กรุงเทพธุรกิจรายงาน: หวัง ‘เอสเอ็มอี’ หัวหอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียน

ปี2014-03-31

วานนี้ (28 มี.ค.) ที่ รร.อีสติน แกรนด์ สาธร กรุงเทพฯ มูลนิธิเอเชียและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาเรื่อง “การปรับทัพ AEC ให้สอดคล้องกับ SMEs” โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องมาระดมความคิดเห็นเพื่อวางแผนปรับกลยุทธ์ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี

นางเวอโรนิค ซัลส์-โลแซค ผู้อำนวยการอาวุโส โครงการพัฒนาเศรษฐกิจ มูลนิธิเอเชีย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ 10 ประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียน โดยในอาเซียนมีผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอีถึงกว่า 90% ของผู้ประกอบการทั้งหมด มีการจ้างงานคิดเป็นสัดส่วน 50 – 99% ของจำนวนแรงงานในแต่ละประเทศ และสร้างรายเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจของแต่ละประเทศต่างๆในอาเซียนคิดเป็นสัดส่วน 32 – 50% ของจีดีพี

อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแต่ละประเทศ เข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการกำหนดนโยบายที่มีประโยชน์ สำหรับเอสเอ็มอีเองน้อยมาก ทำให้เอสเอ็มอีในอาเซียนส่วนใหญ่ ยังมีปัญหาเรื่องของการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เช่น ขาดเงินทุน ข้อมูลในการทำธุรกิจ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม

นายแอนดริว ดูริเออร์ (Andrew Durieux) ประธานคณะกรรมการเออีซี สภาหอการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ปัญหาที่คล้ายคลึงกันของเอสเอ็มอีในอาเซียน ก็คือปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการขาดสภาพคล่อง รองลงมาคือการขาดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และการขาดเทคโนโลยีในการยกระดับการผลิต ส่วนปัญหาของเอสเอ็มอีในประเทศไทย นอกจากนั้นเอสเอ็มอีไทยจำนวนมาก ยังการขาดข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจในอาเซียน ทำให้ไม่ทราบว่าจะแสวงหาโอกาสและความได้เปรียบจากการเปิดประชาคมอาเซียนได้อย่างไร ซึ่งแม้ในประเทศไทยจะมีหน่วยงานที่ให้ข้อมูลอย่างกระทรวงพาณิชย์แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่ประเทศมีรัฐบาลรักษาการและรัฐมนตรีต้องให้เวลากับการแก้ปัญหาโครงการรับจำนำข้าว ก็ทำให้การให้ข้อมูลและการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย ไปลงทุนในต่างประเทศก็ลดลง

ขณะที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประชาคมอาเซียนที่ต้องมีการปรับปรุง เช่น กฎหมายแรงงาน รวมทั้งการแก้ไขขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทยให้รวดเร็วมากขึ้นโดยใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังไม่สามารถทำได้เต็มที่

“ในอนาคตโฉมหน้าของอาเซียนจะมีการเปิดเสรีมากขึ้น ทั้งในเรื่องสินค้าและบริการ ขณะที่เศรษฐกิจก็จะมีการแข่งขันที่สูง ในเรื่องการเมืองการปกครอง เราอาจไม่สามารถเปลี่ยนให้ประเทศ บางประเทศเลิกเป็นคอมมิวนิสต์ได้ ขณะที่บางประเทศประชาธิปไตยอาจถดถอยลง ซึ่งคนไทยอาจเข้าใจในตรงนี้ว่าจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยอีก 10 ปีข้างหน้า พม่าและกัมพูชาจะเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในอาเซียน ขณะที่เวียดนามและลาวก็อาจจะตามมา ส่วนประเทศไทยอาจมีการเติบโตรั้งท้ายที่สุดในอาเซียน”นาย แอนดริวกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า ภาคเอกชนของไทยควรเร่งรัดให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนให้กับนักธุรกิจต่างชาติ โดยเฉพาะการนำระบบการให้บริการทางออนไลน์มากขึ้น เช่น การรับรอง ลงนามในสัญญาการค้า หรือด้านการบริการทางการเงิน โดยไทยต้องเร่งปรับปรุงเรื่องนี้อย่างมาก เพราะปัจจุบันเมื่อถึงเวลาเข้ามาใช้บริการของรัฐ ก็ต้องเสียเวลาถ่ายเอกสาร ส่งเอกสาร และรอการอนุมัติ ซึ่งใช้เวลานานมาก รวมทั้งควรปรับปรุงเรื่องของการรับรองมาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะที่ผ่านมามีปัญหาเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในกรณีของการส่งสินค้าไปประเทศหนึ่งแล้ว ติดฉลากรับรองมาตรฐานไม่เหมือนกับประเทศปลายทาง ทำให้สินค้าวางจำหน่ายไม่ได้

นายศก ศรีพนา ที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า แม้หลายประเทศในอาเซียนจะมีการปรับตัว เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่เออีซีโดยมีการเว้นภาษีนำเข้าส่ง-ส่งออกสินค้าแล้วกว่า 90% แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่ตามมา ก็คือเรื่องของการกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้า (NBT) ที่ไม่ใช่ภาษี เช่นมาตรการทางภาษา มาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานแรงงาน เป็นต้น โดยในแต่ละประเทศมีแนวโน้มที่จะกำหนดมาตรการต่างๆนี้มากขึ้น ซึ่งมาตรการกีดกันทางการค้าเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีที่ต้องการเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆเนื่องจากส่งผลให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นและแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ยากยิ่งขึ้น ดังนั้นในอาเซียนเองรัฐบาลประเทศต่างๆจะต้องร่วมมือกันทำฐานข้อมูลการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีและรวบรวมข้อมูลไว้ในฐานข้อมูลกลางเพื่อให้ผู้ประกอบการของแต่ละประเทศสามารถเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเข้าไปทำธุรกิจในประเทศต่างๆ

การเตรียมความพร้อมของธุรกิจเอสเอ็มอีของประเทศต่างๆในอาเซียน จำเป็นที่จะต้องกำหนดกลยุทธ์ของธุรกิจที่ชัดเจน โดยนอกจากจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้เอสเอ็มอีสามารถแข่งขันภายนอกประเทศได้ จะต้องมองด้วยว่าจะทำอย่างไรให้สามารถส่งเสริมเอสเอ็มอีให้สามารถผนวกตนเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของอาเซียนหรือของโลกที่มีการเติบโตมากขึ้นได้ในอนาคต

นายบรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า เอสซีจีมีประสบการณ์การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยปัจจุบันเอสซีจีมีบริษัทเทรดดิ้ง อยู่ 28 บริษัทในกว่า 22 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยหน้าของธุรกิจที่แสวงหาโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทในเครือ รวมทั้งทำงานร่วมกับเอสเอ็มอีของประเทศไทย ที่ต้องการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยในอาเซียนเอสซีจีมีบริษัทเทรดดิ้งอยู่ในทุกประเทศ และกำลังอยู่ในระหว่างการสร้างโรงงานใน 5 ประเทศในอาเซียน ที่เอสซีจีมองว่าเป็นประเทศในอาเซียนที่มีศักยภาพเหมาะสมในการเป็นฐานการผลิตในอาเซียน ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า และเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม การเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สามารถกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ก็มีข้อได้เปรียบในการกระจายความเสี่ยงจากผลกระทบทางการเมืองได้

“การลงทุนในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่แตกต่างกับในประเทศไทย ทั้งในเรื่องภาษา การเมือง วัฒนธรรม และตลาด ควรแบ่งการลงทุนออกเป็นระยะๆ โดยเริ่มจากการนำสินค้าไปทดลองตลาด เพื่อดูความนิยมในสินค้า จากนั้นจึงหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ควบคู่กับการศึกษากฎหมายและความเป็นไปได้ทางธุรกิจ จากนั้นจึงดูความเหมาะสมของการตั้งโรงงานผลิตในประเทศนั้นๆ ซึ่งการลงทุนสร้างโรงงานจะต้องเกิดขึ้นเมื่อมีการวิเคราะห์ข้อมูลด้านต่างๆอย่างรอบด้านแล้ว” นายบรรณกล่าว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 มีนาคม 2557