สกู๊ปหน้า 1
“โครงการรับจำนำข้าว”…กำลังเป็นกระแสร้อนแผ่นดิน เพราะชาวนาออกโรงมาปิดถนนประท้วง เรียกร้อง ด้วยเหตุเพราะยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57
คำถามมีว่า…อะไรคือสาเหตุสำคัญของปัญหาในครั้งนี้ และแนวทางการแก้ปัญหาให้กับชาวนาควรเป็นอย่างไร
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจสาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ ฉายภาพเอาไว้ผ่านรายการสถานีทีดีอาร์ไอเผยแพร่ทางเว็บไซต์ tdri.or.th ว่า ปัญหาของโครงการที่กลายมาเป็นปัญหาทุกวันนี้มีผลมาจาก…ตั้งแต่เรื่องแนวคิดของโครงการ มาจนถึงวิธีดำเนินโครงการ
แนวคิด “โครงการรับจำนำข้าว”…มีวัตถุประสงค์ต้องการช่วยชาวนา ตั้งใจที่จะสร้างประวัติศาสตร์โดยการใช้คำว่า “รับจำนำทุกเม็ด”
…“แม้ข้าวไม่ได้เข้ามาทุกเม็ดจริง แต่ก็เป็นการรับจำนำแบบเกือบจะไม่จำกัดปริมาณ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ทำให้มีผลดีตรงที่ว่าชาวนาไม่ได้ถูกกดราคาเหมือนกับการรับจำนำหรือการแทรกแซงในอดีต… และคิดว่าในช่วง 2 ปีแรกก็ได้ผลอย่างนั้นจริง”
ชาวนาไม่ถูกกดราคาง่ายๆ เพราะมีโรงสีที่ให้บริการจำนวนมากทำให้ชาวนามีทางเลือก…เลยเป็นความสำเร็จในประวัติศาสตร์ของโครงการนี้
แต่ปัญหามีว่า “โครงการรับจำนำข้าว” เริ่มมาจากแนวคิดและความ เชื่อที่ผิด โดยเฉพาะความคิดที่เชื่อว่า…เมื่อรัฐบาลผูกขาดตลาดข้าวแล้วจะทำให้สามารถควบคุมราคาในตลาดโลกได้ ซึ่ง รมว.พาณิชย์เคยพูดว่าจะใช้เงินน้อยกว่าโครงการที่พรรคประชาธิปัตย์ทำในอดีต และเชื่อว่าจะใช้เงินไม่เกินแสนล้านต่อปี
แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทีดีอาร์ไอเคยเตือนมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่าความเชื่ออย่างนี้เป็นความเชื่อที่ผิด “เราประมาณการไว้แต่แรกว่าโครงการนี้จะขาดทุนมากกว่าแสนล้านบาท จากการซื้อข้าวมาแล้วขายไปในราคาตลาดโลก ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมราคาในตลาดโลกได้”
ดร.วิโรจน์ บอกว่า รัฐบาลทำโครงการที่เป็นประวัติศาสตร์ใหญ่โตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่กลับไม่มีมาตรการหรือเตรียมการอะไรมากกว่าที่เคยทำมาในอดีต ปัญหาจึงหนักกว่าที่ประมาณการเอาไว้ คือนอกจากไม่สามารถขายข้าวได้ในราคาตลาดแล้ว ยังขายข้าวได้ในราคาที่แย่กว่าตลาดโลก และในปริมาณที่น้อยกว่าปกติมาก
“จึงนำมาสู่การขาดทุนมากกว่าที่ประมาณการไว้ และส่วนที่สองคือนำมาสู่ปัญหาสภาพคล่อง…รัฐบาลไม่สามารถขายข้าวได้ในปริมาณที่คาดหมายไว้จึงทำให้เงินไปจมกับสต๊อกข้าวจำนวนมาก ทำให้ในที่สุดแล้วเงินสำรอง 5 แสนล้านก็หมด…สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือต้องเร่งระบายข้าว”
ประเด็นถัดมา…มีสัญญาณฟ้องว่า รัฐบาลไม่สามารถทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ได้ แต่ที่น่าสนใจคือพรรคเพื่อไทยยังคงใส่นโยบายจำนำข้าวไว้ในนโยบายหาเสียง ทั้งรู้ว่ามีปัญหาแล้วยังดันทุรังทำต่อไปปัญหา ก็จะยิ่งหนักขึ้นในอนาคต
ถึงตรงนี้ ดร.วิโรจน์ ย้ำว่า รัฐบาลต้องช่วยพยุงเกษตรกร ทีดีอาร์ไอเคยมีข้อเสนอการกำกับดูแลตลาดข้าว โดยคิดว่าแนวความคิดที่รัฐบาลต่างๆ ในประเทศไทยมักใช้หาเสียงกับเกษตรกรมาตลอดคือ “การบอกว่ารัฐบาล…(ถ้าได้เป็น) จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น”
“แนวความคิดนี้…เป็นแนวความคิดที่ผิด เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออก ซึ่งราคาสินค้าเกษตรที่ส่งออกก็จะเชื่อมโยงตลาดโลก และในหลายๆ กรณีก็ถูกกำหนดโดยตลาดโลก ฉะนั้นการมาตั้งราคาในประเทศ ให้สูงกว่าตลาดโลก สิ่งที่เกิดขึ้นอันดับแรกคือ จะมีปัญหาในการขายขาดทุน”
แต่นั่น…ยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่สุดที่กรณีรัฐบาลเป็นผู้รับซื้อ เพราะถือเป็นการช่วยเหลือภาคเกษตร แต่ปัญหาใหญ่คือยิ่งรัฐบาลพยายามยกระดับราคาในประเทศให้สูงขึ้นเท่าไหร่ก็จะจูงใจให้เกษตรกร หันมาปลูกพืชนั้นมากขึ้น และรัฐบาลก็จะมีปัญหาในการขายมากขึ้น ตัวอย่างชัดเจนก็คือโครงการจำนำข้าว
แต่ไม่ว่าทำกับพืชผลเกษตรชนิดไหน ก็จะสร้างปัญหาให้ประเทศในระยะยาว เพราะไม่ใช่ว่าทำแล้วได้สินค้าที่ขายได้ง่าย แต่เป็นสินค้าที่ขายได้ยาก เพราะมีต้นทุนสูงกว่าของตลาดโลก
คำถามสำคัญก็คือ…เราควรปล่อยให้เกษตรกรรับภาระกับความผันผวนของราคาตลาดโลกทั้งหมดหรือไม่ ดร.วิโรจน์ บอกว่า อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพน่าเห็นใจ หากเทียบกับมนุษย์เงินเดือนซึ่งถ้าบริษัทไม่เจ๊งหรือถูกยื่นซองขาว ก็จะรู้ว่าแต่ละเดือนจะมีรายได้เท่าไหร่ แต่อาชีพเกษตรจะต้องลงทุน…ลงแรง จ้าง ซื้อ ปัจจัยการผลิตเพื่อผลิตไปก่อนแล้วเมื่อผลผลิตออกจึงจะรู้ว่าจะได้รายได้เท่าไหร่ ถือว่ามีความเสี่ยงอย่างน้อยก็มีความเสี่ยงระยะสั้น
หากจะช่วย รัฐบาลควรจะมีโครงการที่มาช่วยรับภาระความเสี่ยงตรงนี้ “ถ้าราคาผลผลิตในฤดูหนึ่งไม่ต่างจากในอดีต ก็ไม่ต้องไปช่วยอะไร…ถือว่าเกษตรกรได้รับราคาตามที่คาดหมายไว้ตั้งแต่ก่อนตัดสินใจปลูกแล้ว แต่ถ้าต่ำกว่าที่คาดหมาย รัฐบาลอาจเข้าไปชดเชย ซึ่งอย่างน้อยจะช่วยให้รายได้ของเกษตรกรไม่ตกลงกะทันหัน”
สิ่งที่รัฐบาลไม่ควรพยายามก็คือ “ยกระดับราคาให้สูงกว่าราคาในอดีต”…แล้วถ้าราคามีแนวโน้มตกลงต่อเนื่อง คิดว่าเกษตรกรก็จะเห็นสัญญาณอันนั้น แต่ว่าถ้าตกลงเรื่อยๆ ราคาเฉลี่ยย้อนหลังก็จะตกลงด้วยเป็นสัญญาณให้ต้องปรับตัว อาจจะต้องหาแนวทางอื่น ปลูกพืชชนิดอื่น หรือทำงานอื่นที่ไม่ใช่อาชีพเกษตร
“จากบทเรียนที่ผ่านมา …ประเด็นสำคัญคือ ถ้าราคาตกลงกะทันหันก็จำเป็นต้องช่วยเกษตรกร แต่อย่าไปสัญญาว่าจะยกระดับราคาให้สูงกว่าตลาดซึ่งจะสร้างแรงจูงใจที่ผิดและสร้างปัญหาต่างๆมากมาย”
หลายคนบอกว่าควรกลับไปใช้โครงการประกันราคาที่ยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ใช้ ดร.วิโรจน์ บอกว่า เป็นโครงการที่ทีดีอาร์ไอมีส่วนเสนอ โครงการประกันราคามีข้อดีเหนือโครงการรับจำนำที่ชัดเจนประการหนึ่งคือ รัฐบาลไม่ต้องมีข้าวอยู่ในมือ ไม่ต้องขายข้าวเอง ปล่อยให้การค้าขายเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งก็คงสะเทือนตลาดบ้างส่วนหนึ่ง แต่ไม่เป็นภาระกับรัฐบาล…ซึ่งทุกรัฐบาลก็ไม่ได้เก่งในการขาย
แต่โครงการประกันราคาก็มีปัญหา เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการสัญญาว่าจะทำให้คนที่เข้าร่วมโครงการรวมเงินชดเชยแล้วสูงกว่าราคาตลาด ก็จะจูงใจทำให้มีชาวนามาปลูกมากกว่าที่ควรจะเป็น บางคนก็มาปลูกแบบทิ้งๆ ขว้างๆ เพื่อจะเอาเงินชดเชย เจ้าของที่ดินบางรายที่ให้ชาวนาเช่าก็มาเรียกร้องเงินชดเชยนั้นเสียเอง
“ยิ่งในระบบของเรามักใช้เอกสารทางราชการในการรับรองสิทธิ์ในกรณีทำนาเช่า ก็จะมีเจ้าของที่ดินเอาเอกสารสิทธิไปยื่นขอรับเงินชดเชยส่วนต่างตรงนั้นไป”…
ในทางปฏิบัติ เมื่อไหร่ก็ตามที่ไปสร้างโครงการที่บอกว่าจะมีการยกระดับราคาไม่ว่าจะเป็นการยกระดับโดยตรงอย่างโครงการรับจำนำข้าว หรือไปจ่ายเงินชดเชยเพิ่มรวมแล้วสูงกว่าราคาตลาด…ตามโครงการประกันราคา ก็จะไปสร้างแรงจูงใจที่จะมีการผลิตเพิ่มมากขึ้น
สำหรับ “โครงการรับจำนำข้าว” พิสูจน์แล้วว่าแม้จะทำให้ชาวนาได้ราคาข้าวเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถจัดการกับสต๊อกที่เหลืออย่างมีประสิทธิภาพได้ เป็นความล้มเหลวที่นำมาสู่การขาดทุนย่อยยับ จนมาถึงทำให้รัฐบาลไม่สามารถจ่ายเงินชาวนาได้อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ควรหยุดได้แล้ว ทั้ง “จำนำ” และ “ประกันราคา” นโยบายประชานิยมที่ล้มเหลว.
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ในชื่อ “จำนำข้าวประกันราคา เลิกทั้งคู่ประชานิยม”