จับตา ‘รายได้แรงงาน’ จุดสตาร์ต ‘ศก.ถดถอย’

ปี2014-03-03

คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ระดับ 3% ในปีนี้ จะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่ เป็นสิ่งที่นักพยากรณ์เศรษฐกิจเฝ้าติดตาม อย่างใกล้ชิด

ยิ่งหลังกระทรวงพาณิชย์ประกาศ ตัวเลขส่งออกเดือน ม.ค.ปีนี้ออกมา พบว่า หดตัว -1.98% การนำเข้าหดตัว -15.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และดุลการค้าขาดดุล 2,521 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยแล้ว ยิ่งย้ำชัดถึงความไม่สดใสของเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ท่ามกลางบรรยากาศปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อหาข้อสรุปไม่พบในเวลานี้

ความหวังให้ “ส่งออกเป็นพระเอก” พยุงเศรษฐกิจไทย อาจต้องเข้าไปดูถึงระดับการผลิต ที่มี “แรงงาน” เป็น รากฐาน

เมื่อพลิกดูรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2556 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน ในหมวดเรื่องแรงงาน ยิ่งทำให้เห็นถึงสัญญาณเตือนในระดับ การผลิต เมื่อพบว่าในปีที่ผ่านมาซึ่งเป็น ปีแรกของการยกระดับรายได้ของแรงงาน ผ่านนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน

เมื่อถึงสิ้นปีกลับพบว่า การจ้างงาน ปี 2556 ลดลง 0.05% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในครึ่งปีหลังที่เศรษฐกิจชะลอตัวผสมกับการชุมนุมทางการเมือง เพิ่มแรงกดดันให้การจ้างงาน ทำให้ทั้งปีมีผู้ว่างงานเฉลี่ย 284,011 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.72% เพิ่มขึ้นจาก ปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 0.66% (ดูตาราง)

แต่ที่น่าห่วงคือ ชั่วโมงการทำงานของแรงงานภาคเอกชน ที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 4 โดยลดลง เท่ากับ -0.8%, -0.9%, -2.2% และ -3.6% ตามลำดับ

“ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์” ผู้อำนวยการ วิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ถ้าดูที่ชั่วโมงการทำงานของแรงงานภาคเอกชน สถานการณ์นี้น่าเป็นห่วง เพราะปีที่แล้วลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากผู้ประกอบการที่สู้ค่าแรงงานขั้นต่ำไม่ไหว ก็โอนแรงงานส่วนหนึ่งไปให้บริษัทเหมาช่วง หรือซับคอนแทร็กต์ ประกอบกับ ภาคส่งออกที่ไม่ดีนัก จึงทำให้ต้องลด เวลาทำงานของแรงงาน

“ยิ่งถ้าส่งออกติดลบ โรงงานก็จะจำกัดการผลิต จำกัดการจ้างแรงงาน ซึ่งจากดัชนีความสามารถในการผลิต ดัชนีภาคอุตสาหกรรมก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ดัชนีหลายตัวติดลบหมด สำหรับผมแล้ว ตลาดแรงงานจึงน่าเป็นห่วง เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ค่อยดี แล้วถ้าตลาดแรงงานไม่ขยายตัว ก็เป็นสัญญาณถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้”

ความน่าเป็นห่วงต่อมาคือ จำนวนชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยของปี 2556 ที่ลดลง จาก 44.1 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 45.9 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์นี้ เกิดขึ้นใน ทุกสาขาการผลิต ทั้งการเกษตร การก่อสร้าง การผลิต และบริการ เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกลดลง และความต้องการภายในประเทศชะลอตัว ผู้ประกอบการ จึงลดชั่วโมงการผลิต และปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการใช้เครื่องจักรมากขึ้น

“จำนวนการทำงานที่ลดลง สะท้อนถึงรายได้ของแรงงานที่ลดลง แล้วเราก็เห็นถึงผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ ที่เพิ่มขึ้น ยอดค้างชำระบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่”

ทั้งนี้ ตามรายงานของ สศช.พบว่า ในไตรมาส 4/56 ยอดคงค้างของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 26.6% สินเชื่อภายใต้การกำกับผิดนัดชำระหนี้ เกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้นสูง 45.8% หรือเป็นมูลค่า 10,920 ล้านบาท ยอดค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้น 31.3% เป็นเครื่องชี้ว่า ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง

ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ปีนี้ ตลาดแรงงานจะเป็นอีกจุดที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ว่าจะเป็นจุดสตาร์ตของ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” ได้หรือไม่


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 3-5 มีนาคม 2557