ณัฐพล ศรีภิรมย์
นับตั้งแต่ต้นปีม้าคะนองจนถึงเวลานี้ข่าวสารที่ขึ้นหน้าหนังสือพิมพ์ หรือหน้าจอทีวี คงหนีไม่พ้นข่าวการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถโดยสารสาธารณะ ทั้งรถโดยสารสาธารณะประจำทาง หรือรถโดยสารสาธารณะไม่ประจำทาง (รถหมวด 30)ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้งจะมาซึ่งการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก โดยในอนาคตก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะหยุดการเกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงนี้ได้อย่างไร
ทั้งนี้หากนึกย้อนไปต้นปีอุบัติเหตุที่ร้ายแรงจากรถโดยสารสาธารณะน่าจะเป็นรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ บริษัท สมบัติทัวร์ จำกัด สาย ขอนแก่น-เชียงราย เสียหลักเบียดชนราวสะพานพ่อขุนผาเมือง ก่อนพลิกคว่ำตกลงไปในเหวลึกบนถนนทางหลวงหมายเลข 12 (AH16) กม.18+500 ระหว่าง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ จนเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 31 ศพ และบาดเจ็บอีก 4 ราย จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าน่าจะมาจากการขาดความระมัดระวัง ขับรถลงเขาด้วยความเร็วสูง
และอุบัติเหตุรถทัวร์ บริษัท สี่อนงค์ทัวร์ สีขาวคาดฟ้า เขียว ทะเบียน 30-0427 ขอนแก่น พุ่งชนกับรถพ่วง 18 ล้อ บรรทุกแป้งมัน ทะเบียน 84-9179 นครราชสีมาสภาพพังยับเยิน ทำให้มีผู้เสียชีวิตคาที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนหญิง ระดับชั้นประถมถึงชั้นมัธยมปีที่ 3 จำนวน 15 รายนอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 20 คนในจำนวนนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายคนซึ่งจากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่าขณะที่รถกำลังวิ่งลงเขาโทนรอยต่ออุทยานแห่งชาติทับลาน กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งเป็นทางลงเขาและเป็นทางโค้งรถบัสคันที่2 พุ่งชนกับท้ายรถพ่วงบรรทุก 18 เต็มแรงเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และจากการสันนิษฐานเบื้องต้นรถอาจเกิดเบรกแตก
โดย “นายสุเมธ องกิตติกุล” นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)และเป็นผู้วิจัยมาตรฐานและความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะไทย ระบุว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าจำนวนอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักแต่ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งจะมีความสูญเสียค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะนั้น ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานตัวโครงสร้างรถอยู่มากพอสมควร ซึ่งจากการวิจัยและติดตามข่าวสาร พบว่า เฉลี่ยแล้วในระยะเวลา 1-2 เดือน จะต้องมีอุบัติเหตุครั้งใหญ่ๆ เกิดขึ้น อย่างเช่นกรณีเมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2556 ที่ผ่านมา รถโดยสารรับจ้างไม่ประจำทาง เกิดอุบัติเหตุตกเขาที่จ.ลำปาง จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 20 ราย เหตุการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาต่างๆทั้งในเรื่องของปัจจัยด้านเส้นทางที่อันตรายปัญหาความพร้อมของพนักงานขับรถ รวมถึงปัญหามาตรฐานของตัวรถโดยสารเองที่เมื่อเวลาเกิดอุบัติเหตุไม่สามารถรักษาชีวิตของผู้โดยสารได้
นายสุเมธกล่าวว่า ในเรื่องมาตรฐานและความแข็งแรงของเบาะที่นั่ง จริงๆ แล้วมีประเด็นสำคัญอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.การฉีกขาดของเบาะเวลาเกิดการกระแทก และ2.ความแข็งแรงของจุดยึดที่นั่งสามารถยึดติดกับโครงสร้างรถได้มากน้อยขนาดไหนโดยที่ผ่านมาแม้ว่าในประเทศไทยกรมการขนส่งทางบกจะได้มีการศึกษาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีการกำหนดให้เป็นมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานสากล ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกระตุ้นหน่วยงานรัฐเร่งดำเนินการตามแผนและประกาศบังคับใช้โดยเร็ว
นอกจากนี้ในส่วนของเข็มขัดนิรภัยก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าขณะนี้กรมการขนส่งทางบก ได้ประกาศบังคับออกมาตั้งแต่เดือนเม.ย. 2555 แล้วว่าทุกเบาะที่นั่งในรถโดยสารสาธารณะต้องมีเข็มขัดนิรภัย แต่ที่ผ่านมาก็ยังคงมีปัญหาในเรื่องของการบังคับใช้หลายๆ ครั้งประชาชนไม่ค่อยได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในส่วนนี้เท่าไหร่นัก จึงไม่นิยมคาดเข็มขัดนิรภัย ตรงนี้อาจต้องขอความร่วมมือจากสื่อต่างๆ ช่วยกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์
ดังนั้น ในเรื่องนี้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงเกี่ยวกับตัวรถโดยสารสาธารณะ และพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ อย่าง “กรมการขนส่งทางบก”ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบถึงสาเหตุ และแนวทางในการป้องกัน ไม่ให้อุบัติเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นอีก โดย “อัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต”อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงปิดเทอม และช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ทำให้ประชาชนที่ชอบเดินทางเป็นหมู่คณะทำการเช่าเหมารถโดยสารไม่ประจำทางกันเป็นจำนวนมากทำให้รถโดยสารไม่ประจำทางมีจำนวนไม่เพียงพอ ประกอบกับพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ มีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้ต้องขับรถอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานบางครั้งก็ไม่ชำนาญเส้นทาง รวมทั้งเกิดจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น สภาพถนนไม่สมบูรณ์ ทัศนวิสัยไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานบริการรถโดยสารไม่ประจำทางให้เกิดความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการกรมการขนส่งทางบกได้กำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งประจำทาง ไม่ประจำทางและการขนส่งระหว่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ.2554 ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งต้องไม่ใช้หรือยินยอมให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ หรือมีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถไม่ตรงตามประเภทและชนิดของรถที่ใช้ทำการขนส่ง หรือมีใบอนุญาตที่สิ้นอายุแล้ว หรือไม่มีความพร้อมในการขับรถปฏิบัติหน้าที่ขับรถและผู้ขับรถจะต้องไม่ขับรถเกินชั่วโมงทำงานตามที่กฎหมายกำหนด คือ ขับรถต่อเนื่องได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมงและต้องพักไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง จึงจะขับต่อได้อีกไม่เกิน 4 ชั่วโมง ในรอบ 1 วัน
รวมทั้งต้องจัดให้มีพื้นที่สำหรับติดชื่อตัว ชื่อสกุล เลขที่ใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถ และหมายเลขทะเบียนรถ ไว้ให้เห็นชัดเจนภายในบริเวณตัวรถ นอกจากนี้ ต้องแจ้งเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานต่างๆ เพื่อติดต่อกรณีฉุกเฉินด้วย หากผู้ประกอบการขนส่งฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามข้อกำหนดดังกล่าว จะมีความผิดโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
นายอัฌษไธค์กล่าวว่า นอกจากนี้ขอแนะนำประชาชนให้เลือกใช้บริการรถโดยสารไม่ประจำทางที่มีคุณภาพ โดยต้องตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบการขนส่งว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด มีระบบการตรวจสอบรถที่มีคุณภาพ มีความเหมาะสมหรือไม่และขอตรวจสอบสภาพรถก่อนทำสัญญาว่าจ้าง รวมถึงตรวจสอบพนักงานขับรถว่าได้รับใบอนุญาตถูกต้องจากกรมการขนส่งทางบกหรือไม่ ใบอนุญาตขาดอายุหรือไม่และมีความชำนาญเส้นทางที่ใช้บริการเพียงใด พร้อมกับให้พนักงานขับรถได้ศึกษาสภาพเส้นทาง จุดเสี่ยง จุดอันตราย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุอีกทางหนึ่งด้วย อีกทั้งควรเลือกเดินทางในช่วงเวลากลางวัน หลีกเลี่ยงการเดินทางในยามวิกาลซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง และหากประชาชนพบรถโดยสารที่ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยแจ้งที่ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ1584 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายวัฒนา พัทรชนม์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางบกมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การทดสอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับผู้ต้องการสอบเพื่อออกใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ ทั้งประเภทใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสารสาธารณะทั่วไปอย่างไรก็ตาม จะมีการกำหนดเรื่องของข้อสอบใหม่ และเกณฑ์การสอบคะแนนวัดผลจากเดิมผู้เข้าสอบจะต้องผ่านเกณฑ์ที่ 75%แต่ก็กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ผู้เข้าสอบจะต้องผ่านเกณฑ์ที่คะแนน 90% ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานสำหรับผู้ขับขี่ให้สูงขึ้น และเพื่อให้ผู้ขับขี่ได้มีความรู้และตระหนักถึงกฎกติกามารยาทในการขับขี่อย่างเข้มงวด ซึ่งขณะนี้ผลการศึกษาเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างเสนอกระทรวงคมนาคมรับทราบ คาดว่าภายในปี 2557 จะเริ่มดำเนินการใช้เกณฑ์ดังกล่าว
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกยังมีแผนเพิ่มเติมที่จะตั้งศูนย์บันทึกพฤติกรรมการขับขี่รถยนต์ โดยเบื้องต้นจะนำร่องที่รถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกวัตถุอันตราย ก่อนจะบังคับใช้กับผู้ขับขี่รถยนต์ทั่วไป ทั้งนี้ คาดว่าศูนย์ดังกล่าวจะตั้งเสร็จช่วงเดือนเมษายนนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าหากมีศูนย์บันทึกพฤติกรรมการขับขี่แล้วจะสามารถทราบผู้ขับขี่ทุกรายได้อย่างละเอียดว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดหรือฝ่าฝืน
ส่วนนายชัชชาติ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้สั่งให้กรมการขนส่งทางบกมีการตรวจสอบผู้ขับขี่รถเช่าเหมาหรือทัศนศึกษาต่างๆ ให้รัดกุมรอบคอบเพิ่มขึ้น โดยพนักงานขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่สาธารณะและมีความชำนาญในการขับขี่รถโดยสารสาธารณะ และหากเจ้าของรถยังใช้ผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบขับขี่รถสาธารณะก็จะมีความผิดด้วย ตอนนี้หากผิดครั้งแรกปรับ 50,000 บาท ครั้งต่อไปยึดใบอนุญาต แต่ต่อไปอาจยึดใบอนุญาตทันทีเลยเพราะถือเป็นเรื่องใหญ่
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 10 มีนาคม 2557 ในชื่อ “ล้อมคอก’โศกนาฏกรรม รถโดยสารสาธารณะ’ขนส่งฯลั่น’ตัวรถ-พนักงานขับ’ต้องมีคุณภาพ”