กูรูเชื่อ ‘ไทยพีบีโอ’ คุมวินัยคลัง แนะตั้งโทษข้าราชการปกปิดข้อมูล

ปี2014-04-10

เสริมความเข้มแข็งกลไกตรวจสอบงบและการคลังภาครัฐบาล

ทีดีอาร์ไอหนุนตั้งหน่วยงานวิเคราะห์งบประมาณแผ่นดินและระบบการคลังประจำรัฐสภา ช่วยตรวจสอบรัฐบาล สร้างความรับผิดชอบด้านการคลัง แนะตั้งโทษข้าราชการที่ไม่เปิดเผยข้อมูล

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนาสาธารณะ วานนี้ (9 เม.ย.) นำเสนอบทความหัวข้อ “Thai PBO ความหวังใหม่ในการสร้างวินัยทางการคลัง?” โดยนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านพัฒนาอย่างทั่วถึง (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ประเทศไทยควรดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานวิเคราะห์งบประมาณแผ่นดินและระบบการคลังประจำรัฐสภา (Thai Parliamentary Budget Office: Thai PBO) เนื่องจากรัฐสภาไทยยังขาดการวิเคราะห์การจัดทำงบประมาณที่ดี และรับข้อมูลของโครงการจากฝ่ายรัฐบาลที่เข้าถึงข้อมูลได้ฝ่ายเดียวเท่านั้น ส่งผลให้การเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เกิดการตรวจสอบทำได้ไม่ครอบคลุม ฝ่ายตรวจสอบไม่ได้รับข้อมูลที่ทั่วถึง จึงทำให้การตรวจสอบทุจริตทำได้ยาก

หน้าที่ของไทยพีบีโอ คือการติดตามข้อมูล วิเคราะห์งบประมาณและการคลังภาครัฐบาล เพื่อสนับสนุนการทำงานของสมาชิกรัฐสภาและสนับสนุนข้อมูลแก่สาธารณชน และช่วยป้องกันการดำเนินนโยบาย ที่ไม่รับผิดชอบของรัฐบาล หลายประเทศชั้นนำ ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานรูปแบบเดียวกันเพื่อช่วยในการตรวจสอบ ที่ผ่านมาธนาคารโลกได้ให้การสนับสนุนกับสถาบันพระปกเกล้า จัดตั้งพีบีโอในประเทศไทย ผลงานในช่วง ที่ผ่านมา

มีการวิเคราะห์ถึงโครงการรถยนต์คันแรก โดยมีข้อสังเกตว่าอาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปี 2557 และประเมินว่ารัฐบาล จะมีต้นทุนสุทธิในการขับเคลื่อนนโยบายประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท รวมถึงยังไม่มีการประเมินผล กระทบของโครงการรถยนต์คันแรกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วง 2555-2557 หรือการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนจากรัฐบาลแต่อย่างใด

ซึ่งล่าสุดประธานรัฐสภา ได้มีคำสั่งจัดตั้ง กลุ่มงานสำนักงบประมาณของรัฐสภา เมื่อเดือน มี.ค. 2556 ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จำนวน 31 อัตรา ภายใต้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังไม่ได้มีการบรรจุอัตรา เพราะอยู่ระหว่างกำหนดรูปแบบองค์กร และกำหนดภารกิจ

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า แนวคิดในการก่อตั้งไทยพีบีโอนั้นควรจะดำเนินการมานานแล้ว เพราะที่ผ่านมาการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ไม่ได้มีความเข้มข้นมากนัก เห็นได้จากการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลมีความไม่ชัดเจน และน่าสงสัย อย่างการจัดทำงบประมาณในการศึกษาและดูงานที่มากขึ้นอย่างผิดปกติ จากหลัก 100 ล้านบาท ขึ้นมาอยู่ที่หลัก 1,000 ล้านบาท การก่อตั้ง ไทยพีบีโอ จะช่วยให้กลไกในการตรวจสอบมีกลไกที่แข็งแกร่งมากขึ้น

ทั้งนี้สิ่งที่ไทยพีบีโอทำ มองว่า เป็นเพียงปลายทางในการตรวจสอบเท่านั้น แต่การจัดทำงบประมาณยังมีหลายขั้นตอนทั้งการพิจารณาของสภาในวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ที่เหมือนกับการต่อรองผลประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ต้องให้ความสำคัญด้วย ซึ่งจะช่วยให้การตรวจสอบทำได้ครบองค์ประกอบมากขึ้น

นายชโยดม สรรพศรี คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การจัดตั้งไทยพีบีโอเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่ต้องระวังคือในเรื่องความน่าเชื่อถือ และเป้าหมายในการตรวจสอบ สิ่งที่ไทยพีบีโอจะต้องมีคือ โครงสร้างองค์กรที่มีความเข้มแข็งและแทรกแซงได้ยาก เครื่องมือการตรวจสอบหลากหลาย และมีบุคลากรที่ได้รับการยอมรับในการตรวจสอบ

ส่วนนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า การตั้งไทยพีบีโอจะเป็นการช่วยตรวจสอบต้นทุนของนโยบายต่างๆ ว่า เราต้องเสียอะไร เพื่อสิ่งที่ได้มา การก่อตั้งไทยพีบีโอไม่มีข้อเสีย มีแต่ข้อดี เพราะช่วยให้การตรวจสอบการดำเนินนโยบายต่างๆ มีการความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งการเข้าไปตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการตั้งงบประมาณอาจไม่เหมาะสมมากนัก เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารในการจัดทำงบประมาณ

หากต้องการขับเคลื่อนให้ไทยพีบีโอมีคุณภาพมากขึ้น จะต้องมีการออกพ.ร.บ.จัดทำงบประมาณ และเปิดโอกาสให้ไทยพีบีโอสามารถเข้าถึงข้อมูลเงินนอกงบประมาณได้ด้วย และกำหนดโทษกับผู้ที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้กับไทยพีบีโอ ส่วนการบริหารไทยพีบีโอควรมีการจัดตั้งกรรมการให้มีจำนวนเท่าๆ กัน ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการจัดทำงบประมาณ รวมไปถึงต้องมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการช่วยพิจารณาโครงการต่างๆ โดยการตรวจสอบการทำงานของไทยพีบีโอนั้น ควรให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้กำกับดูแล และควรมีองค์กรขนาดไม่ใหญ่มากนัก เพื่อให้มีบุคลากรที่มีคุณภาพ ปราศจากเด็กฝากนักการเมือง


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 เมษายน 2557