กรุงเทพธุรกิจรายงาน: ดัชนีโปร่งใสไทยดิ่งเหว คะแนนต่ำกว่าฟิลิปปินส์-นักลงทุนชี้คอร์รัปชันปัญหาใหญ่

ปี2014-03-12

นักการเมือง-ตำรวจ เรียกสินบนหนักสุด จี้ปฏิรูประบบเลือกตั้ง

“ทีดีอาร์ไอ” ชี้ ดัชนีความโปร่งใสไทยตกต่ำ จากปัญหาทุจริตในสถาบันการเมือง ฉุดอันดับต่ำกว่าฟิลิปปินส์ แนะปฏิรูปกระบวนการเข้าสู่อำนาจหลังใช้ประชาธิปไตย 80 ปีแต่คอร์รัปชันยังสูง เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ขณะที่ภาคเอกชนบอกผู้ประกอบการเข้าใจปัญหาทุจริตดีขึ้น พร้อมร่วมแก้ไขหลังต้นทุนเพิ่มทุกระดับไม่ต่ำกว่า 10%

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจัดสัมมนาหัวข้อ “ดัชนีชี้วัดสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย” โดย น.ส.บุญวรา สุมะโน นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชันของไทยรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 ผลการจัดอันดับขององค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ในปี 2556 ประเทศไทยได้คะแนนเพียง 35 คะแนน ถูกจัดอันดับที่ 102 จากการสำรวจ 177 ประเทศ

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเรื่องความโปร่งใสของการบริหารจัดการภาครัฐในปีที่ผ่านมา ถือว่าขณะนี้ประเทศไทยมีอันดับแย่กว่าประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้อันดับ 94 แม้เศรษฐกิจของประเทศไทยจะพัฒนาก้าวหน้ามากกว่าประเทศฟิลิปปินส์ก็ตาม

นอกจากนั้นในมุมมองของต่างชาติ มองว่าการคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่และเป็นอุปสรรคสำคัญในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยจากการสำรวจล่าสุดพบว่านักลงทุนกว่าร้อยละ 20.2 มองว่าปัญหาการคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศไทย รองลงมาคือปัญหาความไม่เชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมืองจากปัญหาการรัฐประหาร ร้อยละ 16.5 ขณะที่ร้อยละ 13.5 มองว่าปัญหาเรื่องความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายทางการเมืองเป็นปัญหาสำคัญ

ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดของการจัดทำดัชนีความโปร่งใส จะพบว่าจากคำถามสำคัญที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติใช้สุ่มถามกลุ่มตัวอย่างในประเทศไทยว่าสถาบันใดที่มีการคอร์รัปชันมากที่สุด พบว่าผลสำรวจตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ประชาชนกลุ่มตัวอย่างระบุว่าสถาบันการเมือง และสถาบันตำรวจเป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องของการคอร์รัปชันและมีการเรียกรับเงินสินบนมากที่สุด ขณะที่สถาบันที่ประชาชนมองว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันน้อยในประเทศไทย คือ สถาบันการเงิน สถาบันทางศาสนา และสถาบันศาลยุติธรรม ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันที่ประชาชนให้ความไว้วางใจสูง

ชี้นักการเมืองมีเอี่ยวเพียบ

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมากว่า 80 ปีแล้ว แต่ยังมีปัญหาการคอร์รัปชันในระดับเดียวกับประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ไม่ถึง 40 ปี โดยจากการศึกษาจะเห็นว่าปัญหาการคอร์รัปชันของไทยเกี่ยวข้องกับนักการเมืองมากที่สุด คนไทยจึงไม่เชื่อมั่นในนักการเมือง พรรคการเมือง และไม่เชื่อว่าไม่มีการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง ดังนั้นการปฏิรูปจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะปฏิรูปกระบวนการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการปฏิรูปที่มีการเสนอให้สร้างองค์กรอิสระจำนวนมากขึ้นเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้น อาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เนื่องจากยังมีข้อจำกัด เช่น องค์กรอิสระของประเทศไทยยังมีปัญหาในเรื่องความเป็นอิสระที่แท้จริง เนื่องจากยังต้องใช้งบประมาณที่รัฐสภาซึ่งรัฐบาลกุมเสียงข้างมากเป็นผู้อนุมัติ เป็นต้น

นางเดือนเด่น กล่าวอีกว่า การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันจะเกิดขึ้นได้ ภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง โดยมีพื้นฐานเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและข้อมูลสาธารณะ ดังนั้นควรมีการปฏิรูปพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 โดยต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น โครงการรับจำนำข้าว แทนที่หน่วยงานต่างๆ จะปิดข้อมูลไว้เป็นความลับ ควรมีการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องต่างๆ ให้ประชาชนรับทราบเป็นระยะๆ เช่น ราคาขายข้าว ปริมาณสต็อกข้าว และสัญญาขายข้าวที่ได้มีการทำไว้กับประเทศต่างๆ เป็นต้น

นักธุรกิจชี้ “สินบน” เพิ่มต้นทนธุรกิจ

นายกิตติเดช ฉันทังกูล กรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า ผลการศึกษาการคอร์รัปชันในมุมมองของภาคเอกชนไทยในปี 2556 พบว่าผู้ประกอบการเอกชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 93 มองว่าการทุจริตคอร์รัปชันส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน โดยร้อยละ 68 มองว่าเกิดผลกระทบต่อธุรกิจมาก และร้อยละ 55 ของภาคธุรกิจระบุว่าเมื่อมีการทุจริตคอร์รัปชันจะมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายของการดำเนินธุรกิจสูงขึ้นอย่างน้อย 10 %

ทั้งนี้ กระบวนการที่ทำเกิดการคอร์รัปชันมากที่สุด คือ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รองลงมาคือขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการต่างๆ รวมทั้งการประมูลโครงการของภาครัฐ สำหรับธุรกิจที่มีแนวโน้มเกิดทุจริตมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจการเกษตร และพลังงานและสาธารณูปโภค

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบผลการศึกษาระหว่างปี 2554 กับปี 2556 พบว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นในแง่ของความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันของหน่วยงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม การทุจริตยังสูงอยู่ แต่ผู้นำภาคธุรกิจส่วนใหญ่เชื่อว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันสามารถแก้ไขได้ในอนาคต โดยมีภาคเอกชนกว่าร้อยละ 95 ที่พร้อมจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เนื่องจากภาคเอกชนมีความเข้าใจมากขึ้นว่าปัญหาการคอร์รัปชันจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และเป็นอุปสรรคต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งภาคเอกชนในระยะยาว

“ธุรกิจสัมปทาน” คอร์รัปชันใหญ่สุด

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปัจจุบันโลกมีการเชื่อมโยงข้อมูลและระเบียบต่างๆ รวมทั้งมีมาตรฐานการต่อต้านการคอร์รัปชันที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งหากสังคมมีความตื่นตัวแล้ว การพัฒนาการต่อต้านคอร์รัปชันจะสามารถประสบความสำเร็จได้ โดยหัวใจสำคัญมาจากความตื่นตัวของภาคประชาชน ซึ่งประเทศไทยกำลังอยู่ในกระแสการตื่นตัวของประชาชนที่มีการผลักดันให้รัฐบาลเป็น ผู้ขับเคลื่อนเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชัน

“การคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดคือการซื้อหาอำนาจของภาคเอกชนจากอำนาจของรัฐ เช่น ธุรกิจสัมปทาน และการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งจะต้องอาศัยการทำงานวิจัยเชิงลึกเพื่อให้รู้เท่าทันการคอร์รัปชัน”

ทั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญ 3 ส่วนคือ 1.การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคม โดยการคอร์รัปชันจะลดลงได้มาจากการต้องเปลี่ยนแปลงความคิดให้ไม่ยอมรับการคอร์รัปชันอย่างสิ้นเชิง 2.การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานราชการอย่างไร้เงื่อนไข โดยต้องมีการระบุให้ชัดเจนว่าหน่วยงานไหนที่สามารถยกเว้นการเปิดเผยข้อมูลได้ ซึ่งในต่างประเทศจะจำกัดการเปิดเผยข้อมูลเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงเท่านั้น แต่ในประเทศไทยทุกหน่วยงานปิดข้อมูลไม่ให้ประชาชนเข้าถึง

เช่น กระทรวงพาณิชย์ปิดข้อมูล โดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น นอกจากนั้นจะต้องมีหน่วยงานที่ติดตามข้อมูลภาครัฐที่มีการเปิดเผยอย่างใกล้ชิด เพื่อนำเรื่องที่มีการเปิดเผยไปสู่การรับรู้ของคนในสังคม และ 3.สื่อมวลชน จะเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนตื่นตัวเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 มีนาคม 2557 ในชื่อ “ดัชนีโปร่งใสไทยดิ่งเหว คะแนนต่ำกว่าฟิลิปปินส์-นักลงทุนชี้คอร์รัปชันปัญหาใหญ่”