ทีดีอาร์ไอแนะรื้อกม.การเงินการคลังประเทศ-เสนอจัดตั้ง Thai PBO

ปี2014-03-17

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)


นักวิชาการแนะรื้อกฎหมายการเงินการคลังของประเทศใหม่ทั้งระบบ พร้อมเสนอจัดตั้ง Thai PBO ทำหน้าที่วิเคราะห์เศรษฐกิจระดับมหภาค พร้อมตรวจสอบความคุ้มค่าการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินโครงการของรัฐบาล ชี้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดนี้ทำเศรษฐกิจป่วนหลังพบมีการใช้งบประมาณแบบไม่จำกัด


จากนโยบายประชานิยมโดยเฉพาะในเรื่องโครงการรับจำนำข้าว เชื่อว่าขณะนี้สถานะความเข้มแข็งด้านการเงินการคลังของรัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังมีปัญหา ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าหากมีการกำหนดและวางแผนทางการเงิน พร้อมกำหนดนโยบายที่สามารถทำได้ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ และเพิ่มการตรวจสอบการดำเนินโครงการให้มากขึ้น จะสามารถลดความเสี่ยงและสร้างวินัยทางการคลังได้ในระดับหนึ่ง

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในการเสวนา“ทีดีอาร์ไอชวนคิด-ชวนคุยข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย” ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “การสร้างวินัยทางการเงินและการคลัง” ซึ่งจัดขึ้นโดยทีดีอาร์ไอ โดยระบุตอนหนึ่งว่า แนวทางของการปฏิรูปประเทศนั้นต้องมีการปฏิรูปด้านการเงินการคลังด้วย โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณที่ต้องอยู่บนบรรทัดฐานของความโปร่งใส สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้และควรมีบัญชีการใช้จ่ายงบประมาณที่มีมาตรฐานโดยประชาชนสามารถตรวจสอบ เข้าถึงและรับทราบข้อมูลของรัฐ

ทั้งนี้ ดร.อัมมาร ยังกล่าวอีกว่า การทำนโยบายให้ประชาชนสนับสนุน ถือเป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก แต่การทำให้ประชาชนรู้ว่านโยบายเหล่านั้นได้ประโยชน์เท่าไร ขาดทุนเท่าไร ถือเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า ซึ่งนโยบายหรือโครงการประชานิยมต่างๆ ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินการอยู่ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการรวบอำนาจของฝ่ายบริหาร ให้เข้ามาเป็นของตัวเองมากขึ้น

ขณะเดียวกันยังเห็นว่าขั้นตอนการพิจารณางบประมาณที่ใช้ในโครงการต่างๆในสภาผู้แทนราษฎรนั้น ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติมีความแนบแน่นกันจนเกินไปจนไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งโครงการที่ถือว่าล้มเหลวที่สุดคือโครงการรับจำนำข้าว ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการงบประมาณหรือความเห็นชอบจากรัฐสภา หรือมีองค์กรตรวจสอบที่เข้มแข็ง ดังนั้น หากต้องการให้รัฐสภาเข้ามามีบทบาทในการถ่วงดุลอำนาจต้องมีการปฏิรูปแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ในแง่ของวงเงินงบประมาณถือเป็นเรื่องที่ต้องทำให้โปร่งใส ต้องระบุไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และถ้าเรื่องใดอยู่ในงบประมาณก็ต้องมีการตรวจสอบบัญชีที่ชัดเจนได้ด้วย

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ

เช่นเดียวกับ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวเสริมถึงปัญหานโยบายประชานิยมว่า มีการใช้เงินนอกงบประมาณ“แบบปลายเปิด” กล่าวคือไม่มีข้อจำกัดในการใช้จ่ายงบประมาณนั่นเอง รวมทั้งไม่ได้ผ่านการพิจารณาโดยรัฐสภา ขณะที่รัฐบาลไม่มีส่วนในการรับผิดชอบต่อระบบรัฐสภาเลย  ทำให้เกิดปัญหาการคลังและขาดระบบการตรวจสอบประเมินผล ซึ่งไทยควรมีการรื้อกฎหมายการเงินการคลังใหม่ โดยจัดตั้งองค์กรอิสระตรวจสอบความคุ้มค่าการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินโครงการของรัฐบาลก่อนที่จะมีการเสนอของบประมาณ

นอกจากนี้ ดร.นิพนธ์ ได้เสนอแนะว่า รัฐบาลมีสิทธิ์ที่จะเสนอโครงการประชานิยมได้ แต่ต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาด้วย จะทำให้รัฐบาลหรือผู้จัดทำมองเห็นภาพรวมว่างบประมาณมีจำกัด เนื่องจากปัจจุบันไม่มีการเสนอให้รัฐสภาพิจารณา ทำให้ดูเหมือนว่าสามารถกู้เงินได้โดยไม่จำกัดจะมีการบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งอาจจะไปเบียดบังงบประมาณในส่วนอื่นที่นำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ส่งผลกระทบต่อการการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนเกิดความเสี่ยงและนำไปสู่ความเสียหายต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลัง ซึ่งเห็นได้จากขณะนี้อัตราการก่อหนี้สาธารณะเกินขีดถึงขั้นอันตรายและยังกระทบต่อการกระจายรายได้ ดังนั้นแต่ละโครงการต้องมีการรายงานข้อเท็จจริงต่างๆ ให้สาธารณชนได้รับทราบ เพราะเงินที่ใช้ล้วนเป็นเงินภาษีของประชาชนรวมถึงต้องประเมินผลของนโยบายที่ดำเนินการด้วยว่า มีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง ส่วนพรรคการเมืองที่อยู่ระหว่างหาเสียงก็ควรเลือกโครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนมากที่สุด

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ

ด้านนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงทีดีอาร์ไอ ได้เสนอแนะให้มีการปฏิรูปการคลังอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการออกพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐ จัดตั้งสำนักงบประมาณประจำรัฐสภา(Thai Parliamentary Budget Office หรือ Thai PBO) โดยเร็ว เพื่อใช้เป็นหน่วยงานทำหน้าที่วิเคราะห์ด้านการคลังและเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร โดยการแต่งตั้งผู้บริหารที่มาดูแลหน่วยงานนี้ต้องไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ต้องเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่ในการวิเคราะห์ภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาค ฐานะการคลังของภาครัฐ ต้นทุนการคลังหรือมาตรการที่สำคัญรวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของมาตรการนั้นๆ รวมทั้งมีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลการคลังทุกประเภท

นอกจากนี้วงเสวนายังเห็นตรงกันว่า เงินงบประมาณเหมือนขนมชั้นที่มีหลายด้าน มีนโยบายที่เป็นผลประโยชน์และค่าตอบแทน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถหายไปจากสังคมไทยได้หากมีการปฏิรูปการคลังอย่างจริงจัง และเร่งรัดให้รัฐมีกฎหมายการเงินการคลังและการเปิดเผยข้อมูลเพื่อสามารถตรวจสอบ รวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำและตอบโจทย์ในเรื่องปัญหาโครงสร้างการคลังไทยได้.