ปฏิรูปวินัยการคลัง อีกหนึ่งเสาหลักค้ำประเทศ

ปี2014-03-24

ไฟการเมืองโหมกระพือไม่ต่างจากบ่อขยะเน่าเหม็นที่สมุทรปราการ เพราะนอกจากหมอกควันที่คละคลุ้งแล้ว ยังอัดแน่นไปด้วยสารพิษที่จะออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทคนไทยให้กลายเป็นโรคหวาดระแวง..ประเภทที่ว่านั่งคุยกันอยู่ดีๆ ชักมัดออกมาแทงกันได้ เพราะผิดหูเรื่องการเมือง

แม้แต่ 6 องค์กรอิสระจะแสดงความหวังดีเสนอตัวเป็นกาวใจแต่เสียดายบารมีไม่ถึงถูกยันกระเด็นซะหลังติดฝา ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายต่อต้าน แต่เจ็บสุดต้องประโยคเด็ดของมหาเทพปลอดประสพที่โพสต์ลงเฟซบุ๊กทำนองว่า ให้องค์กรอิสระเหล่านี้ควรไปทำหน้าที่ของตัวเองมากกว่า เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ควรไปจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ

กลับมาดูเรื่องการปฏิรูปประเทศของฝ่ายกปปส. ว่าควรทำอะไรบ้างนักเศรษฐศาสตร์มองว่าสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยคือวินัยการคลัง ซึ่งต้องมีการปฏิรูปกันให้รัดกุมกว่าที่ผ่านมาอีกมาก

ปัญหาหลักของเรื่องนี้มาจากการกำหนดนโยบายแบบประชานิยมที่ขาดการวางแผน และการตรวจสอบที่รัดกุม การบริหารงบประมาณที่ไม่มีความโปร่งใส ไม่ได้ผ่านกระบวนการงบประมาณหรือความเห็นชอบจากรัฐสภา หรือมีองค์กรตรวจสอบที่เข้มแข็ง

ซึ่งหากต้องการให้รัฐสภาเข้ามามีบทบาทในการถ่วงดุลอำนาจต้องมีการปฏิรูปแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ในแง่ของวงเงินงบประมาณถือเป็นเรื่องที่ต้องทำให้โปร่งใส ต้องระบุไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และถ้าเรื่องใดอยู่ในงบประมาณก็ต้องมีการตรวจสอบบัญชีที่ชัดเจนได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เงินนอก งบประมาณ แบบไม่มีข้อจำกัดในการใช้จ่ายงบประมาณ โดยที่รัฐบาลไม่มีส่วนในการรับผิดชอบต่อระบบรัฐสภาเลย ทำให้เกิดปัญหาการคลังและขาดระบบการตรวจสอบประเมินผล ซึ่งตรงนี้จำเป็นต้องมีการรื้อกฎหมายการเงินการคลังใหม่ โดยให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความคุ้มค่าการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินโครงการของรัฐบาลก่อนที่จะมีการเสนอของบประมาณ

ความจริงรัฐบาลมีสิทธิ์ที่จะเสนอโครงการประชานิยมได้ แต่ต้องให้รัฐสภาพิจารณาด้วย เพื่อให้มองเห็นภาพรวมว่างบประมาณมีจำกัด ซึ่งตรงนี้อาจส่งผลกระทบกับงบประมาณในส่วนอื่นที่นำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความเสียหายต่อนโยบายทาง การเงินและการคลัง

พิจารณาได้จากอัตราการก่อหนี้สาธารณะเกินความจำเป็น ซึ่งต้องอาศัยเงินภาษีของประชาชนในการใช้หนี้ ดังนั้นโครงการต่างๆ จึงควรสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนมากที่สุด

อาจารย์สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงทีดีอาร์ไอ ให้ทรรศนะถึงการปฏิรูปการคลังอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการออกพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐ จัดตั้งสำนักงบประมาณประจำรัฐสภา (Thai Parliamentary Budget Office หรือ Thai PBO) โดยเร็ว เพื่อใช้เป็นหน่วยงานทำหน้าที่วิเคราะห์ด้านการคลังและเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร โดยการแต่งตั้งผู้บริหารที่มาดูแลหน่วยงานนี้ต้องไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ต้องเป็น กลางทางการเมือง ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่ในการวิเคราะห์ภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาค ฐานะการคลังของภาครัฐ ต้นทุนการคลังหรือมาตรการที่สำคัญรวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของมาตรการนั้นๆ รวมทั้งมีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลการคลังทุกประเภท

เงินงบประมาณเหมือนขนมชั้นที่มีหลายด้าน มีนโยบายที่เป็นผลประโยชน์และค่าตอบแทน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สามารถหายไปจากสังคมไทยได้หากมีการปฏิรูปการคลังอย่างจริงจัง และเร่งรัดให้รัฐมีกฎหมายการเงินการคลังและการเปิดเผยข้อมูลเพื่อสามารถตรวจสอบ รวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำและตอบโจทย์ในเรื่องปัญหาโครงสร้างการคลังไทยได้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ วันที่ 22-28 มีนาคม 2557