‘กูรู 2 เวที’ จี้รัฐต่อยอดปฏิรูปที่เป็นธรรม/จัดทำงบคลังตามจริง

ปี2014-02-27

สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองดูท่าว่าจะไม่ยุติ และยังไม่มีใครที่จะให้คำตอบได้ชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วจะลงเอยอย่างไร เมื่อใด โดยช่วงระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยบอบช้ำมากทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และความแตกแยกทางความความคิดของคนในประเทศ

สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสาธารณะ “ก้าวใหม่ประเทศไทย เดินหน้าสู่โหมด (Mode) ปฏิรูป” ขึ้น เพื่อนำเสนอแนวคิดและทางออกให้กับประเทศไทยโดย ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ และ รมว.กระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สู่การปฏิรูปที่ปฏิบัติได้จริง: GETTING REFORM RIGHT” โดยมีข้อเสนอ 5 เงื่อนไขคือ

1. ด้านสถานการณ์การเมืองที่กำลังพัฒนาสู่ความรุนแรงและสภาพอำนาจรัฐชะงักงันจะต้องพยายามหาทางยุติด้วยดีโดยเร็ว 2. ความจำเป็นต้องมีผู้นำมีความรู้ถึงปัญหา มีวิสัยทัศน์เพียงพอที่จะสื่อวิสัยทัศน์ให้ประชาชนเห็นตามเข้าใจ ไม่ใช่แค่ประธานอนุกรรมการหรือคณะกรรมการ 3. การบริหารจัดการที่มุ่งหวังผลอย่างแท้ จริงต้องสร้างความเป็นธรรมยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ขจัดคอร์รัปชัน โดยต้องพยายามแยกจุดหมายใหม่ที่เป็นนามธรรมให้เป็นวาระหรือนโย บายและแต่ละนโยบายต้องอยู่ภายใต้กำกับของผู้นำควบคู่กับบุคลากรด้านการศึกษาร่วมขับเคลื่อนและรายงานความคืบหน้าสู่สาธารณะอย่างเป็นประจำ

“ขณะนี้มีเครือข่ายที่ถกกันเรื่องปฏิรูปเต็มไปหมด หาทางต่อยอดเชื่อมโยงกับสิ่งเหล่านั้น โดยนำสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องมาใช้ไม่จำเป็นต้องทำตามข้อเสนอทั้ง 100%”

ประการที่ 4 เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับ การขับเคลื่อนสังคมนั้น สิ่งแรกต้องเข้าใจว่าการปฏิรูปไม่ใช่การแก้ไขกฎหมาย แต่เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในสังคมจากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่งที่ดีกว่า เช่น เรื่องการคอร์รัปชัน หากไม่สามารถทำให้เข้าไปสู่ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนให้ได้มีการช่วยคิดวิธีการ ก็จะไม่มีทางขับเคลื่อนได้ และสิ่งที่สองโดยส่วนตัวขณะนี้การ เมืองมีการเปลี่ยนแปลง เพราะความตื่นตัวของประชาชนซึ่งเริ่มถึงว่าพลังของเสียง ฉะนั้นภายใต้กรอบเช่นนี้ การปฏิรูปคือการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

ประการสุดท้าย สำคัญที่สุดที่ให้น้ำหนักคือ หากไม่มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งก็จะไม่ประสบความสำเร็จเพราะ บางครั้งการปฏิรูปต้องเผชิญกับอำนาจนอกระบบ แต่หากภาคประชาสังคม ซึ่งหมายถึงภาคประชาชนภาคเอกชน และภาคสื่อมวลชนเหล่านี้มีความเข้มแข็ง เชื่อว่าเมื่อประชาชนตื่นและเข้ามามีส่วนร่วมจะเป็นพลังมหาศาลและขับเคลื่อนประเทศไทยได้ โดยจะไม่มีพลังใดที่จะสามารถต่อต้านโดยต้องมีการปฏิรูปที่ต่อเนื่องและจะไม่มีรัฐบาลชุดใดมาทำการแสดงหลอกประชาชน

“ขณะนี้สภาพของวิกฤตการณ์เมืองไทยได้สร้างโอกาสในการปฏิรูปขึ้น ซึ่งต้องถามตัวเราเองว่าต้องการให้ประเทศเป็นแบบใด โดยผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องการจริงๆคือปัญญาที่ช่วยพาพวกเราออกไปจากวังวนตรงนี้ไปสู่การปฏิรูป โดย จะไปถึงจุดนั้นได้คือเรื่องของจิตสำนึก เรื่องการเสียสละจากทุกฝ่ายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”

ขณะที่เวทีเสวนาเรื่อง “การสร้างวินัยการเงินและการคลัง” จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) “ทีดีอาร์ไอชวนคิด- ชวนคุยข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย” ครั้งที่ 3 นั้น วิทยากรประกอบด้วย ดร.อัมมาร สยามวาลา ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงทีดีอาร์ไอ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถ สถาบัน วิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และ ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณะเศรษฐ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนใหญ่เสนอรัฐบาลและสังคมต้องปฏิรูปการจัดทำงบประมาณการคลังตามจริง เร่งให้มีกฎหมายบังคับให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายตามนโยบายต่างๆและตัดนโยบายประชานิยมที่ไม่เกิดประโยชน์

ดร.อัมมารเสนอให้รัฐเร่งยกเครื่องสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถตรวจสอบตัวเลขใดๆ ได้ เช่น โครงการรับจำนำข้าว เพราะสิ่งสำคัญในการสร้างวินัยทางการเงินการคลังที่โปร่งใส คือ ต้องมีองค์กรระบบการตรวจสอบที่ดี เข้มแข็ง และเป็นกลาง รวมทั้งต้องมีกติกาในการเปิดเผยข้อมูลของรัฐบาล รวมถึงระบบบัญชีต้องบอกจำนวนเงิน รายละเอียดที่มาของเงิน ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการซึ่งเป็นโจทย์แรกที่ภาครัฐต้องปฏิรูปให้ชัดเจน เพราะปัญหาของนโยบายการคลัง คือ ฝ่ายบริหารใช้อำนาจของตัวเองโดยไม่แยแสรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญ ญัติ ลิดรอนอำนาจรัฐสภา โดยอนุมัติรายจ่ายเป็นการหักคอเชิงนโยบายแล้วค่อยมาขออนุมัติรัฐสภาภายหลังซึ่งผิดหลักการจัดทำงบประมาณ

ด้าน ดร.นิพนธ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยมีปัญหาการจัดสรรงบประมาณต่อเนื่อง จากนักการเมืองมีการกำหนดนโยบายเพื่อให้สามารถใช้เงินนอกงบประมาณได้แบบไม่มีข้อจำกัดเพื่อนำมาดำเนินนโยบายประชานิยม จึงเบียดบังงบประมาณที่ใช้การพัฒนาประเทศ ลามสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดความเสี่ยงนำไปสู่ความเสียหายต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลัง เห็นได้จากขณะนี้อัตราการก่อหนี้สาธารณะเกินขีดถึงขั้นอันตรายและยังกระทบต่อการกระจายรายได้ จึงควรเร่งให้มีกฎหมายบังคับภาครัฐให้มีการเปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายในโครงการตามนโยบายต่างๆ หากไม่เปิดเผยต้องให้รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบ เพราะเงินที่เอาไปใช้ล้วนแต่เป็นเงินภาษีของประชาชน

ส่วน ดร.สมชัยกล่าวว่า การจัดงบประมาณการคลังควรทำเพื่อการพัฒนาประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ แต่การทำนโยบายการคลังมีปัญหาใน 4 เรื่อง คือ 1. โครงสร้างการคลังไม่รองรับอนาคตในระยะ 4-5 ปี ขณะที่โครงสร้างรายได้กับฐานภาษีไม่เหมาะสมเนื่องจากรายได้น้อยเกินไป ไม่พอจ่ายเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือรัฐสวัสดิการ 2.ระบบการคลังไม่โปร่งใส ไม่เปิดเผยเพียงพอ เกิดเป็นความเสี่ยงการคลัง 3.แนวโน้มการคลังขาดดุลจากระบบการเลือกตั้งที่มักใช้จ่ายระยะสั้น และ 4. รัฐสภาไม่เข้มแข็งในการตรวจสอบการใช้งบประมาณของฝ่ายบริหาร การอนุมัติก็ยืดหยุ่นเกินไป มีวาระซ่อนเร้น มีผลประโยชน์ตอบแทนให้กับการบริหารฐานราก

ดังนั้นทางออกที่ควรมี คือ การปฏิรูปรายจ่ายการคลัง เช่น จัดตั้งสำนักงบประมาณประจำรัฐสภา (Thai PBO) เพื่อเป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่วิเคราะห์ฐานะการคลัง, ต้นทุนทางการคลังและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งนี้เพื่อลดความเหลื่อม ล้ำ และเร่งให้รัฐมีกฎหมายการเงินการคลังและการเปิดเผยข้อมูลเพื่อสามารถตรวจสอบ และให้ประชาชนมีส่วนร่วม

“เงินงบประมาณปัจจุบันเหมือนขนมชั้น หลายด้านมีนโยบายที่เป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน เกิดจากการให้กรมเป็นฝ่ายอนุมัติโครงการที่ลงไปสู่ต่างจังหวัดหรือภูมิภาค นอกจากนี้จะเห็นว่ามีการนำงบประมาณไปดูงาน เดินสายไปต่างประเทศทั้งในองค์กรอิสระ ซึ่งแต่ละปีมีงบกระจายไปสู่ภูมิภาคมากกว่า 5 แสนล้านบาท จาก 2.2 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 4 ของงบประมาณ แต่กลับไม่มีการติดตามตรวจสอบว่าเงินที่ส่งไปนั้นคุ้มค่าแค่ไหน”

ขณะที่ “ดร.นิตินัย” เสนอว่า นอกจากรัฐบาลควรทำงบประมาณตามระบบมากที่สุดแล้วควรใช้นโยบายกึ่งการคลังที่ทำนโยบายประชานิยมให้นิยมให้น้อยที่สุด อีกทั้งการปฏิรูปการผลิตเพื่อการส่งออก ยังเป็นอีกด้านที่จะต้องเร่งพัฒนาและปฏิรูปไม่เว้นแม้ระบบราชการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ไทยขาดการพัฒนาเทคโนโลยี เมื่อโอกาสจากการส่งออกเริ่มฟื้นตัว ทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของส่งออกไม่มาก ขณะที่ต่างชาติก็เตรียมย้ายฐานการลงทุนไปหาประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตดีกว่าอีกขั้น ซึ่งประเทศที่ต้องจับตา คือ เวียดนาม ที่เตรียมความพร้อมรองรับมากกว่าไทย

ส่วน “ดร.สกนธ์” เสนอให้กำหนดเงินงบประมาณประจำปีสำหรับโครงการต่างๆเพื่อจะได้ทราบว่ากรณีที่รัฐบาลบริหารผิดพลาดเงินหมดจะได้ทราบว่าเงินที่นำมาเพิ่มนั้นมาจากในส่วนไหนที่สำคัญควรจะมีการเอาผิดกับผู้กำหนดนโยบาย ไม่เช่นนั้น อนาคตนักการเมืองจะสามารถเข้ามาเพื่อออกนโยบายที่สร้างความเสียหายโดยไม่เกรงกลัวและเมื่อได้รับการเลือกตั้งกลับมาเท่ากับเป็นการล้างผิดดังนั้นการปฏิรูปต้องทำ ให้ครบถ้วนรอบด้าน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2557