ทีดีอาร์ไอแนะโยก สขร. สังกัดหน่วยงานอิสระ แทนสำนักนายกฯ
“ทีดีอาร์ไอ” ชี้จุดอ่อนโครงการลงทุนของรัฐ ระบุเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างต่ำ เอื้อคอร์รัปชัน แนะโยก สขร.ไปสังกัดองค์กรอิสระ แทนขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะที่ผลวิจัยระบุหน่วยงานราชการ 70% ไม่เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทางเว็บไซด์ ขณะที่ 22% เปิดเผยข้อมูล อยู่ในระดับย่ำแย่
น.ส.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ในการป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศไทย ที่อยู่ในแผนการลงทุนของหน่วยงานราชการต่างๆ นั้น จากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ พบว่า ยังมีหน่วยงานรัฐจำนวนมากที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในช่องทางที่ประชาชนจะเข้าถึงได้ง่าย ทำให้ประชาชนตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณในโครงการของภาครัฐ ได้ยากและกลายเป็นช่องทางที่นำไปสู่การรั่วไหลของการใช้งบประมาณได้
แม้จะมีข้อกำหนดของทางราชการให้หน่วยงานต่างๆ เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทางเว็บไซด์ของหน่วยงาน แต่พบว่าในปัจจุบันยังมีการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชน รับทราบยังน้อยมาก ดังนั้นในอนาคตจะต้องปรับปรุง การเผยแพร่ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณของภาครัฐในโครงการต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนั้น ทีดีอาร์ไอยังเสนอว่า ควร โอนย้ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ คือ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ซึ่งปัจจุบันเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และอาจทำให้อาจมีปัญหาในเรื่องของความเป็นอิสระในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลให้ประชาชนทราบ
ดังนั้นจึงควรมีการโอนย้าย สขร. ไปอยู่ใต้การกำกับดูแลขององค์กรอิสระ เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้การทำงานของ สขร. มีอิสระและเป็นกลางสามารถเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐให้กับประชาชนได้รับรู้ได้รวดเร็วมากขึ้น
“การโอนหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่อง การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภาครัฐให้มาอยู่ใต้การกำกับดูแลขององค์กรอิสระเป็นวิธีการหนึ่ง ที่สามารถทำได้ง่ายกว่าการตั้งหน่วยงานขึ้น มาใหม่ที่จะต้องใช้ระยะเวลาการจัดตั้งและต้องใช้งบประมาณมากกว่า” น.ส.บุญวรากล่าว
นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงผลการสำรวจข้อร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ว่า ในปัจจุบันหน่วยงานของรัฐยังคงถูกร้องเรียนโดยเฉพาะเรื่องไม่เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อ จัดจ้าง หรือเปิดเผยข้อมูลล่าช้าถึง 30% ซึ่ง แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานของรัฐยังไม่ค่อยมีการ เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนมากนัก
นอกจากนั้นยังพบว่ากว่า 70% ของ หน่วยงานรัฐ ทั้งที่เป็นหน่วยงานกลางและ ที่เป็นหน่วยงานระดับส่วนท้องถิ่น ที่ไม่เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทางเว็บไซต์ ขณะที่หน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ 22% ถูกจัดการเปิดเผยข้อมูลอยู่ใน ระดับที่แย่-แย่มาก ในการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อ จัดจ้างทางเว็บไซต์ โดยบางหน่วยงานไม่สามารถ ตรวจสอบ จำนวนรายการจัดซื้อจัดจ้างได้ทั้งหมด เนื่องจากขาดฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างที่สมบูรณ์ รวมทั้งยังขาดรูปแบบบนเว็บไซต์ที่เป็นมาตรฐานที่จะสื่อสารให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 มีนาคม 2557 ในชื่อ “ชี้จุดอ่อนลงทุนภาครัฐ ปิดข้อมูลเอื้อคอร์รัปชัน”