ชี้รัฐผลาญงบโฆษณา โปรโมตผลงานปี 56 พุ่ง 6 พันล้าน

ปี2014-04-18

นายอิสร์กุล อุณหเกตุ นักวิจัย สถาบัน วิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ได้เผยแพร่บทความวิจัยเรื่องข้อเสนอว่าด้วยกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ พบว่าในช่วงเวลา 7 ปีงบประมาณที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 50-56 หน่วยงานภาครัฐได้ตั้งงบประมาณไว้สำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์สูงถึง 1,500-2,200 ล้านบาทต่อปี โดยหน่วยงานที่ใช้งบโฆษณาฯ มากที่สุดคือ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยในปี 56 ได้ตั้งงบประมาณส่วนนี้ไว้สูงถึง 677 ล้านบาท รองลงมาคือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 237 ล้านบาท รองลงมาเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 136 ล้านบาท

ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการเปิดเผยโดยทั่วไปสำหรับการใช้งบประมาณโฆษณาฯ อาจต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะหน่วยงานราชการต่าง ๆ อาจใช้งบประมาณในส่วนอื่น ๆ เช่น การใช้จากงบกลางฯ หรืองบสนับสนุนการดำเนินงาน อื่น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่สมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทยแถลงการณ์ถึงภาพรวมสื่อโฆษณาไทยในปี 56 ว่าภาครัฐใช้เงินงบประมาณเพื่อการโฆษณาฯ รวมสูงถึง 6,337 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 5 รองจากการโฆษณาสินค้าประเภทยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหนัง โทรคมนาคม และธุรกิจบันเทิง ขณะที่สำนักงบประมาณรายงานว่าในปี 56 หน่วยงานราชการได้ตั้งงบประมาณโฆษณาฯ รวมกันเพียง 1,948 ล้านบาทเท่านั้น

นายอิสร์กุล กล่าวว่า นอกจากภาครัฐจะใช้งบประมาณโฆษณาฯ สูงกว่าที่ได้มีการแจ้งไว้ในแผนงบประมาณประจำปีแล้ว จากการศึกษา ยังพบปัญหาเกี่ยวกับการโฆษณาฯ ของรัฐอีก 3 ประการ คือ การใช้การโฆษณาฯ เป็นเครื่องมือหาเสียงทางการเมือง โดยโฆษณาฯ ผ่านทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือทางป้ายโฆษณาตามท้องถนนไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เนื้อหาของนโยบาย หรือแผนงาน ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญที่ควรสื่อสารให้ประชาชนรับทราบมาก กว่า แต่กลับถูกใช้ไปเพื่อการโฆษณาประชา สัมพันธ์นักการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานของรัฐ

ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของการจัดซื้อ จัดจ้างที่ไม่โปร่งใส เพราะปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการโฆษณาฯ ดังนั้นวิธีการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวจึงเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งความ ไม่โปร่งใสของวิธีดังกล่าวอาจทำให้หน่วยงานของรัฐต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้สูงเกินกว่า ที่ควรจะเป็น เพราะไม่มีการแข่งขันด้านราคาและในบางกรณีอาจนำไปสู่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้

ขณะเดียวกันยังมีการแทรกแซงสื่อ เพราะการโฆษณาฯ ยังอาจเป็นการแทรกแซงการทำงานของสื่อ เพื่อให้สนับสนุนหรือเพื่อไม่ให้ตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้ว่าจ้างการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์จำนวนมหาศาล ทำให้หน่วยงานของรัฐมีสถานะเป็นลูกค้ารายใหญ่ของสื่อ อาจทำให้สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างเป็นกลางและตรงไปตรงมาอย่างที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้จากระบบข้อมูลการจัดซื้อจัด จ้างภาครัฐของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระหว่างปีงบ 50-56 พบว่า บริษัทหนังสือพิมพ์ ฉบับหนึ่ง ได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานภาครัฐจำนวน 50 สัญญา คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 241.7 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งก็ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 13 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 124.4 ล้านบาท โดยเป็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยอ้อมผ่านทางบริษัทเอเยนซี่โฆษณา

อย่างไรก็ตาม ในแนวทางการแก้ไขนั้น เห็นว่า ประเทศไทยควรออกกฎหมายเพื่อควบคุมโฆษณาฯ โดยครอบคลุมทั้งรัฐบาล รัฐวิสาห กิจ และองค์กรอิสระต่าง ๆ โดยต้องครอบคลุมสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ กำหนดให้การโฆษณาฯ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนควรบัญญัติว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐจะ ต้องไม่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจหรือนโยบายของหน่วยงาน เช่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ ต้องเป็นไปเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายแผนงาน หรือการบริการ หรือเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของประชาชน

พร้อมทั้งกำหนดข้อห้ามการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่สามารถสื่อถึงนักการเมืองหรือพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นทั้ง ทางตรง หรือทางอ้อม เช่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ จะต้องไม่ประกอบไปด้วยชื่อ เสียง หรือรูปภาพของนักการเมือง เป็นต้น และสุดท้ายต้องกำหนดให้มีหน่วยงานอิสระ เช่น สตง. ทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาของการโฆษณาและจัดทำรายงานทบทวนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภายใต้กฎหมายดังกล่าวเป็นประจำทุกปีโดยแยกเป็นรายหน่วยงาน และแยกตามประเภทสื่อเพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนรับทราบและติดตามตรวจสอบได้

นอกจากนี้ยังควรกำหนดให้กรมบัญชีกลางได้จัดทำราคากลางของการโฆษณาประชา สัมพันธ์ประเภทต่าง ๆ และปรับปรุงราคากลาง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอด้วย


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 18 เมษายน 2557