tdri logo
tdri logo
17 มีนาคม 2014
Read in Minutes

Views

นักวิชาการหนุนเดินหน้า 2 ล้านล้าน

พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของประเทศมีอันต้องตกไป ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งเนื้อหาและกระบวนการตรากฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ในแง่ตัวโครงการ สังคมส่วนใหญ่ยังคงเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ หากล้มพับโครงการก็เท่ากับปิดโอกาสพัฒนาประเทศ

มีคำถามว่าหากจะเดินหน้าโครงการต่อ มีช่องทางอย่างไรให้การดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย

 

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

โครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้วยเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เชื่อว่าเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่อิจฉากัน ตรงที่รัฐบาลหนึ่งคิดได้แต่อีกฝ่ายไม่ได้คิด

เพราะตามหลักแล้วฝ่ายบริหารของประเทศในระบอบประชาธิปไตยมีสิทธิ์กู้เงินมาลงทุน ซึ่งข้อขัดข้องในการพัฒนาประเทศเป็นสิ่งที่ไม่สมควรมีขึ้นในประเทศประชาธิปไตย

ถ้าเป็นผลดีกับประเทศแล้วรัฐบาล ชุดนั้นกล้าเสี่ยงมาเพื่อลงทุน ก็ไม่น่ามีอะไรมาคัดค้านได้ เพราะหากเขาทำไม่สำเร็จประชาชนก็ไม่เลือก อีกฝ่ายก็ได้เปรียบแทน

เราควรตรวจสอบมากกว่าขัดขวาง แบบนี้ไม่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา อย่างน้อยควรเดินหน้าพัฒนาประเทศให้ทันคนอื่น

แน่นอนว่าคำวินิจฉัยนี้ทำให้โครงการต่างๆ ที่อยู่ภายใต้กรอบเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทต้องล้มตามไปด้วย เพราะจะไปเอามาจากไหน ถ้าไม่ล้ม ขณะนี้จะมีแหล่งเงินกู้ที่รัฐบาลเจรจาไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ดีต่อการพัฒนาประเทศ ถ้ารัฐบาลยังอยากเดินหน้าก็ไม่ต้องกลัว สามารถทำได้

หากรัฐบาลใจป้ำให้การรถไฟฯ ตั้งบริษัทร่วมทุนกับประชาชนเป็นบริษัทมหาชน โดยที่การรถไฟฯเป็นหุ้นใหญ่ แล้วทำเป็นโครงการไปในลักษณะรายปี ส่วนรายละเอียดก็ไปพิจารณากัน เพื่อที่การดำเนินโครงการจะได้ไม่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ เพราะหากจัดทำเป็นงบประมาณอย่างเดียวก็ไม่มีเงินเพียงพออยู่ดี

ทั้งนี้ หากเดินหน้าต่อถึงอย่างไรก็ต้องกู้อีกส่วนหนึ่ง เพียงแต่จะกู้ด้วยวิธีการใดเท่านั้น หรือเว้นแต่รัฐบาลใจกล้า เก็บภาษีทรัพย์สินทำให้ได้เงินเป็นแสนล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดคือเราอย่าหยิบยกประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองมาเป็น ประเด็นทำลายประเทศ และถ้าจะเดินหน้าโครงการต่อก็ทำเลย

แล้วให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ

 

วิโรจน์ ณ ระนอง
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ

ปัญหาอย่างหนึ่งของประเทศ ไทย คือ ไม่มีการใช้ระบบงบประมาณระยะกลางอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาแม้จะมีการใช้อยู่บ้างแต่ก็เป็นเพียงรูปแบบ ไม่เห็นการดำเนินงานอย่างแท้จริง

หากใช้งบระยะกลางจัดทำโครง สร้างขั้นพื้นฐานตามเวลาที่กำหนด ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เพื่อพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานในระยะเวลา 7 ปี วิธีนี้สามารถสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนระยะยาวตามที่รัฐบาลให้เหตุผลได้เช่นกัน

การจัดงบประมาณต่างๆ ให้อยู่นอกระบบงบประมาณนั้น เราเคยมีบทเรียนมาแล้วจากโครงการรับจำนำข้าว เพราะมันจะอยู่นอกเหนือการตรวจสอบ ไม่ได้หมายความว่าร่างพ.ร.บ.กู้เงินแย่กว่าโครงการรับจำนำข้าว

ขณะเดียวกันต้องชมว่าร่างนี้ดีกว่าเยอะ เพราะเบื้องต้นผ่านสภาผู้แทนฯแล้ว แต่ก็ยังทำให้สังคมรู้สึกเคลือบแคลงถึงด้านการทุจริตได้อยู่

หากเรากำหนดงบเพื่อพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานไว้ในงบระยะกลาง จะแก้ปัญหาความเคลือบแคลงในการทุจริต และยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในระยะยาว อีกทั้งทำให้เห็นภาพวินัยทางการเงินการคลังกว้างขึ้น

เช่น หากโครงการปีใดต้องใช้เงินเยอะ ฝ่ายบริหารก็จะเห็นและสามารถหั่นงบประมาณอื่นได้ แต่ถ้าปีไหนไม่ใช้งบเยอะ เหมือนที่ร่างฉบับนี้กำหนดว่าปีแรกจะใช้ไม่เยอะ ฝ่ายบริหารก็สามารถกระจายงบไปยังภาคส่วนอื่นได้ อีกทั้งงบระยะกลางจะสร้างความต่อเนื่องให้กับโครงการ

ชัดเจนว่าทุกฝ่ายในสังคมเห็นว่า ระบบโครงสร้างคมนาคมขั้นพื้นฐานจำเป็นต้องมี แม้บางโครงการจะยังมีคำถามอยู่ เช่น ความคุ้มทุนของตัวโครงการ

ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานมานานแล้ว โครงการนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดท้ายแล้วประเทศไทยต้องมี

แต่จะหวังให้รัฐบาลหน้าเข้ามาดำเนินการทันทีเลยคงไม่ได้ เพราะรัฐบาลชุดต่อไป อาจอยู่ไม่นาน มีปัญหาสำคัญอย่างการปฏิรูปการเมืองที่ต้องดำเนินการก่อน หากดำเนินการโครงการนี้ควบคู่ไปด้วย นักลงทุนอาจไม่มีความมั่นใจ แต่สุดท้ายแล้วมองว่าต้องไม่น่าเกิน 3 ปี นับจากนี้ไป

นอกจากนี้ในทางเศรษฐศาสตร์ กรณีมีเหตุการณ์อะไรที่พอคาดการณ์ได้จะไม่กระทบต่อการลงทุน ซึ่งการที่ศาลชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่คนกว่าร้อยละ 90 พอจะเดาได้ จึงไม่น่าส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

แต่หากมีการไปฟ้องร้องถอดถอนนายกฯ หรือครม. เพื่อหวังให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ตรงนี้จะกลายเป็นเหตุการณ์ที่เหนือการคาดการณ์

อาจส่งผลสะเทือนอย่างมากในตลาดต่อไปได้

 

เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำวินิจฉัยที่ออกมาไม่ใช่เรื่องผิดคาด เพราะก่อนหน้านี้มีนักวิชาการด้านกฎหมายออกมาคาดการณ์

ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่โครงการพัฒนาด้านคมนาคมด้วยเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเราได้ลงทุนด้านการคมนาคมจนพัฒนาไปมาก

หากยังไม่มีการลงทุนในขณะนี้ เป็นไปได้ว่าอนาคตการลงทุนจะใช้งบประมาณที่แพงขึ้น ยกตัวอย่างสนามบินสุวรรณภูมิ ถ้าไม่เริ่มสร้างเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาสร้างตอนนี้ ก็คงราคาแพงขึ้น

ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวที่ต้องตกไปเป็นปัญหาจากข้อกฎหมาย เพราะเงินที่จะกู้เป็นจำนวน มหาศาล หลายฝ่ายจึงกลัวว่าจะกลายเป็นภาระหนี้ผูกพันไปอีกหลายปี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเช่นนี้อาจกลายเป็นบรรทัดฐาน ต่อไปคงไม่มีใครกล้าลงทุนทำโครงการใหญ่ๆ หรือจะทำก็ต้องมีความรอบคอบยิ่งกว่าเดิม

ส่วนตัวยังอยากให้ทบทวนโครงการ เพราะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม โครงการนี้ไม่ได้มีแต่การสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่ยังมีระบบรางคู่ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการขนส่ง

เนื่องจากปัจจุบันการขนส่งหลักยังใช้เส้นทางถนนด้วยรถบรรทุก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง สิ้นเปลืองพลังงาน และมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณการขนส่ง หากมีระบบรางคู่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้มากกว่า

และโครงการนี้ยังเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะมีแผนสร้างรถไฟให้ไปทุกๆ เมืองใหญ่ เมื่อไปถึงทุกเมือง ความเจริญก้าวหน้าก็จะพัฒนาตามไปด้วย เนื่อง จากจะไปช่วยกระตุ้นภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และอาจเชื่อมไปยังประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจดีอย่างสิงคโปร์และจีน

หวังว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะยกโครง การนี้มาพิจารณาอีกครั้ง หาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการตราร่างกฎหมายไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ต้องดูแลด้านคมนาคม แต่ก็อยู่ที่ว่าใครจะมีวิสัยทัศน์กว้างไกลกว่ากัน เพราะทุกวันนี้ความเจริญด้านขนส่งกระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ

ยังไม่กระจายไปต่างจังหวัดเท่าที่ควร


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 14 มีนาคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด