‘ปฏิรูปการศึกษา’ ทางแก้วิกฤติประเทศไทย

ปี2014-03-13

 

 

 

 

 

 

 

 

ปัจจุบัน กระแสที่มาแรงในสังคมไทย คงหนีไม่พ้น “การปฏิรูปประเทศ” ที่มีหลายภาคส่วนพยายามเสนอแนะในหลายประเด็น ทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในลักษณะที่ไปให้พ้นจากแนวคิดแบบประชานิยมฉาบฉวยแต่ส่งผลเสียในระยะยาว การปฏิรูปโครงสร้างตำรวจเพื่อให้เป็นอิสระจากอำนาจของฝ่ายการเมือง หรือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาได้ผลมากขึ้นเพราะแต่ละพื้นที่ย่อมมีปัจจัยต่างกัน

นอกจากนี้แล้ว ยังมีด้านอื่นๆ ปลีกย่อยอีกมากมาย เช่นที่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้นำเสนอในงานเสวนา “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และระบบสวัสดิการสังคม” ไปเมื่อเดือน ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา “ปฏิรูปการศึกษา” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเช่นกัน

“ถ้าเราเชื่อว่าการศึกษาคือตัวแปรสำคัญในการกำหนดรายได้ในอนาคต การใช้จ่ายด้านการศึกษาที่เอื้อต่อคนรวยมากกว่าคนจน ก็จะทำให้การกระจายรายได้ของประเทศเลวลงในระยะยาว”

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงปัญหาสวัสดิการด้านการศึกษา จากการศึกษาในปี 2551-2552 พบว่าผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายการศึกษาของรัฐไทย จะแปรผันตามฐานะของครัวเรือน

ดร.วิโรจน์ แบ่งประชากรไทยออกเป็น 10 กลุ่ม จากจนที่สุดไปถึงรวยที่สุด และระบุว่าหากเป็นนโยบายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมได้จริง เฉลี่ยทุกระดับฐานะครัวเรือนควรได้ประโยชน์ถึงระดับมหาวิทยาลัยร้อยละ 10 แต่ในความเป็นจริง พบว่ากลุ่มประชากรที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายการศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ยังคงเป็นกลุ่มประชากรที่รวยที่สุดร้อยละ 10 จากนั้นก็ค่อยๆ ลดระดับลงมาตามฐานะครัวเรือน

เช่น กลุ่มที่รวยที่สุดของประเทศ ได้ประโยชน์ถึงขั้นมหาวิทยาลัยร้อยละ 16 กลุ่มรองลงมาได้เกือบร้อยละ 14 กลุ่มลำดับ 3 ได้ร้อยละ 13 กลุ่มลำดับ 4 ได้ร้อยละ 12.5 และกลุ่มลำดับ 5 ได้ร้อยละ 10.5 ที่เหลืออีก 5 กลุ่มที่รายได้ครัวเรือนต่ำกว่า 5 กลุ่มแรก ได้ประโยชน์ถึงระดับมหาวิทยาลัยในสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 10 ทั้งสิ้น

เท่ากับว่า..ประชาชนชาวไทยกว่าครึ่งหนึ่ง และเป็นครึ่งที่มีฐานะค่อนข้างไม่ดีนัก ได้ประโยชน์จากนโยบายการศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ดร.วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาพรรคการเมืองต่างๆ มีนโยบายการศึกษาในลักษณะ “เรียนฟรี..ปี” ตามการศึกษาภาคบังคับ เช่น 12 ปีบ้าง 15 ปีบ้าง (และยังมีข้อสังเกตว่าเรียนฟรีจริงหรือไม่?) นอกเหนือจากนั้นก็เสริมเข้าไปด้วยเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เช่น กยศ. บ้าง กรอ. บ้าง แต่ปัญหาคือยังไม่ครอบคลุมอย่างแท้จริง เพราะเรียนฟรีกันถึงแค่มัธยมปลาย (หรือเทียบเท่า เช่น ปวช.) เท่านั้น ในระดับที่สูงกว่ากลายเป็นเรื่องของเงินกู้ ทำให้เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ไม่อาจลดความเหลื่อมล้ำได้ทั้งระบบ

“ระบบนี้ถึงจะทำได้สำเร็จ สมมุติทุกคนไม่มีอุปสรรคทางการเงินในการที่จะเรียนไปจนถึงมัธยม แต่พอหลังจากนั้นเราก็โยนให้เป็นเรื่องของเงินกู้ ผมคิดว่าไม่พอที่จะแก้ความเหลื่อมล้ำที่ข้ามรุ่น ข้าม Generation หลักการที่ควรทำ ไม่ว่าข้างล่าง (ต่ำกว่าประถมถึง ม.ปลาย) จะฟรีหมดหรือไม่ก็ตาม แต่ผมคิดว่าควรจะทำให้ระบบของเรา เป็นระบบที่เงินไม่ใช่อุปสรรคสำหรับใครก็ตาม ที่จะเรียนในขั้นสูงสุดตามศักยภาพด้านการศึกษาของเขา

ไม่ใช่ว่าเราทำให้ทุกคนเท่ากันจนถึงมัธยมปลาย คืออาจไม่เท่ากันจริงๆ แต่ทุกคนมีสิทธิ์เรียนถึงมัธยมปลาย แล้วจากนั้นเราก็ลอยแพ แล้วก็บอกให้ไปกู้เอา จริงๆ การกู้มันก็ช่วยนะ แต่ผมคิดว่าในสังคมที่เรียกร้องคุณธรรมจริยธรรม ถ้าเราส่งคนจนไปด้วยแต้มต่อที่ติดลบตั้งแต่แรก มันก็ยากที่เราจะไปเรียกร้องอะไรจากเขา หลังจากที่เขาจบการศึกษา

ดร.วิโรจน์ ให้ความเห็น และกล่าวเสริมว่า อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องใส่ใจ คือแม้ทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จริง แต่ปัญหาคือมีคุณภาพเพียงพอหรือไม่? ตัวชี้วัดหนึ่งที่เห็นได้ชัด คืออาชีพ “ติวเตอร์กวดวิชา” ที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด สะท้อนความเป็นจริงที่ว่าสถานศึกษาแต่ละแห่งมีคุณภาพต่างกันมาก แม้กระทั่งโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เจริญที่สุดของไทย อย่างในกรุงเทพฯ เหมือนกันก็ตาม ทำให้ต้องเสียเงินกับการกวดวิชาเพื่อให้สามารถสอบแข่งขันกับผู้เรียนในโรงเรียนชั้นนำได้ เท่ากับว่าต่อให้เป็นนโยบายเรียนฟรีจริง ก็อาจไม่ช่วยอะไรเท่าที่ควร

“ไม่ต้องไปดูโรงเรียนที่ห่างไกล เอาแค่ในกรุงเทพฯ นักเรียนก็ยังรู้สึกว่าการติวเพื่อกวดวิชาเป็นเรื่องที่จำเป็น ฉะนั้นถ้าคุณภาพการศึกษาเป็นปัญหา การที่เขาได้เรียนก็จะไม่ได้ช่วยเขามากนักในระยะยาว ถ้าไม่สามารถปฏิรูป 2 ส่วนนี้ได้ สวัสดิการการศึกษาของรัฐ เพิ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยในแต่ละรุ่น และการศึกษาก็จะกลายเป็นเครื่องมือรักษาชนชั้น มากกว่าเครื่องมือที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนมีโอกาสทัดเทียมกัน ในการเลื่อนชนชั้นทางสังคม” นักวิชาการจาก TDRI ฝากทิ้งท้าย

ปัญหาการศึกษาไทย แม้ส่วนหนึ่งจะได้รับการแก้ไข เช่นนโยบายเรียนฟรีบ้าง เงินกู้ยืมบ้าง แต่ยังมีปัญหาอีกมาก เช่นคุณภาพโรงเรียน ทั้งโรงเรียนในเมืองกับนอกเมือง และโรงเรียนชั้นนำกับโรงเรียนทั่วไปที่มาตรฐานยังต่างกันมาก

หรือปัญหาครูไม่อาจทำหน้าที่สอนหนังสือได้เต็มที่ เพราะต้องไปทำงานอื่นๆ เช่นงานเอกสารเพื่อประเมินบ้าง เป็นตัวแทนโรงเรียนไปอบรมสัมมนาที่ไม่เกี่ยวกับสายงานของตนบ้าง เนื่องจากมีผลต่อการเลื่อนชั้นยศของตน แม้กระทั่งปัญหาครอบครัวระดับล่าง ที่ไม่น้อยเลยยังไม่เห็นความสำคัญของการส่งบุตรหลานเรียนสูงๆ จึงอยากให้จบแค่ขั้นพื้นฐาน แล้วออกมาช่วยงานของครอบครัวดีกว่า ทำให้เสียโอกาสในการเพิ่มรายได้ของตนในระยะยาว

ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล จะต้องแก้ไขให้ได้ หากต้องการลดความเหลื่อมล้ำ อันเป็นสาเหตุของการมองโลกที่ต่างกัน จนกลายมาเป็นความแตกแยกทางความคิดของคนไทยทุกวันนี้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 12 มีนาคม 2557