กรุงเทพธุรกิจรายงาน: ชี้คอร์รัปชันฉุดขีดแข่งขัน ทีดีอาร์ไอเตือนนักลงทุนย้ายหนีไทย

ปี2014-04-01

นครินทร์ ศรีเลิศ

นักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้ คอร์รัปชั่นฉุดขีดความสามารถแข่งขันไทยในอาเซียน หลายตัวชี้วัดรั้งบ๊วยอาเซียน ส่อเอื้อประโยชน์พวกพ้อง การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐสิ้นเปลืองสุดในอาเซียน เตือนฟิลิปปินส์-อินโดฯ คู่แข่งสำคัญเศรษฐกิจ หลังเร่งสางปัญหาคอร์รัปชั่น ยกผู้นำฟิลิปปินส์ตัวอย่างปราบคอร์รัปชั่น ส่งผลขยับอันดับดีขึ้น เตือนไทยไม่ปรับตัว นักลงทุนย้ายฐานการผลิตหนี

น.ส.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในภาพรวมอยู่ที่อันดับ 37 ตามการจัดอันดับของ World Economic Forum (WEF)โดยถือว่าอยู่ในอันดับ 4 ของอาเซียนรองจากประเทศบรูไนที่อยู่ในอันดับที่ 26 มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 24 และสิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับที่ 2 ซึ่งเมื่อพิจารณาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่นปัจจัยด้าน โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยถือว่าได้เปรียบหลายประเทศในอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของต่างชาติ มองว่าการคอร์รัปชั่นเป็นเป็นอุปสรรคสำคัญในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยจากการสำรวจล่าสุดพบว่า 20.2% มองว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ขณะที่ 16.5% มองว่าปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองจากการรัฐประหาร และอีก 13.5% มองว่าปัญหาเรื่องความ ไม่แน่นอน เรื่องนโยบายทางการเมือง เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย

ความโปร่งใสฟิลิปปินส์แซงไทย

น.ส.บุญวรา กล่าวว่า ในปี 2556 องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) จัดอันดับความโปร่งใสของประเทศต่างๆ จำนวน 177 ประเทศ โดยอันดับของประเทศตกจากอันดับ 88 ในปี ที่ผ่านมาไปอยู่ที่อันดับ 102 ได้คะแนนเพียง 35 คะแนนจากเต็ม 100 คะแนน ขณะที่ฟิลิปปินส์ซึ่งเคยมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นสูงมาก กลับได้อันดับที่ 94 ขยับอันดับดีขึ้นในปีเดียว 6 อันดับ

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฟิลิปปินส์ขยับอันดับคอร์รัปชั่นดีขึ้น จากการมีเจตจำนงที่แน่ชัดในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นของรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ผู้นำของฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน

“ในอดีต ประเทศฟิลิปปินส์มีภาพลักษณ์เกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชั่น แต่ในปีที่ผ่านมา อันดับคอร์รัปชั่นปรับตัวดีขึ้นถึง 6 อันดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประธานาธิบดีให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นอย่างมาก เห็นได้จากกฎหมายฉบับแรกที่ประธานาธิบดีอากีโนลงนามในคำสั่งพิเศษให้มีผลบังคับใช้ทันที่ที่รับตำแหน่ง คือคำสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของอดีตประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย และกฎหมายฉบับต่อมาก็คือการลงโทษข้าราชการระดับสูงที่พัวพันกับเรื่องคอร์รัปชั่น” น.ส.บุญวรากล่าว

ปัจจัยชี้วัดไทยต่ำเทียบอาเซียน

น.ส.บุญวรายังกล่าวด้วยว่า หากพิจารณาในรายละเอียดของรายงานที่ชื่อว่า “The Global Competitiveness Report 2013-2014” ที่จัดทำโดย World Economic Forum (WEF) เพื่อรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและข้อมูลด้านต่างๆ ของประเทศสมาชิก WEF กว่า 144 ประเทศ ในส่วนของคำถามที่สะท้อนการทุจริตคอร์รัปชั่น ของประเทศต่างๆ จะพบว่าในหลายคำถามไทยเป็นรองหลายประเทศในอาเซียน

สำหรับดัชนีเรื่องความโปร่งใสในการทำนโยบายรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ (Transparency of government policymaking) พบว่าประเทศไทยได้ 3.9 จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน อยู่อันดับที่ 93 จาก 148 ประเทศ โดยถือว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ของอาเซียน โดยยังได้คะแนนเป็นรองจากฟิลิปปินส์ที่ได้อันดับ 92 อินโดนิเซียอันดับที่ 65 บรูไนอันดับที่ 50 มาเลเซียอันดับที่ 20 และสิงคโปร์อันดับที่ 1

ส่วนเมื่อถามว่าการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐมีความสิ้นเปลืองหรือไม่ (Wastefulness of government spending) ผลการสำรวจพบว่าประเทศไทยได้เพียง 2.7 คะแนนจากคะแนนเต็ม 7 คะแนน อยู่ที่ 107 ต่ำที่สุดในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ที่ได้คะแนนการใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพสูงถึง 5.9 คะแนน อยู่อันดับ 2 ส่วน สปป.ลาวอยู่อันดับที่ 11 บรูไนอันดับที่ 14 มาเลเซียอันดับที่ 21 อินโดนิเซียอันดับที่ 33 ฟิลิปปินส์อันดับที่ 63 กัมพูชาอันดับที่ 73 พม่าอันดับที่ 90 และเวียดนามอันดับที่ 103

รัฐบาลเอื้อประโยชน์พวกพ้องสูง

ขณะที่คำถามที่สำรวจโดยการถามว่ารัฐบาลในประเทศต่างๆ มีการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องมากน้อยเพียงใด ผลสำรวจพบว่า มุมมองที่ชาติสมาชิกมองประเทศไทย คือ ไทยได้คะแนนเพียง 2.8 คะแนน จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน อยู่ที่อันดับ 93 ซึ่งในอาเซียนถือว่า รัฐบาลไทยมีการเอื้อประโยชน์ให้ พวกพ้องเกือบจะสูงที่สุด โดยได้อันดับ ต่ำกว่าพม่าที่ถูกจัดอันดับที่ 136 เพียงประเทศเดียว

ขณะที่สิงคโปร์ถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่รัฐบาลมีการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องต่ำที่สุดโดยได้คะแนน 5.4 คะแนน สูงที่สุด ในกลุ่มอาเซียนและสูงที่สุดในโลก ส่วนประเทศอื่นๆ ในอาเซียนยกเว้นพม่าล้วนได้ คะแนนสูงกว่าประเทศไทย เช่น บรูไนได้อันดับที่ 15 มาเลเซียได้อันดับที่ 25 อินโดนิเซีย ได้อันดับที่ 39 สปป.ลาวได้อันดับที่ 43 กัมพูชาได้อันดับที่ 70 เวียดนามได้อันดับที่ 71 ฟิลิปปินส์ได้อันดับที่ 75

เชื่อมั่นนักการเมืองต่ำสุดอาเซียน

จากปัญหาการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นสูง ทำให้สถาบันทางการเมืองกลายเป็นสถาบันที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นลดลง จากผลการสำรวจความเชื่อมั่นของสาธารณะต่อนักการเมือง (Public trust in Politician) ออกมาว่า คะแนนความเชื่อมั่นในตัวนักการเมืองของไทยอยู่ในระดับต่ำที่สุดในอาเซียน โดยได้คะแนนเพียง 2 คะแนน จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน ถูกจัดอันดับอยู่ที่ 127 จาก 148 ประเทศ โดยต่ำกว่าทุกประเทศในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ ที่อยู่ที่อันดับที่ 90 พม่าที่อยู่อันดับ 62 กัมพูชาอันดับที่ 61 อินโดนิเซียอันดับที่ 55 และเวียดนามอันดับที่ 46 เป็นต้น

คอร์รัปชันฉุดขีดแข่งขัน

นอกจากนี้ หากดูอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านต่างๆ เปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับอาเซียน ก็จะพบปัญหาคอร์รัปชั่นกำลังทำให้อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลง ซึ่งหากในอนาคต สถานการณ์คอร์รัปชั่นของฟิลิปปินส์ดีขึ้นเรื่อยๆ ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของของฟิลิปปินส์ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามทิศทางการเติบโตของภูมิภาค
ส่วนอินโดนิเซียกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธบิดีคนใหม่ในปีนี้ และหากผู้นำคนใหม่ขึ้นมาแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ก็จะยิ่งเป็นประเทศที่น่าจับตามองจากศักยภาพทางเศรษฐกิจจากการเป็นตลาดที่มีประชากรจำนวนมากที่สุดในอาเซียน และจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวทางเศรษฐกิจของไทย

“ทำอย่างไรให้การคอร์รัปชั่นไม่สร้างปัญหาจนลดทอนศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ถ้าไทยไม่ปรับตัวทำให้สถานการณ์คอร์รัปชั่นของเราดีขึ้น ความสามารถในการแข่งขันของเราก็จะลดลง เมื่อเปิดเออีซี ก็จะส่งผลลบกับเศรษฐกิจ นักลงทุนต่างชาติก็มองว่าไปประเทศอื่นดีกว่า ตั้งฐานการผลิตที่ไหนก็ได้” น.ส.บุญวรากล่าว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 เมษายน 2557