ผลกระทบจากโครงการรถยนต์คันแรก

ปี2014-03-17

ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Thai PBO

โครงการรถยนต์คันแรกถือได้ว่าเป็นโครงการหนึ่งของรัฐบาลที่ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ในโครงการ ในช่วงเวลาจองซื้อตามเงื่อนไขตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ถึง 31 ธันวาคม 2555 อยู่ในระดับสูงกว่า 1.25 ล้านราย

โครงการนี้มีผลกระทบต่องบประมาณของรัฐบาลทั้งในส่วนรายได้และรายจ่าย ซึ่งสำหรับในด้านรายได้ การสิ้นสุดลงของโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อยอดการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล อันเป็นผลมาจากยอดขายรถยนต์ภายในประเทศที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่ในด้านรายจ่าย รัฐบาลได้มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายคืนภาษีสรรพสามิตรถยนต์ให้กับผู้ใช้สิทธิในโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

Thai PBO ได้มีการประเมินผลกระทบของโครงการดังกล่าวต่องบประมาณรัฐบาล โดยข้อมูลหลักที่ Thai PBO นำมาใช้ประเมินผลกระทบของโครงการนี้ คือ จำนวนรถยนต์จดทะเบียนใหม่ประเภท รย.1 หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ของกรมการขนส่งทางบก เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับมูลค่าภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในระดับสูงมาก โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวอยู่ในระดับสูงกว่าการนำเอาข้อมูลรถประเภทอื่นๆเข้ามารวมเข้ากับรถยนต์ รย.1 อย่างชัดเจน

ข้อมูลรถยนต์จดทะเบียนใหม่ประเภท รย.1 ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2536 ถึงไตรมาส 3 ปี 2554 (ซึ่งเป็นช่วงก่อนมีโครงการรถยนต์คันแรก) ถูกนำมาใช้สร้างแบบจำลองเพื่อพยากรณ์จำนวนรถยนต์ รย.1 ในกรณีที่ไม่มีโครงการรถยนต์คันแรกเกิดขึ้น เนื่องจากสมการถดถอยดังกล่าวจะสร้างค่าพยากรณ์ที่สะท้อนพฤติกรรมของผู้คนในช่วงก่อนที่โครงการรถยนต์คันแรกจะเกิดขึ้น

ส่วนต่างระหว่างข้อมูลจริงที่รายงานโดยกรมการขนส่งทางบกกับค่าพยากรณ์ข้างต้น ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2555 ถึงไตรมาส 1 ปี 2557 จะสะท้อนถึงปริมาณการซื้อรถยนต์ส่วนเกินจากระดับปกติ ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาล โดยส่วนต่างที่เกิดขึ้นนี้จะต้องมีความสอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ในโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาล

Thai PBO กำหนดให้ผู้ใช้สิทธิ์ของโครงการรถยนต์คันแรกประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ ประเภทที่ 1 กลุ่มผู้ที่มีแผนซื้อรถยนต์ใหม่ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2554 จนถึงไตรมาส 4 ปี 2555 อยู่แล้ว และสามารถใช้สิทธิตามโครงการดังกล่าวได้ ประเภทที่ 2 กลุ่มผู้ที่มีแผนซื้อรถยนต์ใหม่ภายในไตรมาส 2 ปี 2559 แต่อยู่ในช่วงหลังไตรมาส 4 ปี 2555 และมีการเลื่อนการซื้อรถยนต์ใหม่ของตนเองให้เร็วขึ้นเพื่อใช้สิทธิตามโครงการดังกล่าว และ ประเภทที่ 3 กลุ่มผู้ที่ไม่มีแผนซื้อรถยนต์มาก่อน แต่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่เพื่อรับสิทธิตามโครงการดังกล่าว

ภายหลังจากการปรับปรุงจำนวนผู้ใช้สิทธิ์รถยนต์คันแรก โดยตัดส่วนของรถกระบะออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลรถยนต์ รย.1 ที่ Thai PBO นำมาใช้ แยกกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์ประเภทที่ 1 โดยประเมินสัดส่วนจากข้อมูลรถยนต์จดทะเบียนสะสมทั้งหมดเทียบกับข้อมูลรถยนต์จดทะเบียนใหม่ หลังจากนั้น สัดส่วนผู้ใช้สิทธิ์ประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 จะถูกกำหนดขึ้นเพื่อทำให้ส่วนต่างระหว่างข้อมูลจริงกับค่าพยากรณ์ข้างต้นมีความสอดคล้องกับข้อมูลจากข่าวการแถลงการณ์ของอธิบดีกรมสรรพสามิตเกี่ยวกับโครงการรถยนต์คันแรก

กลุ่มผู้ใช้สิทธิ์ประเภทที่ 2 มีความสำคัญ เนื่องจาก ผู้ใช้สิทธิ์กลุ่มนี้มีการเลื่อนการซื้อรถของตนจากอนาคตเพื่อมารับสิทธิ์รถยนต์คันแรก ซึ่งทำให้ปริมาณการซื้อรถในอนาคตจะปรับตัวลดลงไปจากพฤติกรรมปกติ Thai PBO กำหนดให้ผลกระทบจากการเลื่อนซื้อรถกระจายตัวไปจนถึงไตรมาส 2 ปี 2559

ผลลัพธ์ของกระบวนการนี้ คือ ค่าพยากรณ์จำนวนรถยนต์จดทะเบียนใหม่ รย.1 ปรับตัวลดลงไปราว 36 เปอร์เซ็นต์ ในปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – กันยายน 2557) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2556 และส่งผลให้ค่าพยากรณ์การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในปีงบประมาณ 2557 ของ Thai PBO ปรับตัวลดลงในอัตราใกล้เคียงกัน

นอกจากนั้น ตัวแปรรถยนต์จดทะเบียนใหม่ รย.1 ยังแสดงนัยสำคัญต่อการพยากรณ์ภาษีเงินได้นิติบุคคลของ Thai PBO (แต่ไม่ได้แสดงนัยสำคัญทางสถิติในการพยากรณ์ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งส่งผลให้ค่าพยากรณ์การจัดเก็บรายได้รัฐบาลทั้งระบบในปีงบประมาณ 2557 ของ Thai PBO ปรับตัวลดลงราว 0.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2556 ในขณะที่ค่าพยากรณ์ของรัฐบาลตามที่ปรากฏในเอกสารงบประมาณแสดงการปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 5.7 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเดียวกัน

ค่าพยากรณ์ที่แตกต่างกันระหว่าง Thai PBO กับรัฐบาลอาจเกิดขึ้นจากเงื่อนไขอื่นๆอีก นอกเหนือไปจากการใส่ผลกระทบของโครงการรถยนต์คันแรก โดยในกรณีต่างประเทศ ความแตกต่างลักษณะนี้จะนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาแบบจำลองพยากรณ์ที่มีความน่าเชื่อถือสูงสุดต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อีกประการหนึ่งของการหน่วยงานการคลังที่เป็นอิสระในลักษณะ PBO

หมายเหตุ: ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังแสดงการปรับตัวลดลงของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – กุมภาพันธ์ 2557) ราว 42 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ มูลค่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลทั้งหมดปรับตัวลดลงราว 1.7 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาเดียวกัน

บทความนี้เป็นชุดบทความ Thai PBO


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 มีนาคม 2557