“ดร.นิพนธ์” ชี้ทางออกจำนำข้าว รัฐบาลต้อง “ลดทิฐิ-ยอมรับความผิดพลาด-สร้างความร่วมมือทุกฝ่าย”

ปี2014-02-22

“กิตติรัตน์” คาด 7-8 สัปดาห์ได้ข้อสรุปออกพันธบัตรออมทรัพย์ขายรายย่อย โปะจำนำข้าว ขณะที่ “ดร.นิพนธ์” แนะทางแก้จำนำข้าว นายกฯ ต้อง “ลดทิฐิ-ยอมรับทำนโยบายผิดพลาด-สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน” เพื่อหาทางช่วยชาวนาที่เดือดร้อน มั่นใจมีวิธีหาเงินช่วยชาวนาไม่ผิดกฎหมาย ส่วน “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร” ย้ำ “ยิ่งลักษณ์” ต้องลาออก

ทุกข์ของชาวนาจากการไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าว เป็นประเด็นร้อนที่รัฐบาลเร่งแก้ไข โดยมีความพยายามทำทุกวิถีทางที่จะหาเงินมาจ่ายค่าจำนำข้าว แต่หลายๆ แนวทางสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181(3), (4) รวมทั้งถูกต่อต้านจากพนักงานของสถาบันการเงินที่รัฐบาลไปขอความช่วยเหลือ และไม่ได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ เพราะไม่เชื่อมั่นในประเด็นข้อกฎหมายที่ไม่ชัดเจน

ข้อจำกัดดังกล่าวเป็นปัญหาหลักทำให้รัฐบาลหาเงินมาจ่ายค่าจำนำข้าวชาวนาไม่ได้ แต่รัฐบาลกลับมองข้ามข้อจำกัดด้านกฎหมาย แล้วโยนความผิดไปให้กลุ่มที่ต่อต้านกับสถาบันการเงินที่ไม่ให้ความร่วมมือ และพยายามดิ้นหาเงินผ่านช่องทางต่างๆ ล่าสุดเล็งออกพันธบัตรออมทรัพย์ขายรายย่อย เพื่อระดมเงินไปจ่ายโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 2556/57

คาด 7-8 สัปดาห์ได้ข้อสรุปบอนด์ออมทรัพย์ช่วยชาวนา

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภายใน 7-8 สัปดาห์จะได้ข้อสรุปเรื่องการเปิดจำหน่ายพันธบัตรโครงการจำนำข้าวเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือชาวนา ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจ การจัดลำดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตร ซึ่งจะเน้นจำหน่ายให้กับรายย่อย

“มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ เพราะมั่นใจว่ามีประชาชนจำนวนมากที่สนใจจะช่วยเหลือชาวนา ส่วนรายใหญ่หรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ นั้นไม่ใช่เป้าหมายในการระดมทุน” นายกิตติรัตน์กล่าว

ขณะที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจรายสาขาด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่กระทรวงคลังจะทำการออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อนำเงินมาจ่ายจำนำข้าวว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจในการออกพันธบัตรในขณะนี้ เพราะเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงมีอำนาจจำกัด และกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ระบุชัดเจนไม่ให้อำนาจรัฐบาลรักษาการออกพันธบัตร เพราะจะเป็นภาระให้รัฐบาลต่อไป

“แม้จะให้ ธ.ก.ส. เป็นคนออกพันธบัตรออมทรัพย์ แล้วกระทรวงคลังค้ำประกัน แต่ก็เหมือนกัน หรือไม่ต่างจากการที่กระทรวงการคลังออกเอง เพราะเท่ากับสร้างภาระให้รัฐบาลต่อไป แต่ถ้ารัฐบาลมั่นใจว่าไม่ผิดก็แล้วแต่รัฐบาล” ดร.นิพนธ์กล่าว

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ดร.ทนง พิทยะ และ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีคลัง ได้แสดงความเห็นตรงกันว่า รัฐบาลมองว่าในทางกฎหมายไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ จะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181(3), (4)

แก้หนี้จำนำข้าว รัฐบาล “ลดทิฐิ-ยอมรับความผิดพลาด-จับมือทุกฝ่าย”

สำหรับทางออกของปัญหาชาวนาไม่ได้เงินจำนำข้าว ดร.นิพนธ์เสนอว่า วิธีง่ายที่สุดคือการมีรัฐบาลใหม่ โดยทันทีที่มีรัฐบาลใหม่ รัฐบาลใหม่จะมีอำนาจเต็มในการแก้ปัญหา เพราะประเทศไทยไม่ได้ถังแตก ประเทศไทยมีเงิน แต่ในขณะนี้คงยากมาก เนื่องจากรัฐบาลคงไม่ลาออก หรือในกรณีรัฐบาลใหม่ก็อาจต้องใช้เวลานาน

ดังนั้น แม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่ ดร.นิพนธ์กล่าวว่า มีอีกวิธีคือ ก่อนอื่นรัฐบาลต้อง “ลดทิฐิ” ก่อน เพราะวิธีแก้ปัญหาต้องร่วมมือกัน เพราะฉะนั้น ในสถานการณ์อย่างนี้ ไม่ใช่รัฐบาลมาโยนความผิดให้คนนั้นคนนี้ ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าไม่ใช่ แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ หันมาพูดคุยกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวนา สมาคมธนาคาร ฝ่ายบริหารธนาคารของรัฐ และธนาคารเอกชน และฝ่ายกฎหมาย เช่น กฤษฎีกา รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ปัญหาชาวนาที่เป็นวิกฤติอยู่ในขณะนี้

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจรายสาขาด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจรายสาขาด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ดร.นิพนธ์ย้ำว่า รัฐบาลต้องไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ไปบีบบังคับคนนั้นคนนี้ หรือไปหาวิธีการทางออกที่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย เพราะบ้านเมืองมีขื่อมีแป มีกฎมีเกณฑ์ ทำไมเราไม่ทำวิธีที่เรียกว่า “civilize” ซึ่งมีคนเสนอหลายวิธี เราก็ต้องมาพิจารณาร่วมกันว่าจะหาวิธีต่างๆ ร่วมกันอย่างไร ซึ่งอาจต้องทำหลายๆ วิธีพร้อมกัน ถ้าทำได้ก็พอที่จะบรรเทาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ลงไปได้

“มีข้อเสนอหาเงินช่วยชาวนาที่ถูกกฎหมาย แต่ขอให้รัฐบาลใจกว้าง และยื่นมือไปขอให้ฝ่ายอื่นๆ มาร่วมกันแก้ปัญหาได้ไหม อย่าไปโทษคนอื่น เพราะโครงการมันมีปัญหา ก็ต้องออกมายอมรับว่ามีปัญหา คนแรกที่ต้องออกมาคือนายกรัฐมนตรี ถ้าทำได้ ความรุนแรงที่ชาวนาขึ้นไปพูดบนเวทีจะคลายลงเยอะมาก” ดร.นิพนธ์กล่าวและระบุว่า

ปัญหาของรัฐบาลก็คือ ชอบโยนความผิดให้คนอื่นตลอดเวลา พอไม่ได้เงินจากแบงก์ก็โยนความผิดให้ผู้บริหารแบงก์ โยนความผิดให้สหภาพต่างๆ ซึ่งการทำหน้าที่นั้นมีกฎกติกา ไม่ใช่วันดีคืนดีมีคนเดินเข้าไปในธนาคารแล้วล้วงเงินจากธนาคารมาใช้ตามอำเภอใจได้

สำหรับข้อเสนอแก้ปัญหาชาวนาไม่ได้เงินจำนำข้าวที่ถูกกฎหมาย ดร.นิพนธ์ระบุว่า มีหลายวิธีที่เสนอ อาทิ กรณี ธ.ก.ส. ขยายวงเงินกู้ให้ชาวนา กับไม่คิดดอกเบี้ยกับเกษตรกร สองวิธีนี้ช่วยได้เป็นกอบเป็นกำ อีกวิธีที่มีการเสนอคือ เรื่องใบประทวน ให้นำไปจำนำกับ ธ.ก.ส. แต่รัฐบาลไม่สนใจทำทั้งท่ีเรื่องนี้ตรงไปตรงมา กลับโยนไปให้โรงสีทำ แต่โรงสีไม่ได้มีเงินหรือสภาพคล่องเหมือนธนาคาร ดังนั้นคงทำได้ไม่เต็มที่

อย่างไรก็ตาม กรณีนำใบประทวนไปค้ำประกันเงินกู้นั้น ดร.นิพนธ์กล่าวว่า มีปัญหาทางกฎหมายบางประการ คือ ใบประทวนสินค้าออกแบบมาใช้ค้ำประกันเงินกู้ได้ แต่ต้องเป็นใบประทวนสินค้าซึ่งไม่แปรรูป แต่กรณีข้าวเป็นสินค้าแปรรูปแล้ว ก็ต้องมีการตีความเรื่องนี้ว่าตกลงจะใช้เป็นหลักประกันกู้เงินได้ไหม และรัฐบาลค้ำประกันตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้ทำ securitization โดยใช้สต็อกข้าวที่มีอยู่หนุนหลัง ถ้าทำได้ก็เป็นวิธีที่ค่อนข้างรวดเร็ว แก้ปัญหาได้ และธนาคารก็ใช้เครื่องมือของสถาบันการเงินซึ่งไม่ใช่เฉพาะธนาคารรัฐแต่รวมถึงธนาคารเอกชน ถ้าแก้ปัญหาอย่างนี้ แล้วคุยกับประชาชนผู้ฝากเงิน ปัญหาคนแห่ไปถอนเงินก็จะลดลง

อย่างไรก็ตาม การทำ securitize อาจมีปัญหาคือ เราไม่รู้ว่าสินค้าหรือข้าวที่ใช้หนุนหลังนั้นคุณภาพเป็นอย่างไร และมีมูลค่าเท่าไร เพราะรัฐบาลไม่เคยเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง ทั้งที่รัฐบาลที่มีจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อประชาชนต้องเปิดเผยเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นอาจเข้าข่ายส่อทุจริต ส่อพฤติกรรมที่ไม่ดี ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้ควรเปิดเผยเพื่อความโปร่งใส

สำหรับแนวทางการขายข้าว เป็นทางที่ต้องดำเนินการ แต่อาจได้เงินไม่มาก เพราะสถานการณ์ราคาข้าวตกลงทุกวัน เนื่องจากเมื่อรัฐบาลเร่งขายมากๆ ราคาก็ตกลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ได้เงินน้อย และที่ผ่านมาขายได้เงินมากว่า 10,000 ล้านบาท ขณะที่หนี้ใบประทวนโดยประมาณคาดว่าอาจเกิน 110,000 ล้านบาทแล้ว

“เพราะฉะนั้น การจะหาเงินไปจ่ายจำนำข้าวช่วยเหลือชาวนาต้องใช้หลายๆ วิธีประกอบกัน แต่ถ้าจะหาเงินก้อนใหญ่ก้อนเดียวแก้ปัญหาได้หมดรัฐบาลต้องลาออก แล้วมีรัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มที่เข้ามาจัดการถึงจะทำได้” ดร.นิพนธ์กล่าว

รัฐบาลไม่ออก ช่วยชาวนาไม่ได้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวากุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการะทรวงคลัง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ด้าน ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฟันธงว่า ทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาจำนำข้าวคือรัฐบาลลาออก แล้วมีสูตรช่วยหลายสูตร โดยเราต้องร่วมมือกันไปคุยกับชาวนา และคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าจะได้สูตรที่จะช่วยให้ชาวนามีเงินก้อนดีพอสมควรกลับมาอยู่ในมือ มีรายได้สูงขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะชาวนาจะได้จับจ่ายใช้เงินในต่างจังหวัดหมุนกลับเข้ามาในเศรษฐกิจ

“สูตรที่มีอยู่ทำได้จริงๆ แต่ตราบใดที่รัฐบาลอยู่ทำไม่ได้ ข้อเสนอที่เสนอไม่ได้เป็นการถือโอกาสโจมตี แต่เป็นทางออกจริงๆ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

นอกจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรระบุว่า แนวทางที่รัฐบาลจะออกพันธบัตรเพื่อนำเงินมาจ่ายใหักับชาวนานั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ ซึ่งไม่มีอำนาจในเรื่องดังกล่าว อาจทำให้เสี่ยงจะผิดกฎหมาย ต้องเป็นรัฐบาลใหม่เท่านั้นถึงจะทำได้