องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นเร่ง ‘ปฏิรูปล้างโกง’

ปี2014-04-02

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุด มีการประเมินว่าขนาดการคอร์รัปชั่นได้เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 35% ของงบประจำปี หรือประมาณ 8 แสนล้านบาท

“ปัญหาคอร์รัปชั่นของไทยรุนแรงอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่จะทำให้รัฐบาลสูญเสียงบประมาณ แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนมาตรฐานจริยธรรม คุณธรรมในสังคม” ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวเปิดงาน “เสวนาปฏิรูปการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างเห็นผลและยั่งยืน” เมื่อวันที่ 1 เม.ย.

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ จึงได้นำเสนอแผนแม่บทการป้องกันและปราบปรามการทุจริตใน 5 ประเด็นหลัก

“คนโกงมักใช้อิทธิพล เส้นสาย ช่วยกันโกง ช่วยกันปกปิด จนกฎหมายเอาผิดได้ยาก อีกทั้งเมื่อไม่มีกฎหมายคุ้มครองให้ประชาชนมีความมั่นใจ คนจึงไม่อยากเข้าไปยุ่ง ไม่อยากเดือดร้อน ส่วนกระบวนยุติธรรมล่าช้า ขาดความศักดิ์สิทธิ์ บทลงโทษเบา หรือโกงแล้วยังไงก็ได้ผลคุ้มค่า” ประมนต์กล่าว

การปฏิรูปในก้าวแรก จึงต้องเริ่มต้นที่การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ออกกฎหมายยึดผลประโยชน์ที่ได้จากการคอร์รัปชั่นและปรับ 2 เท่าพร้อมดอกเบี้ย บทลงโทษต้องหนักและไม่มีอายุความ มีมาตรการเอาผิดผู้ให้สินบนมากขึ้น ตลอดจนตรวจสอบภาษีย้อนหลัง สำหรับพวกนักการเมืองและข้าราชการที่ทุจริต

ประเด็นที่ 2 ต้องปฏิรูปด้านการสร้างความมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนและสังคม เพราะที่ผ่านมามีการปกปิดข้อมูลและบิดเบือนข้อมูลที่ประชาชนควรรู้ในขณะที่โครงการของรัฐจำนวนมากเป็นโครงการลงทุนที่ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน

ขณะที่การปฏิรูปที่สำคัญไม่แพ้ข้ออื่นๆคือ การปฏิรูปด้านการรณรงค์คุณธรรม จริยธรรมและการต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่ต้องถือว่าเป็นโจทย์ที่ยากที่สุด

“วันนี้บางคนเชื่อว่าเอาเปรียบหรือโกงคนอื่นนิดหน่อยไม่เป็นไร ใครก็โกง และไม่มีทางเอาชนะคนโกงได้ อย่างนี้ต้องเลิกคิด ที่สำคัญเดี๋ยวนี้คนโกงกันโดยไม่อายใคร และไม่อายตัวเอง เยาวชนเรียนรู้จากพฤติกรรมผิดๆ จากผู้ใหญ่ เช่น เป็นหนี้แสนล้าน แต่ไม่ยอมชดใช้เงินกู้ ซึ่งเราต้องลงไปปฏิรูปการศึกษาสร้างวัฒนธรรมใหม่ เช่น กินน้อยใช้น้อย ไม่ต้องโกงแต่ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา” ประมนต์ระบุ

พร้อมกันนั้น สังคมไทยต้องมีการปฏิรูปในด้านมาตรการเรื่องความโปร่งใสโดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพราะที่ผ่านมาจะพบว่าการออกเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างเอื้อประโยชน์เอกชนบางกลุ่ม

พร้อมทั้งต้องมีการปฏิรูปด้านการสร้างความเข้มแข็งหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชั่นภาครัฐ

“เมื่อผู้นำองค์กรถูกคุกคามและแทรกแซงจากนักการเมือง คดีโกงมีมากจนทำไม่ทัน ใช้เวลามากและทำไม่รอบคอบ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งแก่หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชั่น เพิ่มกลไกและทำให้การดำเนินคดีทุจริตทำได้รวดเร็วและเด็ดขาด ที่สำคัญต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตำรวจอัยการ ศาลยุติธรรม และองค์กรอิสระ” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นเสนอแนะ

ด้าน นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอว่าแนวทางป้องกันการทุจริตว่า คดีทุจริตคอร์รัปชั่นต้องไม่มีอายุความ เพื่อจะได้มีเวลาในการตรวจสอบหาผู้กระทำผิดอย่างกรณีโครงการรับจำนำข้าวพบมีการทุจริตทุกขั้นตอนและมีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก ถือเป็นอาชญากรรมที่ไร้เจ้าทุกข์ จึงไม่มีใครกล้าไปฟ้องร้อง

“นักการเมืองท้องถิ่นยอมให้เกษตรกรจดทะเบียนเกินจริงแลกกับคะแนนเสียง ขณะที่โครงการรับจำนำข้าวต้องเลิกไป เพราะเสียหายมากเพียง 2 ปี ใช้เงิน 7 แสนล้านบาท และขาดทุน 4 แสนล้านบาท” นิพนธ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม ผลจากการเสวนาครั้งนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ได้ทำข้อเสนอแนะไปถึงผู้นำและพรรคการเมืองในหลายประเด็น เช่น การทำโครงการประชานิยมต้องมีการศึกษารายละเอียด ผลกระทบ และความเสี่ยงในการทุจริตก่อนการดำเนินโครงการ ปฏิรูปการเลือกตั้งให้โปร่งใส ตลอดจนกำหนดให้รัฐวิสาหกิจต้องเปิดเผยข้อมูลไม่น้อยกว่าบริษัทจดทะเบียน

นอกจากนี้ จะต้องนำภาษีส่วนหนึ่งมาสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่นนอกจากนี้ ควรให้ประชาชนทุกคนเข้าระบบการจ่ายภาษีและตั้งหน่วยงานแยกออกมา เพื่อคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพ

เหล่านี้จึงเป็นโจทย์สำหรับรัฐบาลและสังคมไทยต้องไปขบคิดและผลักดัน

เพราะต้องไม่ลืมว่าเหตุการณ์วุ่นวายการเมืองในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา จนเศรษฐกิจไทยแทบพังพาบล้วนแล้วมีต้นตอจากโกงกินกันหนักมือทั้งสิ้น


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 2 เมษายน 2557