ฐานเศรษฐกิจรายงาน: สถานการณ์คอร์รัปชันไทยไม่ดีขึ้น-อันดับต่ำกว่าฟิลิปปินส์

ปี2014-03-12

การสัมมนาเรื่อง “ดัชนีชี้วัดสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย” จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ร่วมกับองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557ที่ผ่านมา ได้เผยผลการศึกษาการคอร์รัปชันในประเทศไทย พบว่า ปัญหาการทุจริตยังอยู่ในระดับสูงและยังคงเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

จากการสำรวจกลุ่มผู้นำภาคธุรกิจ 93% เห็นว่าความรุนแรงของปัญหายังอยู่ในระดับสูงมาก ขณะที่ 75% ของกลุ่มผู้นำภาคธุรกิจเห็นว่าปัญหาทุจริตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการแข่งขันของประเทศ ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าผลการวิจัยของทีดีอาร์ไอ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยไม่ดีขึ้นเลย กลับแย่ลงมาตลอด จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า การติดสินบนเล็กๆ น้อยๆ หากแก้ไม่ได้จะแก้ปัญหาการคอร์รัปชันขนาดใหญ่ยากขึ้น และพบว่าประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อการคอร์รัปชันในองค์กรพรรคการเมือง และตำรวจ มากที่สุด

จากการศึกษาพบว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตยมานานกว่า 40 ปี จะมีคอร์รัปชันลดลง แต่สำหรับประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2475 หรือ 80 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงมีระดับปัญหาคอร์รัปชันไม่ต่างจากประเทศที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าจะมีองค์กรตรวจสอบความโปร่งใสจำนวนมาก จึงต้องทบทวนการทำงานขององค์กรอิสระเหล่านี้ด้วยว่าอิสระจริงหรือไม่ เพราะยังพึ่งงบประมาณในการทำงาน

“ตัวอย่าง นโยบายรับจำนำข้าว ก็สะท้อนว่า เราไม่รู้ข้อมูลการซื้อขายข้าว เป็นไปได้อย่างไรว่าภาครัฐไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ ทางแก้ไขคือต้องพึ่งพาการตรวจสอบจากภาคประชาชน และต้องมีข้อมูลให้มากที่สุด” ดร.เดือนเด่นกล่าว

สอดคล้องกับ ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการประจำทีดีอาร์ไอ ที่ระบุว่า คอร์รัปชันในประเทศไทยน่าเป็นห่วง เพราะได้อันดับโลกต่ำกว่าฟิลิปปินส์ ทั้งที่ไทยมีสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่า และนักธุรกิจนานาชาติมองว่า การคอร์รัปชันเป็นปัจจัยที่น่ากังวลในการมาลงทุน

จากดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขัน ปี 2556 ระบุว่า คอร์รัปชันเป็นปัจจัยที่มีปัญหามากที่สุด 20.2% รองลงมาคือ เสถียรภาพรัฐบาล 16.5% เสถียรภาพทางนโยบาย 13.5% และประสิทธิภาพในการบริหารงานของภาครัฐ 13.4% หากอ้างอิงดัชนีการแข่งขันระดับโลก โดยเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนพบว่า ประเทศไทยยังมีระดับการแข่งขันเป็นอันดับ 4 รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งไม่ถือว่าแย่นัก อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของไทยก็คือ แม้การเมืองจะมีปัญหา แต่ระบบเศรษฐกิจและการเงินของไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง

“มีการถามภาคธุรกิจว่า การคอร์รัปชันกระทบเศรษฐกิจอย่างไร เช่นในประเทศเกาหลี การทุจริตมาจากการเมืองเหมือนกัน แต่ไม่กระทบการประกอบธุรกิจ แต่ประเทศไทยการเมืองเป็นปัญหาอันดับ 1”

ขณะที่ ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์สำรวจความเห็น “นิด้าโพลล์” กล่าวถึงตัวอย่างที่ทำโพลล์ ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและปัจจัยการทุจริตคอร์รัปชัน ในปี 2556-2557 ในหลายกรณี อาทิ ความเห็นเกี่ยวกับการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ว่าจากการสุ่มตัวอย่างความเห็นประชาชนต่อการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท มีผู้เห็นด้วย 51.56% โดยให้เหตุผลว่า เป็นการพัฒนาประเทศชาติ ต้องการเห็นระบบการคมนาคมขนส่งดีขึ้น ส่วนที่ไม่เห็นด้วย มี 35.07% บอกว่า ใช้วงเงินจำนวนมาก ควรนำไปพัฒนาเรื่องอื่น ทำให้เกิดหนี้สาธารณะต่อคนเพิ่มขึ้น และอาจเป็นช่องทางการเกิดคอร์รัปชัน

นอกจากนั้นนิด้าโพลล์ ได้สำรวจความเห็นเรื่อง การแก้ไขปัญหาจำนำข้าวในมุมมองของเกษตรกร ยกตัวอย่างคำถาม อาทิ ความเห็นที่มีต่อสาเหตุที่รัฐบาลไม่สามารถจ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้ชาวนาได้ พบว่าเกษตรกร 31.13% เห็นว่า มีการคอร์รัปชันในโครงการจำนำข้าว ขณะที่เกษตรกร 18.42% คิดว่า ขาดทุนจากการค้าข้าวทำให้ไม่มีเงินจ่ายชาวนา

ส่วนคำถามว่า ผู้ที่ควรรับผิดชอบจากการที่รัฐบาลไม่สามารถจ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้แก่ชาวนาได้นั้น มีคำตอบที่น่าสนใจคือ เกษตรกร 35.92% เห็นว่านายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ ตามด้วย คณะรัฐมนตรี 32.33% รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 16.58% กลุ่ม กปปส. 9.85% ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 3.50% อื่นๆ เช่น กกต. 0.14%

สำหรับข้อเสนอหรือแนวทางแก้ไขการคอร์รัปชันนั้น รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สะท้อนความเห็นว่า เนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชันทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการสูงขึ้น เฉลี่ย 30% ของต้นทุนทั้งหมด ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ประกอบการลดลง เกิดความไม่เชื่อมั่นที่จะลงทุนในไทย

หากรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ควรบรรจุการแก้ไขคอร์รัปชันให้เป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงสนับสนุนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนอย่างจริงจัง และควบคุมนักการเมืองในฐานะผู้ทุจริตคอร์รัปชันอันดับ 1 ของประเทศให้ได้ หากทำได้สำเร็จจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้มาก


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 13-15 มีนาคม 2557 ในชื่อ “ชี้ 80 ปีประชาธิปไตยไทย ไม่ช่วยคอร์รัปชันลด น่าห่วงยิ่งกว่าฟิลิปปินส์”