นักวิชาการแนะดึงมืออาชีพบริหารการบินไทย

ปี2014-04-18

นักการเงิน-ทีดีอาร์ไอ แนะแปรรูปบินไทย ดึงมืออาชีพบริหาร-นั่งบอร์ด หวังสกัดนักการเมืองหาประโยชน์ เปรียบกรณีศึกษาสิงคโปร์แอร์ไลน์ จี้เพิ่มขีดแข่งขันสู้สายการบินต่างชาติ “ประจิน” สัญญาภายใน 6 เดือน ถึง 1 ปีครึ่ง ดันการบินไทยกลับมาเป็นสายการบินอันดับ 1 ในอาเซียน

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) และอดีตกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา “ตอบโจทย์” ฝ่าวิกฤติการบินไทย…จะรอดอย่างไร? ใครกำหนด? วานนี้ (17 เม.ย.) ว่า ต้องการให้แปรรูปการบินไทยเป็นบริษัทเอกชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แปรรูปแบบครึ่งๆกลางๆ คือ มีคณะกรรมการแบบหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งจะเป็นข้าราชการครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งแต่งตั้งโดยนักการเมือง

ขณะเดียวกัน ยังอยู่ภายใต้กฎระเบียบคล้ายกับรัฐวิสาหกิจทั่วไป โดยคณะกรรมการจะลงไปบริหารจัดการมากกว่าที่ควร รวมทั้งใช้อำนาจในการ แต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารและพนักงาน

“การบินไทยมีหนี้สะสม 2.5 แสนล้านบาท หากปล่อยไว้ต่อไปอีก 6 เดือนข้างหน้า จะเกิดวิกฤติร้ายแรงทางการเงิน จึงสนับสนุนให้แปรรูปการบินไทยแบบสุดซอย เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจไทยเพียงแห่งเดียวที่ต้องเผชิญภาวะการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ และไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆจากรัฐบาล และการแปรรูปต้องไม่ให้กระทรวงการคลังหรือรัฐถือหุ้น เพื่อไม่ให้นักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์ แต่ให้ถือหุ้นโดยคนไทย”

ทั้งนี้ สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ มีประธานกรรมการเป็นชาวต่างชาติที่ เชี่ยวชาญในการดำเนินงาน แต่กรณี ของการบินไทยสิ่งสำคัญคือคนของใคร ใครฝากมา กว่าครึ่งมาจากข้าราชการประจำ ส่วนที่เหลือคือผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้ง โดยนักการเมือง ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ส่งผลให้องค์กรอ่อนแอ เช่น กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว เป็นแหล่งรวมวิศวกรที่เก่งที่สุด แต่หลังจากนั้นไม่เหลืออะไร โดยต้นทุน ที่สำคัญของการบินไทยเป็นเรื่องของคนที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่บางตำแหน่งกลับไม่มีงานให้ทำ

“การสรรหาผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ในสิงคโปร์ จะไม่ใช่คนสิงคโปร์ แต่จะคัดเลือก คนที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จ มีความสามารถ และยอมจ่ายค่าตอบแทนสูง การบินไทยแข่งขันกับสายการบิน ที่เก่งที่สุดในโลกทั้งนั้น แต่การบริหาร ไม่คล่องตัว คณะกรรมการบริษัทที่เป็นข้าราชการประจำใช้อำนาจรัฐในการสั่งการ ทั้งที่ในการบริหารธุรกิจ อำนาจรัฐไม่สามารถช่วยได้ ต้องเก่งที่สุดในโลกเท่านั้นจึงจะบริหารงานได้”

นอกจากนั้น ยังเป็นที่พิสูจน์จากทั่วโลกแล้วว่า รัฐวิสาหกิจแข่งขันสู้กับเอกชนไม่ได้ จำเป็นต้องแปรรูป เช่น สายการบินบริติชแอร์เวยส์ ซึ่งสามารถพลิกฟื้นการบริหารงานได้อีกครั้งหลังการแปรรูป

ทั้งนี้ สายการบินทั่วโลกมีการจัดซื้อจัดจ้าง ภายใต้ระบบสากล เช่นประมูลจัดซื้อทุกๆ 2 สัปดาห์ จึงมีทางเลือกได้มากกว่า และสามารถประหยัดต้นทุนได้ปีละ 7 พันถึง 1 หมื่นล้านบาท แต่การบินไทยประมูล ปีละครั้ง โดยอ้างความเสี่ยงเรื่องซัพพลายเออร์ ส่งผลให้ต้นทุนสูงกว่าสายการบินอื่น

ยกสิงคโปร์แอร์ไลน์บริหารมืออาชีพ

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จากการศึกษาโครงสร้างบริการงานของสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ พบว่า เป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนการบินไทย แต่คณะกรรมการบริษัทไม่มีข้าราชการ มีแต่มืออาชีพระดับโลก แต่ละคนที่เข้ามาจะรู้หน้าที่ของตนเองเป็นอย่างดีว่ามาทำหน้าที่อะไร โดยคนแรกจะเก่งเรื่องการเงิน คนที่เหลือเป็น นักกฎหมาย นักการตลาด การจัดซื้อจัดจ้าง และการขนส่ง ขณะที่กรรมการการบินไทยถูกส่งมาจากฝ่ายการเมือง และไม่ได้ผ่านการคัดเลือกในเรื่องความรู้ความสามารถที่ตรงกับความต้องการของหน่วยงาน

“การเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ผิด แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะปล่อยให้บริหารจัดการอย่างไร จะให้การบริหารจัดการเป็นมืออาชีพหรือไม่ กรณีของสิงคโปร์แอร์ไลน์ก็เป็นรัฐวิสาหกิจ และกิจการในสิงคโปร์กว่าครึ่งก็เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่มีปัญหาการบริหารงาน หัวใจคือการบริหารจัดการ จะต้องมีความใจกว้างในการปรับเปลี่ยน การบริหารให้มีความเป็นเอกชน เพื่อความคล่องตัวและสามารถแข่งขันได้ จึงต้องพิจารณาว่าโครงสร้างการบริหารงานที่ควรจะเป็นนั้นเป็นอย่างไร”

ทั้งนี้ เรื่องกฎระเบียบยังเป็นข้อจำกัดที่ส่งผลให้การบินไทยไม่สามารถแข่งขันกับเอกชนได้อย่างเต็มที่ เพราะขาดความรวดเร็วในการตัดสินใจ ติดขัดระเบียบขั้นตอน และยังมีการเมืองเข้ามาแทรก ตัวอย่างที่เห็นว่า ผู้บริหารที่ทำกำไรไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ จึงไม่แน่ใจว่าระบบกลไกที่สร้างขึ้นมาสามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะการเมืองเข้ามาแทรกแซงทุกระดับ กระบวนการไม่โปร่งใสมีปัญหาหรือไม่ การแก้ไขต้องมีความโปร่งใสเปิดเผยข้อมูลและตรวจสอบ โดยจะเป็นเกราะกำบังปกป้ององค์กรที่ดีสุด

นายแล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเป็นเอกภาพของสหภาพแรงงานฯ มีความสำคัญมาก เปรียบเหมือนกับมี เครื่องกรองช่วยตรวจสอบซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ฝ่ายบริหารจึงต้องไม่ขัดขวางการทำหน้าที่ตรวจสอบของสหภาพฯ หรือทำให้สหภาพฯทำงานไม่ได้ โดยอาจจะมีการกำหนดให้ฝ่ายบริหาร และพนักงานหารือร่วมกันเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ และไม่เกิดการประท้วงนัดหยุดงาน แต่ฝ่ายบริหารการบินไทยไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ “หากสหภาพการบินไทยฯมีความเข้มแข็ง จะทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อประโยชน์องค์กรและประเทศชาติได้ ฝ่ายบริหารจะต้องเข้าใจ มีบางรัฐวิสาหกิจที่มีความเข้มแข็ง จึงไม่สามารถเข้าไปล้วงลูกการบริหารงานได้”

ตั้งเป้า 6 เดือน-1 ปี ดันบินไทยเบอร์ 1 อาเซียน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะประธานกรรมการการบินไทย กล่าวว่า พร้อมรับฟังความคิดเห็นและมุมมองจากทุกฝ่ายในการเสนอแนวทางเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติของการบินไทย โดยตั้งเป้าว่าภายใน 6 เดือน ถึง 1 ปีครึ่ง จะทำให้การบินไทยสามารถกลับมาเป็นสายการบินอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน โดยจะกำหนดแผนชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว

นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานการบินไทย กล่าวว่า สหภาพฯได้จัดเสวนา ดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อรับฟังมุมมอง ข้อเสนอแนะจากนักวิชาการ ภาคเอกชน เพื่อเป็นแนวทางให้การบริหารงานของการบินไทยพ้นจากวิกฤติในขณะนี้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 18 เมษายน 2557