สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
6 องค์กรวิชาวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เห็นพ้องผลักดันให้มี Thai PBO เพื่อเติมกลไกปฎิรูประบบการคลังประเทศ ตีแผ่ข้อมูล หวังช่วยให้การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2557 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)จัดเสวนาสาธารณะเรื่อง “ปฎิรูประบบการคลังด้วย Thai PBO (Thai Parliamentary Budget Office)” โดย ดร.สมชัย จิตสุชน ในฐานะหัวหน้าโครงการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงบประมาณประจำรัฐสภาหรือ Thai PBO พร้อมด้วยคณะนักวิจัย ได้ร่วมกันแถลงผลการศึกษา โดยระบุว่า Thai PBO ถูกออกแบบให้เป็นหน่วยงานวิเคราะห์งบประมาณแผ่นดินและระบบการคลังประจำรัฐสภาอย่างโปร่งใสและเป็นกลางทางการเมือง เป็นอิสระจากรัฐบาล หน้าที่หลักคือติดตามข้อมูล วิเคราะห์งบประมาณและการคลังภาครัฐ เพื่อสนับสนุนการทำงานของสมาชิกรัฐสภาและสนับสนุนข้อมูลแก่สาธารณชน
Thai PBO จะมีส่วนสำคัญยิ่งในการเสริมสร้างวินัยทางการคลัง เนื่องจากในปัจจุบันกระบวนการติดตามและวิเคราะห์การใช้จ่ายเงินแผ่นดินโดยฝ่ายนิติบัญญัติและภาคประชาชนมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงข้อมูลและคุณภาพของการวิเคราะห์เมื่อเทียบกับฝ่ายบริหาร ทำให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลการใช้เงินแผ่นดินภายใต้ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น Thai PBO จะช่วยสร้างสมดุลนี้ได้
ประเทศไทยขณะนี้ต้องการหน่วยงานแบบ Thai PBO อย่างเร่งด่วน โดยสามารถอาศัยกระแสการปฏิรูปในการผลักดันการจัดตั้งด้วยการออกเป็นกฏหมายที่รับรองความเป็นอิสระขององค์กรและของผู้อำนวยการ โดยพิจารณารูปแบบและทางเลือกต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานะทางกฏหมายขององค์กร การคัดเลือกผู้อำนวยการ การรับประกันความเพียงพอของงบประมาณ การเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำงานของ Thai PBO เป็นต้น
สำหรับประเด็น “จะออกแบบและผลักดัน Thai PBO อย่างไร ให้เสริมสร้างวินัยการคลังได้จริง”ในวงเสวนาซึ่งประกอบด้วยคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์จาก 3 สถาบันการศึกษาคือ ม.ธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ผู้แทนธนาคารโลก และผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง สนับสนุนการมี Thai PBO ขึ้นในประเทศไทย โดยเชื่อว่าจะเป็นกลไกช่วยสร้างวินัยการเงินการคลังให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสม พร้อมกันนี้ได้ให้ข้อสังเกตสำคัญหลายประการ กล่าวคือ
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กลไกของ PBO (Parliamentary Budget Office) จะช่วยลดความบิดเบือนเรื่องงบประมาณและเรื่องกลไกนโยบายทางการคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงช่วยเติมเต็มข้อมูลให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้การทำ PBO ต้องมีการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารให้สาธารณชนรับรู้ให้มากที่สุด โดยหัวใจของ PBO คือ ความเป็นกลาง ความมีอิสระจากหน่วยงานอื่น ความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ความน่าเชื่อถือของกระบวนการ และต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน
รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การจัดตั้ง Thai PBO ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่ต้องระวังคือความน่าเชื่อถือขององค์กร และเป้าหมายในการตรวจสอบ โดยยึดประชาชนเป็นหลักในการเข้าถึงข้อมูล ที่สำคัญ Thai PBO ต้องมีโครงสร้างองค์กรที่มีความเข้มแข็งไม่สามารถแทรกแซงได้ รวมถึงต้องมีเครื่องมือการตรวจสอบที่หลากหลายและมีบุคลากรที่ได้รับการยอมรับในการตรวจสอบด้วย
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า Thai PBO มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเมืองระบบประชาธิปไตยของไทย จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนรู้ต้นทุนของนโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงเมื่อจะไปเลือกตั้ง และเมื่อรัฐบาลนำนโยบายที่หาเสียงเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา Thai PBO จะช่วยให้สมาชิกรัฐสภามีข้อมูลที่เป็นกลางถึงต้นทุนและผลกระทบทางการคลังของนโยบายเหล่านั้น และเมื่อพิจารณาจากงบประมาณที่ต้องใช้ในการจัดตั้ง Thai PBO ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับ การจัดตั้งจึงไม่มีความเสี่ยงแต่อย่างใด
ดร.สมเกียรติ เสนอว่า ควรจัดตั้ง Thai PBO โดยยกร่างเป็นพระราชบัญญัติที่ผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง กำหนดให้ Thai PBO ต้องตรวจสอบการใช้เงินนอกงบประมาณและการใช้เงินขององค์กรกึ่งการคลัง มีบทลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปกปิดข้อมูล คณะกรรมการของ Thai PBO อาจมีนักการเมืองที่มีสัดส่วนเท่ากันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเพื่อให้เกิดความสมดุล และเสริมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความอิสระจากการเมือง คณะกรรมการ ต้องมีหน้าที่รับประกันความเป็นอิสระขององค์กรด้วย สำหรับตำแหน่งผู้อำนวยการ Thai PBO ควรมาจากการสรรหาและเป็นที่ยอมรับของคณะกรรมการทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลด้วยเสียงข้างมาก ไม่เป็นบุคคลที่เลือกข้างทางการเมือง และมีการตรวจสอบโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนา บริหารศาสตร์(นิด้า) เปิดเผยว่า ควรมีกลไกในการวิเคราะห์งบประมาณที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย รวมทั้งไม่ควรทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่สำคัญควรให้สาธารณชนมีส่วนรวมในการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณได้ ซึ่งเชื่อว่า Thai PBO จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกระบวนการงบประมาณให้เป็นแรงขับเคลื่อนในการสร้างวินัยการเงินการคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Mr.Shabih Mohib ผู้แทนธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า หัวใจแห่งความสำเร็จขององค์กร Thai PBO คือ การไม่เลือกข้างหรือไม่มีอคติทางการเมือง แต่มุ่งนำเสนอข้อเท็จจริง โดยการสร้างเครือข่ายและทำงานเชิงรุก ซึ่ง Thai PBO จะเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจทั้งสมาชิกรัฐสภาและประชาชนได้เป็นอย่างดี
ดร.ลัษมณ อรรถาพิช ผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย สำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทย ระบุว่า เห็นด้วยที่ไทยจะมีองค์กร Thai PBO แต่ยังคงเป็นห่วงในเรื่องความเป็นอิสระและความเป็นกลางของ Thai PBO ในการตรวจสอบนโยบายงบประมาณของรัฐบาล รวมทั้งสถานะขององค์กรดังกล่าวที่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์กร Thai PBO สามารถขับเคลื่อนการตรวจสอบงบประมาณให้เป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งการทำงานดังกล่าวจะต้องมีกลไกของภาคประชาชนในการเข้ามาช่วยตรวจสอบด้วย
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้งบประมาณไม่โปร่งใสของรัฐบาล และการใช้เงินนอกงบประมาณที่สูงขึ้นนอกเหนือจากนโยบายที่ระบุไว้ ดังนั้น วงเสวนาเชื่อว่า การจัดตั้ง Thai PBO ภายใต้การบริหารงานของผู้อำนวยการ PBO ที่มีความโปร่งใสในการทำงาน ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองหรือไม่ชี้ช่องว่านโยบายใดถูกหรือผิด มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์การตรวจสอบ จะช่วยให้การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น.
——————-
รับชมเทปบันทึกภาพการสัมมนาได้ ที่นี่