‘เศรษฐกิจนอกระบบ’ ต้นตอความเสี่ยงของไทย

ปี2014-04-29

นายนอร์แมน วี.โลเอซา หัวหน้าคณะผู้จัดทำ รายงานพัฒนาโลกปี 2557 ของธนาคารโลก ให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงและโอกาสการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อการพัฒนา ที่สถาบันวิจัยเพื่อ การพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่า ช่วง 40 ปีที่ผ่านมา วิกฤตการเงินและธนาคารเกิดขึ้นกว่า 100 ครั้ง แต่ละครั้งเป็นบทเรียนราคาแพงเฉลี่ยตลาดเกิดใหม่ ต้องเสียต้นทุนมากถึง 26% ของจีดีพี เพราะความไม่มั่นคงของระบบการเงินเกิดบ่อยมาก และในอนาคตอาจเกิดขึ้นได้อีก ดังนั้นตลาดเกิดใหม่รวมไทย ต้องพัฒนานโยบายเศรษฐกิจมหภาค และประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนบริหารความเสี่ยง

“ไทยยังมีความเสี่ยงสูง ในแง่มีจุดอ่อนการบริหาร และปรับปรุงความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นทางเศรษฐกิจ ในแง่ขนาดเศรษฐกิจอยู่นอกระบบ (Informal Sector) พิจารณาจากสัดส่วนแรงงานกว่า 50% ของทั้งหมดที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ส่วนภาคการผลิต คือ กลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียน และไม่สามารถเข้าถึงการเงินในระบบธนาคารได้ ถือว่ามีสัดส่วนขนาดใหญ่มาก โดยโครงสร้างแรงงานกับธุรกิจนอกระบบ ต้องแก้ไข เพื่อสร้างความได้เปรียบ และทำให้เกิดผลดีต่อการปรับปรุงนโยบายบริหารจัดการลดความเสี่ยงทุกระดับทุกภาคส่วน ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ”

ด้านนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจของทีดีอาร์ไอ ให้ความเห็นหลังอ่านรายงานของธนาคารโลกว่า รายงานดังกล่าวยกให้ไทยเป็นประเทศที่เสี่ยงสูง เพราะเป็นประเทศมีเศรษฐกิจนอกระบบสัดส่วนมาก ซึ่งมีผลต่อการสร้างความยืดหยุ่นให้ตลาดสินค้ากับแรงงาน ในเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศเผชิญกับความเสี่ยง

“หากมีอะไรมากระทบตลาดสินค้ากับตลาดแรงงาน จะทำให้เรารู้ว่าไทยบริหารจัดการความเสี่ยงได้ไหม ซึ่งธนาคารโลกให้การปรับตัวไทยอยู่ปานกลาง แต่ข้อมูลเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจนอกระบบมาก สะท้อนว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือไม่ได้มาก เพราะไม่มีฐานข้อมูล ไม่มีการหักภาษี หรือข้อมูลจัดเก็บภาษีอยู่ในระบบเลย”

เธอบอกว่า แรงงานไทย 27 ล้านคน จากทั้งหมด 40 ล้านคน เป็นแรงงานไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม หรือกว่า 60% ก็อยู่นอกระบบ ซึ่งเอสเอ็มอีมีอยู่ 2.8 ล้านราย โดยมีเพียง 5 แสนราย ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ที่เหลืออยู่นอกระบบ สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจนอกระบบของไทย มีขนาดใหญ่มาก โดยที่เหลือเป็นการยืมหรือ กู้เงินนอกระบบ

“จากตัวเลขเศรษฐกิจนอกระบบที่เข้าไม่ถึงภาคการเงินทั้งหมดนี้ ทำให้เราเริ่มเป็นกังวลว่า ข้อเสนอของธนาคารโลกให้รัฐบาลทำนั่นนี่ จะทำให้รัฐบาลไทยทำได้แค่ไหน เพราะเศรษฐกิจนอกระบบของไทยใหญ่โตเหลือเกิน ใหญ่เกินกว่าจะบริหารจัดการกระจายความเสี่ยงได้”

เธอบอกว่า รายงานของธนาคารโลก ให้ไทยเตรียมความพร้อมรับความเสี่ยงอยู่ระดับปานกลาง แต่ไม่ถึงกับแย่มากนั้น เมื่อเอาข้อมูลที่ธนาคารโลกให้ทั้งหมดมาดูจากมุมมองเชิงสถาบันอย่างทีดีอาร์ไอ จะมีปัญหาอะไรในการนำมาปรับใช้บ้างนั้น ปัญหาแรกต้องยกให้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ว่าจะต้องทำอย่างไรกับเศรษฐกิจนอกระบบ ถ้าเอาเศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาในระบบไม่ได้ การบริหารจัดการความเสี่ยงของประเทศก็จะเป็นเรื่องยากมาก เพราะไม่มีข้อมูล


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 เมษายน 2557