กรุงเทพธุรกิจรายงาน: ‘ทีดีอาร์ไอ’ ผ่างบโฆษณารัฐ หมกเม็ด-เอื้อการเมือง

ปี2014-04-18

“ทีดีอาร์ไอ” เปิดงานวิจัยการใช้งบประมาณในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของรัฐ พบหมกเม็ดข้อมูลเลี่ยงใช้งบกลางฯ- งบพิเศษ อัดเม็ดเงินโฆษณา เผยตัวเลขใช้งบฯในปี 56 ทะลุ 6 พันล้านบาท ขณะที่แจ้งกับสำนักงบประมาณเพียง 1.9 พันล้านบาท ระบุเสี่ยงคอร์รัปชัน และเป็นเครื่องมือให้นักการเมืองใช้หาเสียง จี้ออกกฎหมายควบคุมทั้งระบบตั้งองค์กรอิสระคุมใช้งบโฆษณาฯ และให้กรมบัญชีกลางทำราคากลางให้เหมาะสม

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เผยแพร่บทความวิจัยเรื่อง “ข้อเสนอว่าด้วยกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ” ซึ่งมีนายอิสร์กุล อุณหเกตุ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ได้เป็นผู้ศึกษาปัญหาการใช้งบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ และข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการใช้เงินงบประมาณในส่วนดังกล่าวให้มีความคุ้มค่า โปร่งใส และตรวจสอบได้มากขึ้น

นายอิสร์กุล เปิดเผยว่า ในช่วงเวลา 7 ปี งบประมาณที่ผ่านมา ระหว่างปี 2550-2556 หน่วยงานภาครัฐตั้งงบประมาณไว้สำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ประมาณ 1,500 – 2,200 ล้านบาทต่อปีงบประมาณ โดยพบว่าหน่วยงานที่ใช้งบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากที่สุด ก็คือ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยในปีงบประมาณ 2556 มีการตั้งงบประมาณส่วนนี้ไว้สูงถึง 677 ล้านบาท รองลงมาคือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาทีตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ 237 ล้านบาท รองลงมาเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ไว้ถึง 136 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่มีการเปิดเผยโดยทั่วไป สำหรับการใช้งบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐอาจต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากหน่วยงานราชการต่างๆ อาจมีการใช้งบประมาณในส่วนอื่นๆ เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เช่น การใช้จากงบกลางฯ หรืองบสนับสนุนการดำเนินงานอื่นๆ

สอดคล้องกับข้อมูลที่สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทยแถลงการณ์ถึงภาพรวมสื่อโฆษณาไทยในปี 2556 ว่า ภาครัฐใช้เงินงบประมาณเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์รวมสูงถึง 6,337 ล้านบาท ซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 5 รองจากการโฆษณาสินค้าประเภทยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหนัง โทรคมนาคม และธุรกิจบันเทิง ขณะที่สำนักงบประมาณรายงานว่าในปี 2556 หน่วยงานราชการมีการตั้งบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์รวมกันเพียง 1948 ล้านบาทเท่านั้น

นอกจากการภาครัฐจะมีการใฃ้งบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ สูงกว่าที่ได้มีการแจ้งไว้ในแผนงบประมาณประจำปีแล้ว จากการศึกษายังพบปัญหา เกี่ยวกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐอีกอย่างน้อย 3 ประการ คือ 1.ปัญหาการใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐเป็นเครื่องมือหาเสียงทางการเมือง โดยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์หรือทางป้ายโฆษณา ตามท้องถนน ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เนื้อหาของนโยบายหรือแผนงาน ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ควรสื่อสารให้ประชาชนรับทราบ แต่กลับถูกใช้ไปเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์นักการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานของรัฐ เช่น การใช้รูปภาพขนาดใหญ่ของรัฐมนตรีในป้ายโฆษณา ขณะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบายเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ในลักษณะนี้จึงเท่ากับเป็นการใช้งบประมาณรวมถึงทรัพยากรอื่นๆ ของรัฐไปเพื่อการหาเสียงทางการเมืองของนักการเมือง หรือพรรคการเมือง

2.ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใสเนื่องจากปัจจุบัน ไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ ดังนั้น วิธีการจัดซื้อจัดจ้างจึงเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535แก้ไขเพิ่มเติม (รวมถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุวิธีอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549) ซึ่งในหลายๆ กรณีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐดำเนินการผ่านการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษและกรณีพิเศษ ซึ่งความไม่โปร่งใสของวิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษและกรณีพิเศษอาจทำให้หน่วยงานของรัฐต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น เพราะไม่มีการแข่งขันด้านราคาดัง และในบางกรณีอาจนำไปสู่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้

และ 3.ปัญหาการแทรกแซงสื่อ เนื่องจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ ยังอาจเป็นการแทรกแซงการทำงานของสื่อ เพื่อให้สนับสนุน หรือเพื่อไม่ให้ตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้ว่าจ้าง การใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์จำนวนมหาศาลทำให้หน่วยงานของรัฐมีสถานะเป็น “ลูกค้า” รายใหญ่ของสื่อ ซึ่งอาจทำให้สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างเป็นกลางและตรงไปตรงมาอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งนี้จากระบบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ระหว่างปีงบประมาณ 2550-2556 บริษัทหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานภาครัฐจำนวน 50 สัญญา คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 241.7 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานภาครัฐจำนวน 13 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 124.4ล้านบาท โดยเป็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยอ้อมผ่านทางบริษัทเอเยนซี่โฆษณา

ทั้งนี้ผู้วิจัยให้ความเห็นว่าประเทศไทย ควรมีการควรมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ โดยครอบคลุมทั้งรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระต่างๆ โดยอย่างน้อยจะต้องครอบคลุมสาระสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ 1.เพื่อให้การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ควรบัญญัติว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ จะต้องไม่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจหรือนโยบายของหน่วยงาน เช่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐต้องเป็นไปเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบาย แผนงาน หรือการบริการ หรือเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของประชาชน เป็นต้น

2.กำหนดข้อห้ามการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่สามารถสื่อถึงนักการเมืองหรือพรรคการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐจะต้องไม่ประกอบไปด้วย ชื่อ เสียง หรือรูปภาพของนักการเมือง เป็นต้น และ 3.กำหนดให้มีหน่วยงานอิสระ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาของการโฆษณา และจัดทำรายงานทบทวนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภายใต้กฎหมายดังกล่าวเป็นประจำทุกปี โดยแยกเป็นรายหน่วยงาน และแยกตามประเภทสื่อ เพื่อเป็นข้อมูล ให้ประชาชนรับทราบและติดตามตรวจสอบได้ รวมทั้งกำหนดให้กรมบัญชีกลางมีหน้าที่จัดทำราคากลางของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ประเภทต่างๆ และปรับปรุงราคากลางให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 18 เมษายน 2557