ทีดีอาร์ไอ เผยผลสำรวจการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างในเว็บไซต์ 59 รัฐวิสาหกิจ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ พบมี 3 แห่งที่ระดับความโปร่งใสดีมาก คือ “โรงงานยาสูบ-สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ-การประปาส่วนภูมิภาค” แต่มี 13 แห่งที่ถูกจัดอยู่ระดับแย่ถึงแย่มาก ขณะที่หน่วยงานส่วนท้องถิ่นเกิน 70% ไม่เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างในเว็บไซต์ และประชาชนร้องเรียนต่อ สขร. เรื่องการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน จัดสัมมนาเรื่อง “ดัชนีชี้วัดสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย” ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ
ในงานมีการนำเสนอ “ผลการสำรวจการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างในเว็บไซต์รัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2556” ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 โดย นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ
นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ
นายธิปไตรกล่าวว่าการสำรวจฯ เว็บไซต์รัฐวิสาหกิจ เกณฑ์ที่ใช้ประเมินเชิงคุณภาพหลักๆ มี 3 เงื่อนไขคือ การนำเสนอหน้าโฮมเพจ คุณภาพของข้อมูล และการเก็บและการค้นหาข้อมูลเก่า ซึ่งแต่ละเงื่อนไขให้น้ำหนักคะแนนต่างกันคือ 25 คะแนน 40 คะแนน และ 35 คะแนน ตามลำดับ แต่เมื่อรวมกันแล้วจะได้ 100 คะแนน โดยการประเมินจะดูว่า “มีหรือไม่มี” ตามเงื่อนไขเท่านั้น
ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจ 59 แห่งที่ทำการสำรวจ แบ่งเป็นรัฐวิสหากิจ “แม่” จำนวน 57 แห่ง และรัฐวิสาหกิจ “ลูก” 2 แห่ง คือ ปตท.สผ. และไออาร์พีซี โดยคำนิยาม “รัฐวิสาหกิจ” ที่ใช้ในการสำรวจฯ ใช้ตามคำนิยามของ พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ. 2502
พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 รัฐวิสาหกิจ หมายความว่า
ก. องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
ข. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ส่วนราชการมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
ค. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการและ/หรือรัฐวิสาหกิจตาม (ก) และ/หรือ (ข) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
ง. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการและ/หรือรัฐวิสาหกิจตาม (ค) และ/หรือ (ก) และ/หรือ (ข) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
จ. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการและ/หรือรัฐวิสาหกิจตาม (ง) และ/หรือ (ก) และ/หรือ (ข) และ/หรือ (ค) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
นายธิปไตรสรุปผลสำรวจการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างผ่านเว็บไซต์รัฐวิสาหกิจพบว่า รัฐวิสาหกิจที่มีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างในเว็บไซต์รัฐวิสาหกิจได้คือ
คะแนน (100-80) ระดับ “ดีมาก” 3 แห่ง
ได้คะแนน (79-60) ระดับ “ดี” 17 แห่ง
ได้คะแนน (59-40) ได้ระดับ “พอใช้” 26 แห่ง
ได้คะแนน (39-20) ระดับ “แย่” 8 แห่ง
และได้คะแนน (19-0) ระดับ “แย่มาก” 5 แห่ง
“ในการสำรวจเว็บไซต์รัฐวิสาหกิจ พบอุปสรรคที่ทำให้ดูข้อมูลจัดซื้อจ้างในเว็บไซต์ไม่ได้ คือ ไม่เผยแพร่ผลการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่มีการเผยแพร่เอกสารจัดซื้อจัดจ้างใดๆ และไม่มีหนังสือหรือประกาศเชิญชวน” นายธิปไตรกล่าว
ขณะเดียวกัน นายธิปไตรได้นำเสนอผลการสำรวจการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานของรัฐว่าปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ และมติ ครม. (พ.ศ. 2555 ) ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 พบว่า หน่วยงานส่วนท้องถิ่นเปิดเผยข้อมูลสอบราคา ประกวดราคา และข้อมูลสรุปผลการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างในเว็บไซต์ของตนไม่ถึง 30% ของจำนวนหน่วยงานส่วนท้องถิ่นทั้งหมด (ดูภาพประกอบ 1: การเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานของรัฐ)
ภาพประกอบ 1: การเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานของรัฐ
“แสดงว่าหน่วยงานส่วนท้องถิ่นเกิน 70% ไม่เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทางเว็บไซต์ สาเหตุใหญ่เป็นเพราะคิดว่าไม่อยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ จึงไม่คิดจะเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างในเว็บไซต์ ทั้งที่เป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐตามคำนิยามของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ที่ต้องเปิดเผยข้อมูลเหมือนหน่วยงานอื่นๆ” นายธิปไตรกล่าว
ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐที่ต้องเปิดเผยข้อมูล ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนสังกัดรัฐสภา ศาล (เฉพาะส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาคดี) องค์กรการควบคุมการประกอบวิชาชีพ หน่วยงานอิสระของรัฐ (เช่น ป.ป.ช.) และอื่นๆ ตามกฎกระทรวง
นอกจากนี้ นายธิปไตรยังนำเสนอการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีการร้องเรียนต่อ สขร. มากที่สุดคือ “การจัดซื้อจัดจ้าง” เนื่องจากหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลแต่ไม่เปิดเผยข้อมูล กับเปิดเผยข้อมูลล่าช้า รองลงมาคือ การร้องเรียนเรื่อง “การใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐ” และเรื่องอื่นๆ (ดูภาพประกอบ 2: การเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานของรัฐ)
ภาพประกอบ 2: การเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานของรัฐ
นายธิปไตรกล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการมีปัญหาเพราะว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด และไม่มีบทลงโทษสำหรับคนที่ไม่เปิดเผยข้อมูล ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้มีข้อเสนอว่า กฎหมายควรเขียนบทลงโทษในกรณีหน่วยงานรัฐไม่เปิดเผยข้อมูล และควรเพิ่มงบประมาณให้ สขร. ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ จะได้ทำหน้าที่ดูแลได้อย่างทั่วถึงจากที่ปัจจุบันทำได้ค่อนข้างจำกัด
ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการ สถาบันอิศรา เสนอว่า หากต้องการให้ สขร. สามารถทำหน้าที่ดูแลการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากว่านี้ ต้องให้ สขร. ออกจากการกำกับดูแลของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และอาจนำไปไว้กับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยให้เป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะสนับสนุนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน น่าจะเป็นประโยชน์มากว่าปัจจุบัน
เผยแพร่ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยพับลิก้า วันที่ 11 มีนาคม 2557 ในชื่อ “ทีดีอาร์ไอ จัดระดับความโปร่งใส”จัดซื้อจัดจ้าง” รัฐวิสาหกิจ เผยมี 13 จาก 59 แห่ง อยู่ระดับแย่-แย่มาก และ 3 ราย ดีมาก”