ศาลตีตกแผนกู้เงิน 2 ล้านล้าน เอกชนหวั่นระบบคมนาคมถอยหลัง

ปี2014-03-17

“ไม่อยากให้มองว่า การกู้เงินก้อนใหญ่ครั้งนี้เป็นการสร้างหนี้ แต่อยากให้มองว่าเป็นการสร้างอนาคต” ประโยคข้างต้นเป็นคำพูดของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รักษาการ รมว.คมนาคม ที่เคยบอกไว้หลายต่อหลายครั้งในช่วงที่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เตรียมออก พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อหวังพลิกโฉมประเทศให้มีระบบขนส่งที่ทันสมัย

แต่ล่าสุดความหวังที่ว่ากลับต้องพังทลายลง หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวถูกตราขึ้นโดยขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 170 ส่งผลให้กฎหมายฉบับนี้ถูกตีตกไปทั้งฉบับ

เอกชนเสียดายลุ้นรัฐสร้างใหม่

“พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่า น่าเสียดายที่กฎหมายดังกล่าว ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เพราะการลงทุนนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทั้งหมด ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้อย่างมาก เพราะมีการสร้างระบบรางใหม่ และขณะนี้หลาย ๆ ประเทศ ก็ได้ติดตามความคืบหน้าการสร้างระบบโครงการพื้นฐานของไทย เพราะมองไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค เพื่อที่จะได้เชื่อมต่อไปยังประเทศต่าง ๆ หากมีการเชื่อมต่อที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามตอนนี้ต้องรอดูต่อไปว่า รัฐบาลจะทำอย่างไรต่อไป เพราะใกล้เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แล้ว หากไม่เร่งลงทุนไทยจะเสียโอกาสในการแข่งขัน

“โครงการต่าง ๆ ใน พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท เป็นโครงการที่ดีมาก นอกจากจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์แล้ว ยังช่วยอำนวยความสะดวกขายสินค้าผ่านชายแดนมากขึ้น รวมทั้งลดความเลื่อมล้ำและช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ได้ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้เอกชนหวังว่ากฎหมายนี้จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความคึกคักมาได้ เพราะมีการลงทุน และจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้ทุกอย่างหยุดชะงักไป พร้อม ๆ กับเศรษฐกิจที่ชะลอจากปัญหาการเมืองอยู่แล้ว”

อสังหาฯ อ่วม กว้านซื้อที่เพียบ

“จักรพร อุ่นจิตต์” ผู้อำนวยการสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย มองว่า แม้โครงการ 2 ล้านล้านนี้จะต้องล้มไป แต่หน่วยงานราชการต่าง ๆ ก็ได้เตรียมปรับตัว นำบางส่วนของโครงการนี้เข้าไปสู่งบประมาณดำเนินงานตามปกติของแต่ละกระทรวง เนื่องจากในโครงการ 2 ล้านล้านบาทนี้ มีบางส่วนที่ถูกดึงมางบลงทุนตามปกติ เช่น การก่อสร้างรถไฟรางคู่ โครงการรถไฟฟ้า และโครงการสร้างถนนต่าง ๆ เป็นต้น แต่โครงการที่ลงทุนสูงก็ยังคงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ตัดสินใจ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-40% ของโครงการ 2 ล้านล้านบาท โดยส่วนที่ใช้งบมากที่สุดกว่า 60% จะมาจากรถไฟความเร็วสูง ซึ่งต้องรอดูว่ารัฐบาลชุดใหม่จะสานต่อโครงการนี้หรือไม่

อย่างไรก็ตามในส่วนของภาคเอกชนที่กระทบมากที่สุดก็คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะบางรายได้เข้าไปกว้านซื้อที่ดินตามแนวเส้นทางคมนาคมในโครงการนี้แล้ว เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้น หากรัฐบาลใหม่เปลี่ยนเส้นทางไป

ส่วนผู้ประกอบการก่อสร้าง ไม่ค่อยได้รับผลกระทบเนื่องจากเป็นเพียงผู้รับจ้างก่อสร้าง รวมทั้งยังมีโครงการภาครัฐที่ค้างอยู่พอสมควร แต่ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติลดลง และมองว่านโยบายของรัฐบาลไทยขาดความแน่นอน กระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน

ลดฝันทำโครงการได้ก็ดี

“สมชัย จิตสุชน” ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่า กรณีดังกล่าวก็ไม่ถือว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียหายอะไรมากนัก เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายที่มีปัญหาจึงทำให้กฎหมายตกไป แต่สิ่งที่ยังมีอยู่คือโครงการลงทุน ซึ่งมีรูปแบบโครงการที่ชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนความฝันที่หวังว่าประเทศไทยจะมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการ ก็สามารถลดความฝันลงได้ ไม่ต้องกู้เงินนอกงบประมาณขนาดใหญ่ให้มีภาระหนี้สินตกถึงประชาชนอย่างยาวนาน

ทั้งนี้เชื่อว่า ต่อไปหากรัฐบาลตัวจริงอยากจะผลักดันโครงการลงทุนอีก คงมีอยู่ 2 แนวทางให้เลือก คือ อย่างแรกหากจะกู้เงินนอกงบประมาณอีกก็สามารถดำเนินการได้ เพราะที่ผ่านมาหลายรัฐบาลก็ทำกันในทางกฎหมายแล้วไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้ามองในเชิงการเมืองก็คงมีการหยิบยกปัญหาต่าง ๆ มาอ้างได้ ส่วนอีกแนวทางคือการใช้เงินตามระบบงบประมาณตามปรกติ ทยอยทำเป็นรายโครงการที่สำคัญไป เช่น รถไฟทางคู่ทั่วประเทศ หรือการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาล ก็ให้เป็นแผนระยะยาวดีกว่า

อย่างไรก็ตามสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ คงส่งผลสะเทือนไปหลายอย่าง ที่เห็นชัดคือบรรดานักธุรกิจมองว่า ไทย “เสียโอกาส” อย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ ส่วนประชาชนเองคงนั่งมองตากันปริบ ๆ เพราะไม่รู้ว่าโครงการลงทุนที่วาดฝันกันไว้เสียดิบดี ชาตินี้จะได้เห็นกันหรือไม่!


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 13 มีนาคม 2557 ในชื่อ “วืด! ศาลตีตกแผนกู้เงิน 2 ล้านล้าน เอกชนหวั่นระบบคมนาคมถอยหลัง”