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน คนรวยกับคนชั้นกลาง และคนชั้นกลางกับคนจน ซึ่งในเรื่องของความไม่เท่าเทียมทางรายได้ระหว่างคนชั้นกลางกับคนจนนั้น พบว่ามาจากความไม่เท่าเทียมกันของทุนมนุษย์ เช่น การศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสังคมเมืองและชนบทที่จะต้องมีการปรับปรุงให้สังคมมีความเท่าเทียมในเรื่องการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น ต้องมีการปฏิรูประบบการคลัง ได้แก่ การปฏิรูประบบภาษี และปรับปรุงการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อให้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ในเรื่องการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมในสังคมมากขึ้น

สำหรับข้อเสนอในเรื่องของการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมของประเทศไทย แนวทางคือจะต้องมีการปรับปรุงให้เป็นระบบสวัสดิการถ้วนหน้าและทั่วถึงมากขึ้น โดยต้องปฏิรูปใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

1. การปฏิรูปด้านกฎหมาย ประกอบด้วย การปรับปรุงระบบการคลังโดยยกเลิกนโยบายประชานิยม ควบคู่ไปกับการผลักดันให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีสิ่งปลูกสร้าง และภาษีที่ได้จากการขายทรัพย์สิน (Capital Gains Tax) รวมทั้งผลักดันให้เกิดการจัดทำกฎหมายว่าด้วยสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้าให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

2. การกระจายอำนาจ ทรัพยากรด้านงบประมาณ และทรัพยากรคนลงสู่ท้องถิ่น รวมทั้งกำหนดนโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการสร้างทุนมนุษย์มากกว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยใช้งบประมาณในสัดส่วนอย่างน้อย 50% เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนชั้นกลางในระยะยาว

3. การปฏิรูประบบการเมืองและประชาสังคม ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของคนรากหญ้าและคนชั้นกลางในการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มีการปฏิรูประบบเลือกตั้งให้มีสัดส่วน ส.ส. ในรัฐสภาใกล้เคียงกับระบบ popular vote มากที่สุด และเสนอให้เดินหน้าปฏิรูปสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ในเรื่องอำนาจหน้าที่และการคัดเลือกสมาชิก พร้อมเร่งรัดสื่อให้ช่วยลดมายาคติเรื่องความยากจน เนื่องจากมายาคติเรื่องความยากจนนำมาสู่การกำหนดนโยบายที่ผิด

เช่น โครงการรับจำนำข้าว ที่กล่าวว่าจำนำข้าวเพื่อช่วยชาวนายากจน แต่ในความเป็นจริง เงินจากการจำนำข้าวไปถึงมือที่เป็นชาวนายากจนเพียง 30,000 ล้านบาทต่อปี จากเงินที่ขาดทุนในโครงการถึง 1.5 แสนล้านบาทต่อปี

นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคเกษตรกับอาชีพอื่นๆ นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย เนื่องจากประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังมีเกษตรกรอยู่จำนวนมากในสัดส่วน 25-40% ของแรงงานทั้งหมด ในทางตรงกันข้ามรายได้ภาคเกษตรของไทยกลับลดลงเรื่อยๆ โดยในปัจจุบันเหลือเพียง 7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

ดังนั้นเกษตรกรไทยจึงมีรายได้ต่ำกว่าแรงงานในภาคอื่นๆ ส่งผลให้ภาคเกษตรเป็นอาชีพที่จะไม่สามารถเป็นรายได้หลักของคนในอาชีพนี้ได้ในอนาคต ประกอบกับการมีนโยบายที่สนับสนุนภาคเกษตรแบบไม่ถูกต้อง เช่น โครงการรับจำนำข้าว ทำให้ต้นทุนภาคเกษตรเพิ่มขึ้น และแม้จะมีการยกเลิกนโยบายไปแล้ว ต้นทุนก็จะไม่ลดลง

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า แนวทางการปฏิรูปภาคเกษตรของไทยเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น ได้แก่

1. คนที่ไม่ใช่เกษตรกรต้องเลิกการยัดเยียดค่านิยมและความรู้ที่ไม่ถูกต้องให้เกษตรกร

2. พรรคการเมืองต้องเลิกโฆษณาชวนเชื่อว่าจะทำให้ราคาข้าวและพืชผล การเกษตรสูงขึ้น เพราะทำให้เกิดปัญหาการบิดเบือนกลไกตลาด ทำให้เกิดการเสพติดนโยบายประชานิยมการเกษตร และต้องไม่ใช้นโยบายการจูงใจราคาเพื่อให้เกิดการปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไปจนเกิดปัญหาล้นตลาด

3. เลิกใช้มาตรการหรือจูงใจให้คนกลับไปทำภาคเกษตร เพราะการที่คนไปทำภาคเกษตรมากเกินไป ผลผลิตจะออกมาตลาดมาก ในที่สุดราคาผลผลิตก็ตกต่ำ และ 4.มาตรการหรือนโยบายประกันความเสี่ยง จะต้องคำนึงถึง ด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ด้านราคาด้วย และจะต้องไม่ใช้ในช่วงที่ราคาไม่ได้ตกต่ำ รวมทั้งต้องให้เกษตรกรช่วยรับภาระ เพื่อให้มีการพัฒนา

“การลดลงของคนในภาคเกษตรไม่มีผลต่อความมั่นคงทางอาหารของไทย เนื่องจากเกษตรกรเดินออกจากภาคเกษตรมามากพอสมควรแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่เราจะเก็บคนไว้ในภาคเกษตรโดยที่เขาไม่สมัครใจ แต่ในขณะเดียวกันภาครัฐ พรรคการเมือง ก็ยังส่งเสริม ให้คนอยู่ในภาคเกษตรต่อไป เช่น การสัญญาว่า จะเพิ่มรายได้โดยการเพิ่มราคาผลผลิต ทั้งที่ปัจจุบันการทำเกษตรไม่ใช่งานเต็มเวลาอีกต่อไป บางทีมีการทำนาโดยการจ้างและทำเฉพาะ วันหยุด หรือมีอาชีพรับจ้างทำนาแบบเดินสาย เกษตรกรจะมีความเป็นอยู่ดีได้จะต้องไม่มีเกษตรกรมากเกินไป” นายวิโรจน์กล่าว

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประชาชนในประเทศไม่สามารถใช้แนวทางการช่วยเหลือโดยการกำหนดราคาสินค้าได้ แต่แนวทางที่ได้ผลที่สุดคือการกำหนดรายได้ขั้นต่ำของแรงงานให้มีความเหมาะสม ควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบภาษีให้เป็นธรรม


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557