หลักสูตรใหม่สร้างพลเมืองศตวรรษที่ 21

ปี2014-03-25

สพฐ.ยอมรับหลักสูตรใหม่ปี 57 ใช้ไม่ทันในปีนี้ เผยแนวคิดเด่นสอดคล้องกับศตวรรษ 21 สร้างผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ลดชั่วโมงเรียนเพื่อให้เด็กมีเวลาทำกิจกรรมนอกห้อง และเน้นคิดวิเคราะห์มากกว่าท่องจำ เชื่อช่วยลดภาระครู นำร่อง รร.ทุกประเภทประมาณ 100 โรง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมน ตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีคณบดีคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ สมาคมครูและกลุ่มสาระการเรียนรู้ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ครู และผู้บริหาร เข้าร่วมประมาณ 100 คน ว่าการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องในการปรับปรุงหลักสูตรได้มีส่วนร่วมระดมความคิดเห็นก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณา สำหรับเนื้อหาสาระในการปรับหลักสูตรใหม่นั้นจะเน้นคุณลักษณะพึงประสงค์ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 มาใช้ ซึ่งจะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะใหม่ๆ สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลง และความต้องการของประเทศ โดยจะเน้นให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จำเป็นต้องให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด เพราะจะทำให้การปฏิรูปการศึกษาที่ดำเนินการอยู่นั้นสามารถเดินหน้าไปพร้อมกันได้

นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) กล่าวว่า แนวคิดสำหรับหลักสูตรในศตวรรษที่ 21 นั้นจะต้องเป็นหลักสูตรที่กระชับ เน้นความสำคัญของวิชา โดยครอบคลุมเนื้อหาอย่างละเอียด หลักสูตรช่างคิด เน้นทักษะการคิดขั้นสูงควบคู่กับเนื้อหา ผสมผสานสถานการณ์จริงและประสบการณ์จากอดีต และหลักสูตรเชิงบูรณการ การจัดการเรียนรู้ผ่านโครงงานโดยมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนเป็นหลัก ทั้งนี้ การปฏิรูปหลักสูตรจะต้องไม่กำหนดเวลาเรียนที่ตายตัวเกินไป แต่ควรเพิ่มให้สถานศึกษามีอิสระในการออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ กล่าวว่า หลังจากทำหลักสูตรแล้วเมื่อนำเนื้อหาเทียบกับรายงานของทีดีอาร์ไอ ส่วนใหญ่มีความสอด คล้องกัน ลักษณะของหลักสูตรใหม่จะเป็นการเน้นให้มีการเรียนการสอนแบบโครงการ ให้กิจกรรมเป็นตัวกำหนด ผู้เรียนให้นึกถึงอาชีพเป็นหลัก เน้นคุณธรรม จริยธรรมต่อสังคม เน้นการอ่านมากขึ้น เพื่อเกิดการพัฒนาอย่างมีสมดุล เพิ่มทักษะการใช้เทคโนโลยี ก็จะเกิดความสร้างสรรค์ในตัวผู้เรียน ทั้งนี้ แนวคิดของโครงสร้างหลักสูตรจะเกิดทักษะที่จำเป็น ค่านิยมและเจตคติ ทั้งนี้ยังเพิ่มสายวิชามากขึ้นคือ สายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สายศิลปศาสตร์ เน้นภาษา สายศิลปศาสตร์ เน้นคณิต สายการอาชีพ สายศิลปกรรมและการออกแบบ

“ปัจจัยที่สำคัญของหลักสูตรดังกล่าวคือกระบวนการและความรู้ต้องนำมาใช้ร่วมกัน มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และส่วนหนึ่งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงคือ ลดชั่วโมงเรียนเพื่อให้เด็กแสวงหาความรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น” ศ.(พิเศษ) ภาวิช กล่าว

นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ที่ปรึกษา สพฐ. ด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ กล่าวว่า หลักสูตรใหม่ปี 2557 จะแตกต่างอยู่หลายส่วน เริ่มตั้งแต่มีการจัดกลุ่มวิชาเหลือ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้ จากเดิม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และมีการนำจุดเด่นของหลักสูตรประเทศต่างๆ รวมถึงการนำทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่เน้นเรื่องกระบวนการบูรณาการทำงานมาใส่ในหลักสูตรใหม่นี้ด้วย โดยมีการจัดกลุ่มวิชาการดำรงชีวิตและโลกของงานขึ้น และจะมีการกำหนดให้ชัดเจนว่าสมรรถนะที่ต้องการให้เกิดในเด็กแต่ละระดับมีอะไรบ้าง พร้อมจัดทำเครื่องมือนำไปสู่การพัฒนาสมรรถนะนั้นให้แก่เด็ก

“หลักสูตรใหม่คงนำมาใช้งานได้ไม่ทันในปี 57 แต่อาจจะมีการนำร่องโรงเรียนทุกประเภท ประมาณ 100 โรงเข้าร่วมโครงการ เพราะหลักสูตรใหม่ปี 57 จะมีความแตกต่างจากหลักสูตรปี 2551 แต่หลักสูตรใหม่ได้เก็บเอาจุดอ่อนของหลักสูตรเก่ามาแก้ไขซึ่งจะช่วยลดภาระครูได้” นางเบญจลักษณ์กล่าว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 25 มีนาคม 2557